พาราสาวะถี
หากจะมีใครซักคนตั้งคำถามว่า (การเมือง) ประเทศไทยเวลานี้อยู่ในภาวะใด คงจะมีหลากหลายความคิดเห็น แต่ในมุมของนักวิชาการอิสระชาวอเมริกันรายหนึ่งซึ่งมาลงหลักปักฐานอยู่ที่ภาคอีสานของเรา ได้ให้ทัศนะไว้อย่างน่าสนใจ เขาคนนั้นก็คือ เดวิด สเตร็คฟัส (David Streckfuss) มีการตั้งข้อสังเกตว่า ตอนนี้ประเทศไทยไม่มี politics เสียด้วยซ้ำ หรือถ้ามี มันก็เป็น absurd politics ไม่ใช่ popular politics ซึ่งเขาแปลความหมายของ absurd politics ว่า ระบบการเมืองที่ผิดเพี้ยน
อรชุน
หากจะมีใครซักคนตั้งคำถามว่า (การเมือง) ประเทศไทยเวลานี้อยู่ในภาวะใด คงจะมีหลากหลายความคิดเห็น แต่ในมุมของนักวิชาการอิสระชาวอเมริกันรายหนึ่งซึ่งมาลงหลักปักฐานอยู่ที่ภาคอีสานของเรา ได้ให้ทัศนะไว้อย่างน่าสนใจ เขาคนนั้นก็คือ เดวิด สเตร็คฟัส (David Streckfuss) มีการตั้งข้อสังเกตว่า ตอนนี้ประเทศไทยไม่มี politics เสียด้วยซ้ำ หรือถ้ามี มันก็เป็น absurd politics ไม่ใช่ popular politics ซึ่งเขาแปลความหมายของ absurd politics ว่า ระบบการเมืองที่ผิดเพี้ยน
มุมของนักวิชาการอิสระจากต่างประเทศรายนี้ อธิบายเหตุผลที่ทำให้เขามองเช่นนั้นว่า ประการหนึ่งเกิดจากเส้นแบ่งระหว่างข้อเท็จจริง หมายถึง โครงสร้างเรื่องราวที่ถูกสร้างขึ้นในสังคม ผิดเพี้ยน มั่วซั่วไปหมด และเส้นแบ่งที่ว่าก็ถูกลบหายไป ไม่รู้ว่าเรื่องไหนจริง เรื่องไหนไม่จริง ถ้าเรานิยาม politics ว่าคือการใช้อำนาจสาธารณะ ก็หมายความว่า ประเทศไทยตอนนี้ไม่มีการเมือง เพราะแนวคิดในการปกครองของคสช. ได้ยึดความเป็นสาธารณะหรือ publicness ในสังคมไทยไปแล้ว
สิ่งสำคัญคือ เพราะไม่มีการเมืองและไม่มีอำนาจสาธารณะ จึงไม่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในสังคมได้ จะมีเพียงแค่ปรากฏการณ์บางอย่างที่ต่อเนื่องแต่ไม่เกี่ยวข้องกัน ที่คสช.แสดงให้ประชาชนรับรู้รับชมเท่านั้น ซึ่งไม่มีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใด ๆ พูดอีกแง่หนึ่งคือสังคมไทยถูกแช่แข็งแล้ว การกระทำของ คสช.ไม่เพียงแต่เป็นการทำตามอำเภอใจ (act arbitrarily) อย่างเดียว แต่เป็นการกระทำแบบไร้จุดหมาย (act randomly) ด้วย
สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือ คสช.ไม่เคยโกหก เพราะเขาเชื่อว่าสิ่งประหลาด ๆ ที่เขาพูดและทำเป็นเรื่องจริง ตรงนี้ถ้าจะอธิบายในมุมมองของคนไทยก็คือ หลายเรื่องมีการพูดเท็จจนเชื่อว่าเป็นเรื่องจริงไปแล้วนั่นเอง จากความเห็นของนักวิชาการต่างประเทศรายดังกล่าว สุรพศ ทวีศักดิ์ ได้ขยายความต่อว่า ระบบการเมืองที่ผิดเพี้ยน คือภาพรวมที่ชัดเจนที่สุดของผลงานรัฐบาลคสช.ตลอด 4 ปี ที่ผ่านมา
ทว่าระบบการเมืองที่ผิดเพี้ยนเช่นนี้ก็ไม่ใช่ผุดขึ้นมาลอย ๆ แต่มีพัฒนาการสืบเนื่องมาตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร 2549 จนกระทั่งเกิดรัฐประหาร 2549 ที่ตามมาด้วยรัฐประหาร 2557 แท้จริงแล้วความไม่ไว้วางใจนักการเมือง พรรคการเมืองเป็นเรื่องปกติมากในสังคมประชาธิปไตย แต่การเอาความไม่ไว้วางใจนักการเมือง พรรคการเมืองมาเป็นข้ออ้างเพื่อสร้างความไม่เชื่อถือและ “ความกลัวการเลือกตั้ง” จนกระทั่งบอยคอตต์การเลือกตั้ง ขวางเลือกตั้ง และทำรัฐประหารล้มระบอบประชาธิปไตย
นี่เป็นความผิดเพี้ยนของกระบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองของระบอบสนธิ–จำลอง พวกกปปส.และของพรรคการเมืองอย่างประชาธิปัตย์ เมื่อความผิดเพี้ยนดังกล่าวผสมพันธุ์กับโครงสร้างอำนาจรัฐที่ผิดเพี้ยน คือโครงสร้างอำนาจรัฐที่มีอำนาจรัฐบาลจากการเลือกตั้งของประชาชนต้องอยู่ใต้อำนาจนอกระบบเลือกตั้งอีกที โครงสร้างอำนาจรัฐที่ผิดเพี้ยน (ไม่เป็นประชาธิปไตย) เช่นนี้ ย่อมทำให้มีการเมือง 2 แบบเหลื่อมซ้อนกันอยู่เสมอ
