อวิชชาพลังงาน
วันนี้ ราคาน้ำมันจำหน่ายปลีก ลงแล้วครับ เป็นการลงไปครั้งที่ 2 ตาม “กลไกตลาด” ที่ราคาน้ำมันดิบถูกลง หาใช่ลงเพราะแรงกดดันจากกลุ่มพลังใด ๆ ในสังคมไม่
ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์
วันนี้ ราคาน้ำมันจำหน่ายปลีก ลงแล้วครับ เป็นการลงไปครั้งที่ 2 ตาม “กลไกตลาด” ที่ราคาน้ำมันดิบถูกลง หาใช่ลงเพราะแรงกดดันจากกลุ่มพลังใด ๆ ในสังคมไม่
รวมทั้งกลุ่มพลังที่เดี๋ยวนี้เล่นกันแรงถึงขั้น “สร้างข่าวปลอม” ขึ้นมาด้วย
เทวินทร์ วงศ์วานิช ตกเป็นเหยื่อข่าวปลอมเต็มเปาทั้งเรื่องให้สัมภาษณ์ว่าไม่ง้อคนไทยที่ไม่เติมน้ำมันปตท. และเตรียมจะปลดพนักงาน 10,000 คน
ราคาน้ำมันดิบเวสต์ เท็กซัสขึ้นไปสูงสุดถึง 72 ดอลลาร์/บาร์เรลเมื่อปลายสัปดาห์ก่อน ราคาน้ำมันสำเร็จรูปก็ต้องปรับตัวขึ้นตาม แต่เมื่อราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงมาระดับ 66 เหรียญฯในปัจจุบัน ราคาน้ำมันสำเร็จรูปก็ต้องลดตามลงด้วย
เหตุและผลก็เป็นเช่นนี้แล
อยากเติมน้ำมันราคาเท่าเพื่อนบ้านอย่างมาเลย์หรือครับ ก็สามารถจัดไปได้ แต่ต้องตัดการจัดเก็บภาษี เงินกองทุนต่าง ๆ และค่าการตลาดให้เหี้ยนเลยนะครับ
เบนซิน ซุปเปอร์95 ราคาเนื้อน้ำมันแค่ 18.33 บาทเท่านั้นเอง จากราคาจำหน่ายปลีกหน้าปั๊มที่ 36.52 บาท
แก๊สโซฮอล์95E10 ราคาเนื้อน้ำมัน 18.80 บาท จากราคาจำหน่ายปลีกหน้าปั๊มที่ 29.25 บาท และน้ำมันดีเซล ราคาเนื้อน้ำมันก็แค่ 18.79 บาท จากราคาจำหน่ายปลีกหน้าปั๊มที่ 18.79 บาท
มันจะเป็นไปได้หรือครับ ที่รัฐบาลจะยอมเฉือนรายได้จากภาษีน้ำมัน สำหรับเบนซิน95 ในอัตรา 6.50 บาท และแก๊สโซฮอล์95 กับดีเซลในอัตรา 5.85 บาท รวมทั้งรายได้จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งช่วงค้าส่งและค้าปลีก
สำหรับเรื่อง “ค่าการตลาด” นั้น เป็นส่วนแบ่งรวมให้กับบริษัทน้ำมันและสถานีบริการน้ำมัน ซึ่งยังต้องมีต้นทุนในค่าเงินเดือนพนักงาน ค่าขนส่ง และค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์
ซึ่งค่าการตลาดอย่างมากก็ไม่เกิน 2 บาท บางช่วงยังถูกรัฐบาลบีบให้ลดเหลือแค่ 1.50 บาทเท่านั้น ใจคอจะไม่ให้เอกชนเขามีกำไรบ้างหรือ
ธุรกิจอะไรก็ตามที่ลงทุนสูงอย่างเช่นธุรกิจค้าน้ำมัน แต่มาร์จิ้นต่ำนิดเดียว คงอยู่ได้ไม่นานหรอก แนวโน้มจะค่อย ๆ ปิดตัวเองลงไปมากกว่า
