เทกระจาดพลวัต2015

คำอธิบายของนักวิเคราะห์หุ้นไทยต่อการร่วงแรงของดัชนีตลาดจากการขายทิ้งอย่างหนักแบบเทกระจาดของต่างชาติ กองทุนรวม และพอร์ตโบรกเกอร์ พร้อมกัน เป็นคำอธิบายที่มีลักษณะ “ไม่อธิบายเสียเลยจะดีกว่า”


คำอธิบายของนักวิเคราะห์หุ้นไทยต่อการร่วงแรงของดัชนีตลาดจากการขายทิ้งอย่างหนักแบบเทกระจาดของต่างชาติ  กองทุนรวม และพอร์ตโบรกเกอร์ พร้อมกัน เป็นคำอธิบายที่มีลักษณะ “ไม่อธิบายเสียเลยจะดีกว่า”

ความน่าสนใจของการร่วงลงของตลาดหุ้นไทยชนิดที่ไม่ทันให้นักลงทุนได้ตั้งตัว นับแต่เปิดตลาดวานนี้จนถึงปิดตลาด เกิดขึ้นหลังจากข่าวดียิ่ง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคม บริษัทเรตติ้งชื่อดังระดับโลก Moody’s Investors Service (Moody’s) ได้แจ้งข่าวดี ยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลไทยสกุลเงินต่างประเทศและสกุลเงินบาทที่ระดับ Baa1 โดยมีมุมมองความน่าเชื่อถือที่มีเสถียรภาพ รวมทั้งยืนยันเพดานความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้สกุลเงินต่างประเทศระยะยาว และสกุลเงินบาท พร้อมทั้งเพดานเงินฝากธนาคารสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่ Baa1 และสกุลเงินบาทที่ A1 ซึ่งถือว่าไม่เปลี่ยนแปลง

นอกจากนั้น Moody’s ยังมีมุมมองทางบวกต่อการปรับ GDP ของสภาพัฒน์ฯ ใหม่ว่า ได้ส่งผลให้ตัวแปรทางเศรษฐกิจต่างๆ ปรับตัวในทิศทางดีขึ้น ทำให้คะแนนในการวิเคราะห์ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจดีขึ้น รวมทั้งได้ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีความเข้มแข็ง พิจารณาจากขนาดของเศรษฐกิจและอัตราการขยายตัวช่วงปี 2552-2561 (โดยมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่หลากหลาย และความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน) ถึงแม้ว่าระดับรายได้ต่อหัวของประชากรจะยังอยู่ในระดับต่ำ

ข่าวดีที่ถูกมองข้ามดังกล่าว แม้จะตามมาด้วยข้อมูลเชิงลบ เช่น แรงกดดันจากเฟดเรื่องอัตราดอกเบี้ย และหนี้กรีซ หรือปัจจัยภายในเรื่องการลงทุนภาครัฐ การปรับลดอัตราดอกเบี้ย การหดตัวของเงินเฟ้อที่อาจลากยาวสู่ไตรมาสที่ 3 การฟื้นตัวล่าช้าของกำลังซื้อในประเทศ หรือการลดลงของการส่งออก ซึ่งโดยสรุปแล้ว มีส่วนทำให้แนวโน้มขาลงของตลาดค่อนข้างจำกัด

                คำอธิบายข้างต้น ไม่เพียงพอที่จะบอกว่าสาเหตุการขายหุ้นทิ้งระเนระนาดของนักลงทุนต่างชาติ สถาบัน หรือพอร์ตโบรกเกอร์เมื่อวานนี้ (ดูตารางประกอบ)

หน่วย: ล้านบาท

นักลงทุน

ซื้อ

ขาย

สุทธิ

มูลค่า

%

มูลค่า

%

มูลค่า

%

สถาบันในประเทศ

2,187.99

5.76

2,649.63

6.97

-461.64

บัญชีบริษัทหลักทรัพย์

3,843.32

10.11

4,517.82

11.89

-674.50

นักลงทุนต่างประเทศ

12,171.87

32.03

13,835.30

36.41

-1,663.43

นักลงทุนทั่วไปในประเทศ

19,794.53

52.09

16,994.97

44.73

2,799.56

                คำอธิบายเพิ่มขึ้น ก็มีเรื่องที่ทราบกันดีอยู่แล้วเช่นกันคือ แนวโน้มที่ กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก ซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่า ซึ่งจะกดดันหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ และขับไล่นักลงทุนต่างชาติออกจากตลาด เพราะกลัวความเสี่ยงต่อการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งค่าพี/อีของตลาดหุ้นไทยที่สูงขึ้น

