พาราสาวะถี
ถ้ายึดตามหลักการอันเคร่งครัดของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ตอกย้ำทุกที่ทุกเวทีว่า ขอให้ทุกคนปฏิบัติตามกฎหมาย ก็น่าสนใจไม่น้อยว่ากรณีกกต.ลงมติชี้ว่า ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมีความผิด จากการที่คู่สมรสถือครองหุ้นในบริษัทเอกชนเกิน 5 เปอร์เซ็นต์โดยไม่ได้แจ้งต่อป.ป.ช. ท่านผู้นำจะดำเนินการอย่างไร
อรชุน
ถ้ายึดตามหลักการอันเคร่งครัดของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ตอกย้ำทุกที่ทุกเวทีว่า ขอให้ทุกคนปฏิบัติตามกฎหมาย ก็น่าสนใจไม่น้อยว่ากรณีกกต.ลงมติชี้ว่า ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมีความผิด จากการที่คู่สมรสถือครองหุ้นในบริษัทเอกชนเกิน 5 เปอร์เซ็นต์โดยไม่ได้แจ้งต่อป.ป.ช. ท่านผู้นำจะดำเนินการอย่างไร
แต่ถ้าฟังเนติบริกรของรัฐบาลคสช.อย่าง วิษณุ เครืองาม พยายามจะยกแม่น้ำทั้งห้ามาเพื่ออธิบายให้คนส่วนใหญ่เห็นว่า ความผิดของดอนควรได้รับการอภัย นั่นก็หมายความว่าคำว่าต้องปฏิบัติตามกฎหมายของท่านผู้นำไร้ความศักดิ์สิทธิ์ แม้คนจะเข้าใจอย่างที่วิษณุบอกคือหุ้นนั้นถือก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้และภรรยาของดอนทำธุรกิจของครอบครัวจำเป็นต้องถือหุ้นเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ถามว่า กฎหมายมีข้อยกเว้นให้ด้วยหรือไม่
ในเมื่อรู้ว่าสามีเป็นรัฐมนตรี และรัฐมนตรีคนนั้นก็รู้ว่ามีกฎหมายหรือข้อห้ามว่าอย่างไร หากมีเจตนาที่บริสุทธิ์หรือไม่ต้องการให้ใครใช้เป็นเยี่ยงอย่างก็ควรจะทำตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดี ถามต่อไปว่า ถ้ารัฐบาลหน้าเกิดมีรัฐมนตรีที่เป็นนักการเมืองไม่ใช่เครือข่ายอำนาจเผด็จการกระทำเช่นนี้อีก มันจะต้องมีข้อยกเว้นหรือต้องให้แสดงความเห็นใจกันทุกครั้งไปอย่างนั้นหรือ
ยิ่งรัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลแห่งการปฏิรูป ยิ่งต้องทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลง แตกต่างจากรัฐบาลนักการเมืองชั่วนักการเมืองเลว ข้อเรียกร้องของ ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยจึงน่าพิจารณา กรณีดังกล่าวเคยเกิดขึ้นกับรัฐมนตรีและนักการเมืองในอดีตและสังคมเรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่งและหรือมีกฎเกณฑ์เพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนในทางธุรกิจ เพื่อรักษาภาพลักษณ์ของการเมืองไทย
นำไปสู่การเรียกร้องให้มีการปฏิรูปในยุคคสช. แต่การที่เนติบริกรและหรือนักกฎหมายที่ชอบเชลียร์ผู้มีอำนาจหลายคนออกมาแก้ต่างให้ดอนว่ายังไม่ต้องลาออก หรือยังไม่ถือว่ามีความผิดจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย พฤติการณ์และความคิดดังกล่าวเป็นอันตรายกับการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูปประเทศ เนื่องจากการปฏิรูปการเมืองคือการแสดงสปิริต หรือการกระทำที่ไม่ไปซ้ำรอยกับนักการเมืองเดิมในอดีตที่ทำลายภาพลักษณ์ทางการเมือง ทำให้เป็นช่องว่างเปิดโอกาสให้มีการทำรัฐประหาร
ด้วยเหตุนี้ ดอนจึงไม่ควรรอให้กกต.ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย แต่ควรแสดงสปิริตหรือความเป็นสุภาพบุรุษของคนกระทรวงการต่างประเทศที่ยึดถือกันมาด้วยดีทุกยุคทุกสมัย โดยการลาออกจากตำแหน่ง เชื่อว่าจะได้รับการสรรเสริญจากคนทั้งประเทศและทั้งโลกว่าเป็นผู้มีสปิริตสูงกว่านักการเมืองบางคนในคณะรัฐมนตรีชุดนี้ ที่มีปัญหาถูกร้องเรียนแต่ก็ยังทำงานต่อ และจะเป็นแบบอย่างที่ดีต่อเยาวชนคนรุ่นหลังในอนาคตต่อไปด้วย
