ยูโรกับผลสะเทือนผีเสื้อ

ตลาดหุ้นยุโรปร่วงหนัก ค่าเงินยูโรอ่อนยวบ ราคาทองคำพุ่งแรง จากเหตุความไร้เสถียรภาพทางการเมืองในอิตาลี และสเปน เป็นปฏิกิริยาที่เกินจริงหรือไม่


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

ตลาดหุ้นยุโรปร่วงหนัก ค่าเงินยูโรอ่อนยวบ ราคาทองคำพุ่งแรง จากเหตุความไร้เสถียรภาพทางการเมืองในอิตาลี และสเปน  เป็นปฏิกิริยาที่เกินจริงหรือไม่

คำตอบคือไม่เกินจริง โดยเฉพาะสถานการณ์ในอิตาลี ที่ดูจะเลวร้ายมากกว่า กรณีการถอนตัวของอังกฤษด้วยซ้ำ

รายละเอียดเชิงลึกของการเมืองอิตาลี ทำให้ความกังวลชองนักลงทุนกังวลไม่เกินจริง เพราะการเมืองหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมาของประเทศนี้ แม้จะเป็นการเมืองแบบ “เบี้ยหัวแตก” มายาวนาน มีรัฐบาลผสมส่วนใหญ่ แต่ก็ไม่เคยเละเทะแบบนี้มาก่อน

ผลการเลือกตั้งล่าสุด ที่ถือเป็นความย่อยยับน่าผิดหวังของพรรค Democratic Party ของ มัตเตโอ เรนซี อดีตนายกรัฐมนตรีหัวปฏิรูป ซึ่งสูญเสียที่นั่งในสภาจาก 281 ที่นั่ง เหลือเพียง 104-110 ที่นั่ง และมีผลทำให้กลุ่มการเมืองกลาง-ซ้าย นำโดยพรรค Democratic Party และพรรค More Europe มีคะแนนเสียงรวมกันเพียง 23.5% ซึ่งน้อยเกินกว่าจัดตั้งรัฐบาลได้

ตามกติกา และคณิตศาสตร์ทางการเมือง ต้องเปิดทางให้ พรรค Five Star Movement (M5S) ที่มีนโยบายประชานิยมจ๋า ซึ่งได้รับคะแนนเสียงเป็นอันดับ 1 ในศึกเลือกตั้งทั่วไปของอิตาลีที่ 31% (ซึ่งก็ไม่เบ็ดเสร็จเช่นกัน) เป็นคนรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลผสมแบบ แนวร่วมกลาง-ขวา ที่มีนโยบาย “แพะชนแกะ”

ประเด็นสำคัญอยู่ที่ พรรคแนวร่วมกลาง-ขวา มีนโยบายคับแคบและปฏิเสธหลักการพื้นฐานของสหภาพยุโรปชัดเจน เช่น พรรค Northern League (หรือ Lega Nord) ต่อต้านนโยบายรับผู้อพยพ), พรรค Forza Italia ของอดีตนายกรัฐมนตรีซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี และพรรค Brothers of Italy ซึ่งเป็นกลุ่มฟาสซิสต์ใหม่ แล้วจับกลุ่มเป็นขั้วการเมืองคะแนนเสียงรวมกันกว่า 37% เป็นแนวร่วมเสียงข้างน้อยที่น่าเกรงขาม

ความพยายามในการเจรจาเพื่อจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่ยืดเยื้อมาอย่างยาวนานนั้นยังคงไม่ประสบความสำเร็จ จนทำให้เกิดกระแสคาดการณ์ว่าอิตาลีอาจจะต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ เพราะประธานาธิบดีอิตาลีปฏิเสธจะรับรองการตั้งรัฐมนตรีเศรษฐกิจที่เสนอนโยบายขัดหลักการพื้นฐานของสหภาพยุโรปโดยตรง กลายเป็นประเด็นที่สร้างความกังวลให้กับตลาดเงินตลาดทุน คือการที่อิตาลีจะเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปต่อไปหรือไม่

