ใครทุบ SUPER – MBKET – BEAUTY

ในช่วงเวลาไม่ถึง 1 สัปดาห์ ในจำนวนหุ้นทั้ง 3 บริษัทข้างต้น มีอยู่ 2 บริษัทที่ราคาร่วงมาฟลอร์ คือ SUPER และ MBKET


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

ในช่วงเวลาไม่ถึง 1 สัปดาห์ ในจำนวนหุ้นทั้ง 3 บริษัทข้างต้น มีอยู่ 2 บริษัทที่ราคาร่วงมาฟลอร์ คือ SUPER และ MBKET

ส่วนราคาหุ้น BEAUTY ราคาปรับลงมาอย่างหนักเช่นกัน

แต่ราคาที่ร่วงลงมาก็ยังไม่ถูกตั้งข้อสงสัยเช่นเดียวกับ 2 หุ้นแรก

หุ้น SUPER ร่วงลงมาติดฟลอร์ หรือ -30% เมื่อวันศุกร์ที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา

ในวันนั้น มีการปล่อยข่าวลือว่า “ประเดช กิตติอิสรานนท์” ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ จะมีการขายหุ้นออกมา หากราคาหุ้นขึ้นไปถึงระดับ 1.50 บาท

ทว่า “ประเดช” ออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าว

และยืนยันว่า ไม่มีการขายหุ้นออกมา

และบุคคลใกล้ชิด ญาติสนิท ก็ไม่ได้มีใครขายหุ้นออกมา

เช่นเดียวกับ “จอมทรัพย์ โลจายะ”ได้ออกมาปฏิเสธด้วย

ทั้งสองคนออกมาแถลงข่าวพร้อมกัน และยืนยันหนักแน่นว่า ไม่ทราบ และไม่รู้ว่าใครขาย และราคาหุ้นร่วงลงมาได้อย่างไร

“ประเดช” ถึงกับทำหนังสือไปยังสำนักงาน ก.ล.ต.ให้เข้ามาตรวจสอบปัญหานี้

นัยสำคัญว่า เขาอาจถูกมองว่าเป็น “จำเลย” ในสายตาของนักลงทุน และต้องการแสดงความบริสุทธิ์ของตนเอง

ข้อมูลโครงสร้างผู้ถือหุ้น SUPER สิ้นสุดวันที่ 31 พ.ค. 61 เมื่อเทียบกับวันที่ 15 มี.ค. 61

พบว่า บริษัท สุวินทวงศ์ โกลด์ แอสเซ็ท จำกัด ถือหุ้นสัดส่วนเดิม 20.59%

นายจอมทรัพย์ โลจายะ ถือหุ้น 18.40% จากเดิม 7.91%

นางสาวเจนจิรา กิตติอิสรานนท์ บุตรสาวของนายประเดช ถือหุ้น 3.08% จากเดิม 3.16%

นายกำธร กิตติอิสรานนท์ บุตรชายนายประเดช ถือหุ้น 2.50% จากเดิม 2.32%

ขณะที่นายประเดช ไม่มีสัดส่วนการถือหุ้น จากเดิมถืออยู่ 10.32%

ใครที่อยู่ในแวดวงตลาดทุนมานานจะทราบดีว่า หุ้นหลาย ๆ ตัวนั้นมี “เจ้ามือ”

เจ้ามือที่ว่านี้จะเป็นใครก็ได้

เช่น เจ้าของ โบรกฯ กองทุน รายใหญ่ โดยต่างฝ่ายอาจจะรู้จักกัน ร่วมมือกัน เพราะเวลาจะลากขึ้น หรือทุบลงจะต้อง “รับ” และ “ส่ง” กันได้ตามแผน

หากถามว่า ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งดำเนินการฝ่ายเดียวได้หรือไม่

คำตอบคือ “ได้”

มีคำถามต่อว่า หากราคาหุ้นร่วงลงเพราะเกิดจาก “แพนิก” จริง ๆ เป็นไปได้หรือไม่ คำตอบคือ “ได้” เช่นกัน

แต่ส่วนใหญ่แล้ว หากราคาหุ้นร่วงหนักตามข้อหลังจริง ๆ ทางเจ้าของมักจะเข้ามารับซื้อ

หุ้น SUPER ก่อนจะ “ถูกทุบ” ลงมาพบว่า มีการลากราคาขึ้นมาต่อเนื่อง นักลงทุนรายย่อยเข้าไปลงทุนจำนวนมาก และโบรกฯ ยังแห่ปล่อยมาร์จิ้นกันสนุกสนาน

กระทั่งล่าสุดมียอดกว่า 4 พันล้านบาท

เซียนหุ้นที่เป็นเจ้ามือคนไหนเห็นตัวเลขแบบนี้แล้ว “ลูบปาก” สานต่อแผนใหญ่ทันที

ลูกค้ามาร์จิ้นตายกันเหมาเข่ง ถูกบังคับขายกันหมด

มาถึงกรณีของ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็งฯ

หุ้นเมย์แบงก์ฯ มีสัดส่วนฟรีโฟลตไม่มากนัก

ดังนั้นใครมีหุ้นอยู่เยอะ ๆ ในมือ ก็สามารถลากหุ้นหรือทุบหุ้นได้แบบชิล ๆ

ราคาหุ้นของ บล.เมย์แบงก์ฯ ก่อนร่วงติดฟลอร์นั้น ได้ปรับลงมาอย่างมีนัยสำคัญแล้วล่วงหน้า 2 วัน คือวันที่ 1 และ 4 มิ.ย. 61

หุ้น บล.เมย์แบงก์ฯ ไม่มีการปล่อยมาร์จิ้น

คนที่เข้ามาทุบหุ้น อาจจะเข้ามาทยอยเก็บหุ้น แล้วสะสมในพอร์ต ก่อนจะเทขายออกมา

หลังจากนั้น ตามมาด้วย “ปล่อยข่าว” ต่าง ๆ มาภายหลัง เหมือนกับหุ้นหลาย ๆ ตัวที่ลงมาหนักก่อนหน้านี้

นัยสำคัญของการทุบหุ้น บล.เมย์แบงก์ฯ เหมือนต้องการ “ทำลายชื่อเสียง” เพราะนักลงทุน (รายย่อย) ที่ได้รับผลกระทบแทบจะไม่มี หรือมีไม่มากนัก

และประเด็นที่เป็นข่าวปล่อย ก็ไม่น่าทำให้เกิดการ ”แพนิก” มากขนาดนี้

กรณีของบล.เมย์แบงก์ฯ จึงต่างกับ SUPER

มาถึงหุ้นความสวยความงามอย่าง BEAUTY

ส่วนตัวมีโอกาสได้คุยกับนักลงทุนสถาบัน และผู้จัดการกองทุนที่ถือหุ้น BEAUTY

ต่างบอกว่า ไม่ได้ขายหุ้นออกมา และไม่ได้มีการปรับพอร์ต

ส่วนรายย่อยนั้น อาจมีขายกันออกมาบ้าง แต่ผู้จัดการกองทุนก็มองว่า แรงขายที่ว่านี้ไม่น่าจะทำให้ราคาหุ้นร่วงแรงได้

ราคาหุ้น BEAUTY ที่ร่วงลงมี “เจ้ามือ” เข้ามาเกี่ยวข้องแน่นอน

เชื่อว่ากรณีทั้งหมดนี้ไม่เกินความสามารถของ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ

Back to top button