เช่นเดียวกับ สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา ที่เสนอว่า รัฐบาลมาในลักษณะไม่ปกติ รัฐมนตรีในรัฐบาลต้องยิ่งทำตัวให้สังคมเห็นว่า มีความผิดแผกไปจากนักการเมืองทั่วไป ดังนั้น เมื่อมีมติออกมาเช่นนี้เรื่องการหยุดปฏิบัติหน้าที่จะรอทำไม ควรให้เกียรติและให้โอกาสนายกรัฐมนตรี ในการที่จะปรับปรุงเพื่อให้ประเทศเดินต่อไปได้ดีกว่า
ตรงนี้จะถือเป็นบทพิสูจน์ว่าการยกเรื่องกฎหมายมาอ้างให้ทุกคนปฏิบัติตามของท่านผู้นำนั้น เมื่อถึงคราวรัฐมนตรีในสังกัดของตัวเองแล้วจะออกตัวอย่างไร แต่ก็น่าเชื่อได้ว่า คงไม่มีอะไรเกิดขึ้น ต้องไม่ลืมว่าหากมองไปยังเนื้องานด้านการต่างประเทศโดยเฉพาะการตอบโต้หรืออธิบายความในหลายเรื่องที่ผ่านมานั้น ดอนทำได้เข้าตาและถูกใจผู้นำเผด็จการเป็นอย่างยิ่ง
กรณีนี้คงเข้าอีหรอบเดียวกับนาฬิกาหรูที่ท่านผู้นำโยนเผือกร้อนไปให้องค์กรอิสระเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งก็ยื้อเวลากันมาจนป่านนี้ บางทีอาจจะยาวไปจนถึงการเลือกตั้งหลังจากที่พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์เปิดตูดพ้นตำแหน่งไปแล้ว เพราะเมื่อถึงเวลานั้นลงมติกันออกมาอย่างไร การจะอธิบายกับสังคมและแรงกระเพื่อมที่จะเกิดขึ้นมันจะน้อยกว่าในเวลาที่รัฐบาลเผด็จการยังเรืองอำนาจ
สำหรับการเลือกตั้งฟังวิษณุอธิบายเรื่องเงื่อนเวลา 11 เดือนแล้วเป็นการเงื้อง่าราคาแพงสไตล์เนติบริกร สั้น ๆ เข้าใจง่ายต้องอย่างที่ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ และ พรเพชร วิชิตชลชัย ยืนยันได้หย่อนบัตรกันแน่ ๆ ในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า นั่นหมายความว่า ผู้มีอำนาจต่างมั่นใจแล้วว่าทุกอย่างอยู่ในกำมือ องคาพยพเผด็จการจะได้กลับมาสืบทอดอำนาจล้านเปอร์เซ็นต์
สังเกตอาการได้อีกอย่างคือ การดึงเกมเรื่องแผนยุทธศาสตร์ชาติที่บิ๊กตู่นั่งหัวโต๊ะถกกันเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยมีการสั่งให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือสศช.ไปปรับแก้ในเนื้อหาที่ต้องขีดเส้นใต้คือ บางประเด็นต้องปรับ เช่น ตัวชี้วัดที่อาจมีผลต่อรัฐบาลหน้า พลเอกประยุทธ์ต้องการให้ปรับแก้ให้คล่องตัว อะไรบางอย่างที่ไม่อยากให้ผูกมัดรัฐบาลหน้าก็ขอให้ดึงออกจากยุทธศาสตร์ชาติไปใส่ไว้ในแผนแม่บท
ทั้งที่ก่อนหน้านั้นฝ่ายการเมืองรวมไปถึงนักวิชาการจำนวนไม่น้อยต่างทักท้วงแผนยุทธศาสตร์ชาติดังกล่าวว่า จะเป็นอุปสรรคเหมือนการวางกับดักรัฐบาลที่จะมาจากการเลือกตั้ง แต่ทางฝ่ายที่เกี่ยวข้องรวมทั้งผู้มีอำนาจเองต่างเสียงแข็งว่า ไม่มีปัญหาอะไรและไม่ได้บังคับใคร ทุกอย่างที่ทำเพื่อหวังให้ประเทศเดินหน้าและต้องมีกติกาที่แข็งแรง
ทว่าวันนี้กลับมีการปรับแก้ และเป็นประเด็นอันเกี่ยวข้องกับการทำงานของรัฐบาลใหม่ทั้งสิ้น โดยเหตุที่ให้ยกไปไว้ในแผนแม่บทเพราะมีเวลาดำเนินการและสามารถปรับได้ นี่ย่อมสะท้อนให้เห็นว่า ผู้มีอำนาจปัจจุบันมั่นใจว่าตัวเองจะกลับมามีอำนาจอีก จึงต้องรีบปลดล็อกกับดักทั้งปวงที่เดิมทีวางไว้เพื่อเตะตัดขารัฐบาลจากการเลือกตั้ง นี่แหละบทพิสูจน์บางอย่างที่คิดว่าแนบเนียน แยบยลแล้ว แต่บางทีมันก็กลับมามัดคอตัวเองไปเสียฉิบ