รถยนต์ กับ อนาคต
พอราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกกลับมาแพงกว่า 65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ประเด็นข่าวและข้อมูลเกี่ยวกับการค้นหาพลังงานทดแทนปิโตรเลียมก็กลับมาอีกครั้ง ด้วยความแตกต่างเชิงคุณภาพมากกว่าเดิม ที่เน้นเรื่องโลกร้อนเป็นสำคัญ
พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล
พอราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกกลับมาแพงกว่า 65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ประเด็นข่าวและข้อมูลเกี่ยวกับการค้นหาพลังงานทดแทนปิโตรเลียมก็กลับมาอีกครั้ง ด้วยความแตกต่างเชิงคุณภาพมากกว่าเดิม ที่เน้นเรื่องโลกร้อนเป็นสำคัญ
ล่าสุด การขยับตัวของยักษ์ใหญ่ข้ามชาติเรื่องน้ำมันและพลังงาน ที่ขยับตัวเข้าสู่การลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทน กลายเป็นประเด็นที่เอาจริงเอาจังมาก
ล่าสุด บริติช ปิโตรเลียม หรือ BP ประกาศเจียดเงินลงทุน 20 ล้านดอลลาร์ ในบริษัท StoreDot ของอิสราเอล ซึ่งทำการพัฒนาแบตเตอรี่ที่สามารถชาร์จด้วยความเร็วสูงพิเศษ (ultra-fast-charging batteries) แม้จะไม่ใช่เงินมากมาย แต่สะท้อนถึงเจตนาของธุรกิจที่พยายามกำจัดจุดอ่อนของพลังงานไฟฟ้าที่ยังแก้ไม่ตกมายาวนาน นั่นคือ การชาร์จไฟเข้าแบตเตอรี่ และการเก็บรักษาไฟให้ยาวนานเพียงพอกับการใช้งานที่จำเป็น
โดยเฉพาะในยานพาหนะอย่างรถยนต์ EV ซึ่งมีเดิมพันมหาศาลรออยู่
โครงการนี้ไม่ใช่โครงการเดียว ปีที่ผ่านมา BP ได้จับมือกับบริษัทจีน NIO Capital เพื่อเข้าซื้อกิจการทำผลิตภัณฑ์ชาร์จไฟความเร็วสูงในสหรัฐฯ FreeWire ด้วยวงเงินที่ไม่เปิดเผยแล้ว
ยักษ์ใหญ่รายอื่นอย่าง Royal Dutch Shell ในปีที่ผ่านมา ก็ทุ่มเงินซื้อกิจการบริษัทดัตช์ที่พัฒนาระบบชาร์จไฟความเร็วสูง NewMotion เป็นเครือข่ายเข้าสู่เทคโนโลยีทางลัด
เช่นกัน ยักษ์ใหญ่ฝรั่งเศส Total ก็กำลังลงทุนเพิ่มในการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ หลังจากทุ่มเงิน 1.1 พันล้านดอลลาร์ซื้อ Saft มาครอบครอง
การขยับตัวเข้าสู่ธุรกิจรถ EV เช่นนี้ สะท้อนให้เห็นว่า แม้อนาคตของการใช้น้ำมันจะยังไม่หายหรือยกเลิกในเร็ววัน (อย่างน้อย อีก 30 ปีจะยังมีรถยนต์ใช้น้ำมันวิ่งบนถนนต่อไป) แต่ขีดจำกัดของรถยนต์ในพลังสันดาปภายในจะเข้มข้นขึ้น
จากการประเมินล่วงหน้า โดยฝ่ายวิจัยของ BP พบว่า (ตามภาพประกอบ) มีการฉายภาพที่ระบุว่า นับแต่ปีค.ศ. 2030 เป็นต้นไป รถยนต์พลังไฮบริด และ EV จะเริ่มมีสัดส่วนวิ่งบนท้องถนนในโลกนี้มากขึ้น อาจจะมากกว่า 100 ล้านคัน
ภาพแห่งอนาคตนี้ได้รับเสียงสนับสนุนจากผู้บริหารยักษ์น้ำมันอย่าง Royal Dutch Shell เช่นกัน โดยนาย Ben Van Beurden ซีอีโอของ Shell ได้ยอมรับว่าในอนาคตรถยนต์ไฟฟ้ามาแน่ และตัวเขาเองก็ตัดสินใจซื้อเรียบร้อยแล้วในปีที่ผ่านมาว่า รถคันต่อไปที่ซีอีโอของ Shell จะใช้คือ รถยนต์ไฮบริด แม้จะยังไม่ใช่รถยนต์ไฟฟ้าเต็มตัว แต่ก็เป็นการตัดสินใจทิ้งรถยนต์ปัจจุบันที่เป็นเครื่องดีเซล การประกาศปฏิเสธการจะใช้รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมัน ซึ่งเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่ทำให้กิจการใหญ่ระดับโลก เป็นการยอมรับหลักการว่า น้ำมันเชื้อเพลิง มีส่วนโดยตรงกับภาวะโลกร้อน และพลังงานสะอาดทางเลือกน่าจะดีกว่า ด้วยการเพิ่มจำนวนรถยนต์ไฟฟ้า รถยนต์พลังไฮโดรเจน หรือก๊าซธรรมชาติ
วิสัยทัศน์ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าบริษัทต่าง ๆ เริ่มสะสมความพร้อมในการลงทุนทำสถานีชาร์จพลังไฟฟ้า ที่อาจจะเร็วกว่าที่คิดไว้ก็เป็นได้
การเคลื่อนตัวดังกล่าว จะเกิดขึ้นพร้อมแบบคู่ขนานว่าค่ายรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน จะต้องเร่งพัฒนาประสิทธิภาพในการประหยัดน้ำมันควบคู่กันไป ซึ่งผลลัพธ์ที่คาดไม่ถึงคือ อุปสงค์ของน้ำมันจะเพิ่มขึ้นช้ากว่าการเติบโตของตลาดรถยนต์ เป็นแรงกดดันให้ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นอย่างมีขีดจำกัดมากขึ้น แม้ว่าปริมาณสำรองใต้ดินน้ำมันจะลดลงต่อเนื่องก็ตาม
ไม่เพียงเท่านั้น ฝ่ายวิจัยพฤติกรรมการใช้รถยนต์ของค่ายน้ำมันในยุโรป ยังพบอีกว่า แนวโน้มของการใช้รถยนต์ส่วนตัวเริ่มมีสัดส่วนลดลงในเขตเมืองใหญ่ทั่วโลก เพราะมีขีดจำกัดในเรื่องที่จอดซึ่งแออัดมากและมีค่าจอดแพงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้คนหันไปใช้รถยนต์หรือยานพาหนะอื่น ๆ (รถสาธารณะ หรือ ขนส่งมวลชน) ร่วมกันมากขึ้น ซึ่งแนวโน้มจะยิ่งทำให้การเพิ่มของอุปสงค์รายหัวของการบริโภคน้ำมันลดลงตามไปโดยปริยาย
ภาพแห่งอนาคตเช่นนี้ อาจจะไม่เกี่ยวกับราคาหุ้นพลังงานวันนี้ หรือ ปีนี้ แต่มีผลต่ออนาคตอันยาวไกลแน่นอน