‘ดอน’ เซ่นพิธีกรรม

ดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ถูก กกต.ลงมติว่าภริยาถือหุ้นบริษัทเกิน 5% โดยไม่ได้โอนหุ้นให้นิติบุคคลดูแลแทน ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 187 เตรียมส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มีคุณสมบัติต้องห้ามหรือไม่


ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง

ดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ถูก กกต.ลงมติว่าภริยาถือหุ้นบริษัทเกิน 5% โดยไม่ได้โอนหุ้นให้นิติบุคคลดูแลแทน ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 187 เตรียมส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มีคุณสมบัติต้องห้ามหรือไม่

ถ้าศาลวินิจฉัยว่าต้องห้าม ก็ตกเก้าอี้ ห้ามเป็นอีก 2 ปี ทำให้มีแรงกระเพื่อมทางการเมือง มีข่าวปรับ ครม. เอาคนนั้นออก คนนี้เข้า เป็นเรื่องเป็นราวไปใหญ่

โดยส่วนตัว มิได้อาลัยอาวรณ์ อยากจุดพลุให้ด้วยซ้ำ กับรัฐมนตรีที่เอาแต่พร่ำ “ต่างชาติเข้าใจไทย” พูดเองเออเองไปเรื่อย ไม่แยแสโลกวิจารณ์

แต่ในแง่กฎหมายอดขำไม่ได้ ที่เห็นพ่อเฒ่าโดนทวงถามมโนธรรมสำนึก หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์บอกว่าถ้าเป็นมาตรฐานพรรคตัว ต้องลาออกสถานเดียว ไม่เช่นนั้น คนจะเสื่อมศรัทธารัฐบาล

คำถามคือการที่ภริยาถือหุ้น 12% และ 17.5% ในบริษัทครอบครัว ซึ่งดูจะเป็นเพียงธุรกิจให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ ไม่ได้รับสัมปทาน ไม่เป็นคู่สัญญากับรัฐ ได้ประโยชน์ได้อานิสงส์อะไรหรือไม่ จากที่สามีเป็นรัฐมนตรี

ใครก็รู้ว่าไม่มี ไม่ได้ แต่จะอ้างว่าขัดกฎหมาย ขัดรัฐธรรมนูญไง อ้าว แล้วเราเขียนกฎหมายมาเพื่ออะไร เพื่อป้องกันประโยชน์ทับซ้อน ? ก็เห็นชัด ๆ ว่ามันไม่ทับ จะบังคับให้กว้างไปทำไม ? ไม่รู้ละ กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย ผิดแล้วต้องแสดงสปิริต

ในทางการเมือง ใช่นะครับ พ่อเฒ่าดอนควร “แสดงสปิริต” ไม่งั้นถูกมองว่าดันทุรัง จะยุ่งกันไปใหญ่ ปล่อยไปถึงศาล ไม่ว่าชี้ถูกชี้ผิด ก็วิพากษ์วิจารณ์กันอึงมี่ ทางที่ดี กลับบ้านไปเลี้ยงหลานดีกว่า

แต่ในหลักการ ถามว่าเห็นกันบ้างไหม มาตรการป้องกันทุจริต ประโยชน์ทับซ้อน ที่พยายามเขียนเป็นกฎหมาย เอาเข้าจริง ส่วนใหญ่กลายเป็นระเบียบพิธีกรรม ให้ตีความกันในกระดาษ ยุ่งยาก เสียเวลา เสียทรัพยากร โดยไม่เป็นประโยชน์ในการปฏิบัติจริง

เรื่องรัฐมนตรีถือหุ้นแล้วตกเก้าอี้นี่ โดนมาเยอะนะครับ ที่โดนเป็นพวงก็รัฐบาลขิงแก่ 8 คน ทั้งที่ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ยุคนักการเมืองโดน 4 คน แต่ไม่โดนข้อหาทุจริต

พูดง่าย ๆ คือเป็นกติกาจุกจิก ที่ใช้ได้ผล สอยคนได้เยอะเลย ทั้งที่ไม่ได้โกง บางครั้งก็กลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง เขย่ารัฐบาล ไม่ว่าองค์กรวินิจฉัยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม

พูดอย่างนี้เดี๋ยวภาคีต้านโกงรุมยำ ไม่เห็นด้วยกับมาตรการป้องกันประโยชน์ทับซ้อนหรือไง เห็นด้วยครับแต่ไม่ใช่เน้นกติกาจุกจิกจนกลายเป็นทำงานรูทีนมากกว่าจับทุจริตจริง

กติกาปราบโกงป้องกันทับซ้อนของไทยมักก๊อปมาจากต่างชาติ แบบมาตรการโอนหุ้นให้นิติบุคคลก็ก๊อปมาจากอเมริกา แต่เอามาไม่หมด ก๊อปแยกส่วน ยืมประเทศนั้นประเทศนี้ อันไหนอร่อยก็ซอยลงๆ แล้วมาตั้งองค์กรจับผิด บนพื้นฐานรัฐราชการขุนนางไทย ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานแบบ “เสือกระดาษ” มุ่งจับผิดจากเอกสาร เอาผิดด้วยการตีความจ้องจับคนทำผิดระเบียบ ไม่แจ้ง ไม่ยื่น ไม่ทำตามขั้นตอน ฯลฯ แต่คนโกงจริง ๆ จับไม่ได้ เพราะคนโกงรู้วิธีหลบหลีกซุกใต้โต๊ะทำเอกสาร ยิ่งพยายามออกกฎหยุมหยิมนั่นก็ห้าม นี่ก็ผิด ยิ่งสร้างปัญหาให้คนทำงาน อย่าง สตง.กับ อปท. กับ สปสช. หรือระเบียบกระทรวงการคลังที่หมอฮือต้าน

รัฐธรรมนูญ 2560 และระบอบรัฐราชการเป็นใหญ่ ที่สถาปนากลับมาในยุค 4 ปี ก็จะนำประเทศไปทางนี้ โดยคิดหวังสกัดนักการเมือง แต่เมื่อปิดกั้นเสียจนนักการเมืองขึ้นสู่อำนาจไม่ได้ ใครล่ะจะเจออุปสรรค

ดอน ปรมัตถ์วินัย ก็เลยสังเวยรายแรก อย่างช่วยไม่ได้

Back to top button