คำอธิบายเพิ่มเติมที่ว่า พูดตรงๆ แล้ว ยังไม่เพียงพอ เข้าข่าย “เกาไม่ถูกที่คัน” และซ้ำซากจำเจ

สถานการณ์ใหม่ล่าสุดที่นักวิเคราะห์ตลาดหุ้นไทยไม่ได้เอ่ยถึง คือ ตัวเลขการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยน  เพราะดูเหมือนว่า ตลาดค่าเงินโลกยามนี้ กำลังเคลื่อนที่รุนแรงอย่างมาก เมื่อวานนี้ ค่าดอลลาร์สหรัฐพุ่งขึ้นเหนือระดับ 125 เยน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับแต่เดือนธันวาคม ค.ศ. 2002 (ในรอบกว่า 12 ปี) ก่อนที่จะชะลอตัวอ่อนค่าลงในเวลาต่อมาสู่ระดับ 124.69 เยนจากการเข้าทำกำไรของเทรดเดอร์

ความผันผวนภายในวันเดียวที่รุนแรงยิ่งดังกล่าว สะท้อนภาวะไร้เสถียรภาพของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนครั้งใหม่ ซึ่งถือเป็นเพียงส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็ง ที่ซ่อนเร้นปัจจัยสารพัดโดยไม่เปิดเผย แต่สัมผัสได้หากมีภูมิรู้มากพอที่จะเข้าไปถอดรหัสตัวแปรต่างๆ

ผลพวงของการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยน มีผลทำให้ค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐวานนี้อ่อนยวบไปที่เกือบ 33.80 บาทต่อดอลลาร์ แม้ว่าจะยังแข็งเมื่อเทียบกับค่าเงินเยนที่  27.06 บาทต่อ 100 เยน  

นักวิเคราะห์หุ้นบางสำนัก เคยโดยเปรียบเทียบอัตราค่าเงินบาท/ดอลลาร์ เอาไว้ว่า มีนัยสำคัญผกผันต่อทิศทางของดัชนีตลาดดังนี้ โดยหากอัตราอยู่ที่ระดับ 31 บาทต่อดอลลาร์ ดัชนีตลาดที่เหมาะสมคือ 1,600 จุด หากบาทอ่อนมาอยู่ที่มากกว่า 35.50 บาทต่อดอลลาร์ ดัชนีตลาดหุ้นควรจะอยู่ที่ 1,450 จุด และหากบาทอ่อนไปที่ระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์ ดัชนีตลาดควรอยู่ที่ 1,300 จุด

บทวิเคราะห์ดังกล่าว แม้จะยังไม่ใช่สูตรสำเร็จตายตัว แต่นับว่าน่าสนใจไม่น้อยทีเดียว เพียงแต่อธิบายการร่วงเมื่อวานนี้ไม่เพียงพออีกเช่นกัน

คำตอบที่น่าสนใจก็คงจะต้องย้อนกลับไปถามถึงปัจจัยว่าด้วยเสถียรภาพทางการเมือง ที่ดูเหมือนว่า บรรดาโหรการเมืองทั้งหลาย กำลังคร่ำเคร่งวิเคราะห์ดวงดาวที่กำลังทำวงโคจรในลักษณะวิปริต ไม่ว่าจะมีการทำมุม หรือโคจรย้ายเข้าหรือออกจากทิศทางเดิม หรือเดินหน้า หรือถอยหลัง

คำอธิบายของโหรทั้งหลาย (รวมทั้งโหรต่องแต่ง) อาจจะไม่เป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์ และความสมเหตุสมผล นอกเหนือจากตรรกะชนิดด้นเอาเองของบรรดาโหรทั้งหลายเท่านั้นเอง

นักลงทุนไทยยามนี้ โดยเฉพาะรายย่อยก็เลยต้องเคว้งคว้าง ไปกับความงุนงง ท่ามกลางคำชี้แนะของนักวิเคราะห์ที่เอาสีข้างเข้าถูชี้แนะว่า หุ้นไทยแกว่งตัวลงต่อ ด้วยแรงกดดันจากปัญหาหนี้กรีซ ที่ยังไม่มีความชัดเจน ตลอดจนภาพรวมเศรษฐกิจไทยอ่อนแอ ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุน และไม่จูงใจเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ

Back to top button