กล่าวคือ การเมืองแบบเลือกตั้งซึ่งเป็นการเมืองที่ชอบธรรม กับการเมืองนอกระบบเลือกตั้งซึ่งเป็นการเมืองที่ผิดเพี้ยน และอำนาจนอกระบบเลือกตั้งที่ทำการเมืองแบบผิดเพี้ยนก็สามารถแทรกแซงหรือล้มระบบการเมืองแบบเลือกตั้งได้ตลอดเวลาเมื่อมีเงื่อนไขสุกงอม คำถามคือ หลัง 4 ปีคสช. สังคมเราจะก้าวข้ามการเมืองที่ผิดเพี้ยนไปได้อย่างไร คำถามนี้มีนัยสำคัญเชื่อมโยงกับความคาดหวังต่อพรรคการเมืองและมวลชนทุกฝ่าย
บางคนอาจจะบอกว่าเราควรก้าวข้ามพรรคการเมืองเก่า ๆ และมวลชนที่แบ่งสีแบ่งฝ่ายไปเลย คงหวังอะไรไม่ได้กับคนเหล่านี้ แต่ความจริงเรามีเหตุผลที่จะคาดหวังต่อนักการเมือง พรรคการเมือง และมวลชน ไม่ใช่เพราะเราเชื่อว่านักการเมืองเป็นคนดีหรือสะอาดหมดจด หรือมวลชนเป็นพลังบริสุทธิ์อะไรแบบนั้น เหตุผลที่เราควรคาดหวังจากนักการเมืองและมวลชนต่าง ๆ คือตราบที่เรายืนยันการปกครองระบอบประชาธิปไตย เราก็ยังต้องเลือกนักการเมือง พรรคการเมือง
มันเป็นเรื่องตลกที่ใครยืนยันประชาธิปไตย แต่มองนักการเมือง พรรคการเมือง และมวลชนอย่างไร้ค่า ไร้ความหวัง แต่การคาดหวังจะต้องคาดหวังอย่างวิพากษ์ นั่นคือเราต้องอ้างอิงหลักการ กติกา ความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตยมาเป็นกรอบ ตั้งคำถามกับนักการเมือง พรรคการเมืองและมวลชนต่าง ๆ ให้มากขึ้น แน่นอนรวมทั้งถามกับตัวเองเองด้วย
ถ้าเริ่มจากข้อเรียกร้องให้พรรคเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ และทุกพรรคต้องสามัคคีกัน ไม่ใช่สามัคคีแบบคิดเหมือนกัน หันมาจูบปากกันอะไรแบบนั้น แต่หมายถึงสามัคคีเรียกร้องความชัดเจนและแน่นอนเชื่อถือได้ในการกำหนดวันเลือกตั้ง และคัดค้านการสืบทอดอำนาจของคสช.ทุกวิถีทาง นักการเมืองทุกพรรค ประชาชนทุกสี ทุกฝ่ายอาจเห็นต่างกันในเรื่องอื่นๆเถียงกันไป ทะเลาะ ขัดแย้งกันไป
แต่ต้องแสดงออกอย่างชัดเจนว่า คุณยืนยันที่จะต่อสู้ แข่งขัน เอาชนะกันผ่านระบบเลือกตั้ง กระบวนการประชาธิปไตยและเคารพสิทธิมนุษยชนของกันและกัน เมื่อทุกพรรคการเมือง คนทุกสี ทุกฝ่ายยืนยันอย่างเป็นสาธารณะที่จะต่อสู้ แข่งขัน ขัดแย้งกันตามกระบวนการประชาธิปไตย และยืนยันที่จะปกป้องระบบประชาธิปไตยและเคารพสิทธิมนุษยชนของกันและกันอย่างถึงที่สุดเท่านั้น คือหนทางเดียวที่จะก้าวข้ามการเมืองที่ผิดเพี้ยนไปได้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะเดินตามแนวทางที่สุรพศเสนอแนะมาทั้งหมด ก็ใช่ว่าหนทางจะราบรื่น ต้องไม่ลืมว่ากว่า 4 ปีที่ผ่านมานั้น คนไทยถูกสั่งให้อยู่แบบปกติในภาวะที่ไม่ปกติ ซึ่ง ปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำพรรคอนาคตใหม่ กลับมองไกลกว่านั้นว่า เราอยู่กับความไม่ปกติมากว่า 12 ปีแล้ว ขณะที่มีการอ้างว่าบ้านเมืองกำลังจะเข้าสู่สถานการณ์ปกติ แต่ก็เกิดเหตุการณ์ไม่ปกติขึ้น มีโรดแมปเลือกตั้ง แต่เจ้าหน้าที่กลับบอกว่าสิ่งที่ทุกคนทำผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นกฎหมายที่คสช.เป็นผู้ออกมาทั้งนั้น
การรณรงค์หาเสียง เสรีภาพการแสดงความคิดเห็น ถือเป็นพื้นฐานการเลือกตั้ง หากไม่เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองหรือประชาชนทั่วไปได้แสดงความคิดเห็น จะส่งผลให้การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นเป็นเพียงแค่ชื่อเท่านั้น เพราะการเลือกตั้งที่แท้จริงตามระบอบประชาธิปไตย จะต้องเปิดโอกาสให้ทั้งพรรคเก่าและใหม่ได้มีโอกาสพูด รวมถึงประชาชนที่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ได้มีโอกาสรณรงค์ให้เกิดการเลือกตั้งในเร็ววัน