การที่มีข่าวว่า อิตาลียังไม่สามารถที่จะเลือกนายกรัฐมนตรีขึ้นมาได้ และมีแนวโน้มที่จะต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ ทำให้คนวิตกถึงความมั่นคงในยูโรโซน ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) อายุ 10 ปี ของอิตาลี พุ่งขึ้น 3% สร้างความกังวลมากให้กับนักลงทุน และเงินยูโรก็อ่อนค่าหนักมากเมื่อเทียบกับเงินดอลาร์สหรัฐ เนื่องจากมีการหลีกเลี่ยงการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงหันไปสู่สินทรัพย์ที่ปลอดภัย ทำให้ Bond Yield อายุ 10 ปี ของสหรัฐฯ ได้อ่อนลงมาอยู่ที่ 2.8% เป็นเพียงสุดยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น

ข้อเท็จจริงจากประวัติศาสตร์ คือ การสถาปนาสหภาพยุโรป ไม่เพียงแค่ใช้เวลายาวนานนับแต่ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา แต่เกิดจากการตกผลึกทางปัญญาของปัญญาชนอิตาเลียน 2 คน อาเทียโร่ สปิเนลลี และ เออร์เนสโต้ รอสซี่ ซึ่งพบกันในที่คุมขังของฟัสซิสท์ที่เกาะเวนโตเตเน่ ชายฝั่งอิตาลีตอนกลาง ได้หารือกันเพื่อหาทางออกจากต้นเหตุของสงครามครั้งแล้วครั้งเล่า จนสรุปว่า ปัญหาเกิดจากรากฐาน 2 อย่างคือ พลังคิดชาตินิยมคับแคบ และ อุดมการณ์ทางการเมืองของขั้วที่แตกต่างกัน

คำตอบที่ถูกถอดรหัสว่า ต้องสร้างยุโรปใหม่ที่ “ข้ามรัฐ” และ “ข้ามอุดมการณ์” เพื่อก่อรูปเป็นสหพันธรัฐ หรือสหภาพ ซึ่งทุกชาติถูกผูกพันด้วยข้อกำหนดที่เชื่อมโยงกัน คำประกาศ เวนโตเตเน่ หรือ Ventotene Manifesto จึงเกิดขึ้นมา

หลังสงครามโลก สปิเนลลี ประสานงานกับปัญญาชนทั่วยุโรปร้อยกว่าคน เพื่อมาระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับอนาคตยุโรป โดยไม่ต้องหวังพึ่งพาสหรัฐฯ หรือโซเวียต จนจับกลุ่มเป็นจริงจังที่ภัตตาคาร “คลับจระเข้” (Au Crocodile) ในเมืองสตราส์บรูก ของฝรั่งเศส

กลุ่มปัญญาชน คลับจระเข้ ร่วมกันสร้างวิสัยทัศน์ของยุโรปแบบ “เหนือชาติ” (supranational trait) จนกลายมาเป็นสหภาพยุโรปในปัจจุบัน ดังนั้น แนวคิดแยกตัวจากยูโรโซนของแนวร่วมกลาง-ขวาอิตาลีคราวนี้ จึงมีลักษณะ “เขียนด้วยมือ ลบด้วยเท้า สไตล์อิตาเลียน” โดยตรง

กรณีอิตาลีที่มีขนาดเศรษฐกิจอันดับสามของยูโรโซน จึงรุนแรงลึกซึ้งกว่าปัญหาการเมืองภายในของสเปน ที่เสถียรภาพของรัฐบาลกำลังสั่นคลอน หลังจากที่พรรคฝ่ายค้านหลักของประเทศเรียกร้องให้มีการลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี มาริอาโน ราฮอย กรณีทุจริตคอร์รัปชัน โดยจะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจในรัฐสภาในวันพฤหัสบดี ก่อนที่จะมีการลงมติในวันศุกร์นี้ เพราะไม่มีข้อเสนอถอนตัวจากยูโรโซนหรือสหภาพยุโรปด้วย

เพียงแต่กรณีของสเปนสำคัญตรงที่อาจจะมีการเบี้ยวไถ่ถอนหุ้นกู้ ที่ครบกำหนด เพราะมีหนี้ต่างประเทศค่อนข้างมาก ต่างจากอิตาลี ที่มีหนี้ในประเทศเป็นหลัก

ความรุนแรงจากกรณีของอิตาลี และสเปน จึงมีรายละเอียดต่างกันมากทั้งในแง่การเมือง และตลาดเงิน ซึ่งจะเกิดคำถามที่ตามมาในลักษณะผลสะเทือนผีเสื้อ คืออนาคตของเงินยูโรจะไปทิศทางใด หลังจากเริ่มใช้มาไม่ถึง 20 ปี

Back to top button