ธุรกิจปั๊มหรือสถานีบริการน้ำมันจะอยู่ได้ ก็ต้องอาศัยรายได้จากสิ่งที่เรียกว่า “นัน-ออยล์” เช่นร้านกาแฟ ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ ร้านจำหน่ายสินค้าและบริการต่าง ๆ
ปตท.อาจจะปรับตัวได้เร็วกว่าคู่แข่งอื่น ๆ ที่ยังคงมีรายได้หลักแค่จากการขายน้ำมัน รายได้จาก “นัน-ออยล์” เพียงน้อยนิด
ความที่ปตท.ยังคงเป็นรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังและกองทุนวายุภักษ์ถือหุ้นรวมกัน 64% ยังไงรัฐบาลไม่ว่ารูปแบบใด ก็คงไม่ยอมให้ปตท.ขูดเลือดขูดเนื้อประชาชนหรอก
บทบาทหลักของปตท.หนักไปในทางตรึงราคาและลดราคาเสียล่ะมากกว่า การปรับขึ้นราคา กลายเป็นเรื่องสุดท้าย หรืออาจจะกล่าวได้ว่า “ปรับลงเป็นคนแรก และปรับขึ้นเป็นคนสุดท้าย” ก็คงไม่ผิดไปจากความจริงนัก
ดังที่ซีอีโอใหญ่ปตท.สรุปสถิติการเคลื่อนไหวราคาน้ำมันในช่วงปี2560 ปตท.มีการปรับราคาน้ำมันขึ้น 21 ครั้ง ปรับลงก็ 21 ครั้ง และขายน้ำมันต่ำกว่าตราสินค้าต่างชาติ 20 วันจากทั้งหมด 365 วัน
ไม่เคยมีปั๊มตราต่างชาติรายไหน ขายน้ำมันราคาต่ำกว่าปตท.แม้สักวันเดียว
ฉะนั้น การที่มีการรณรงค์ชักชวนกันทางโซเชียลให้เลิกอุดหนุนปตท. จึงเป็นเรื่องชวนหัวไม่น้อย เพราะโดยกลไกที่เป็นอยู่ มันไม่มีเสียหรอกครับที่จะมีน้ำมันเจ้าไหน ขายราคาถูกกว่าปตท.
ระบบการค้าน้ำมันในประเทศเรา ยังไม่ถึงกับเป็นตลาดเสรีเต็มตัวหรอกครับ รัฐยังมีกลไกแทรกแซงเพื่อการควบคุมราคา โดยผ่านทางกลไกกองทุนน้ำมันและการคุมค่าการตลาด
ในความเป็นจริง ผู้ค้าน้ำมันต่างชาติก็ถอนตัวออกจากตลาดน้ำมันไทยให้เห็นมาหลายรายแล้ว ไม่ว่า Q8 เปโตรนาส หรือโคโนโค ยักษ์ใหญ่จากอเมริกา ส่วนผู้ยิ่งใหญ่ในอดีตอย่างเช่น เชลล์ เอสโซ่ คาลเท็กซ์ นับวันก็โรยราไป
ดูกันให้ดี ๆ เถอะ ตลาดค้าน้ำมันเมืองไทย น่าจะเป็น “สนามปราบเซียน” ของยักษ์ใหญ่น้ำมันต่างชาติมากกว่า
ไม่เข้าใจพวกชอบเอาแต่ก่นด่าปตท.อย่างไม่ลืมหูลืมตา และพวกที่หลงใหลไปกับนิทานโกหกพกลมเรื่องไทยมีแหล่งปิโตรเลียมสูงกว่าซาอุฯ ซึ่งก็เป็นชุดความคิดเดียวกับพวกทวงคืนปตท. ปตท.เป็นของทักษิณ และเรียกร้องให้ตั้งบริษัทน้ำมันแห่งชาตินั่นแหละ
ล้วนแล้วแต่เป็นเท็จทั้งสิ้น และเดี๋ยวนี้ก็ไปไกลถึงขั้นสร้างข่าวปลอมกันแล้ว เมื่อไหร่ถึงจะพ้นจากปลักอวิชชากันเสียที