ขุดคดี IRPC อีกแล้ว

เรื่องที่ควรทำให้เสร็จตั้งนานแล้วอย่างเช่นโรงพักร้าง 396 แห่ง นาฬิกาหรู 25 เรือน หรือคดีเสื้อแดง 100 ศพ กลับไม่ทำ


ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์

เรื่องที่ควรทำให้เสร็จตั้งนานแล้วอย่างเช่นโรงพักร้าง 396 แห่ง นาฬิกาหรู 25 เรือน หรือคดีเสื้อแดง 100 ศพ กลับไม่ทำ

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือป.ป.ช. ดันไปขุดคดีเก่า ที่มีผลชี้ขาดไปแล้วถึง 2 ศาลทั้งในศาลรัฐธรรมนูญและศาลล้มละลายกลาง มาเล่นอีก

คดีนั้นก็คือ มหากาพย์การฟื้นฟูกิจการบริษัทปิโตรเคมิคัลไทย (TPI) หรือ IRPC ในปัจจุบัน ซึ่งป.ป.ช.เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องอดีตนายกรัฐมนตรี นายทักษิณ ชินวัตร เป็นจำเลยต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตเป็นเหตุให้ผู้หนึ่งผู้ใดเสียหาย จากกรณีที่ให้ความเห็นชอบกระทรวงการคลังสมัยที่มีร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ เข้าเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟู TPI ซึ่งเป็นบริษัทเอกชน

อันเป็นการกระทำนอกเหนืออำนาจหน้าที่ของกระทรวงการคลัง เพราะกระทรวงการคลังไม่มีอำนาจเข้าไปบริหารบริษัทเอกชน เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ระบบราชการ จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

ศาลฎีกาฯ ก็ประทับรับฟ้องไว้ พร้อมกำหนดนัดพิจารณาครั้งแรก 22 มิ.ย.ศกนี้

เมื่อป.ป.ช.ปล่อยข่าวชิ้นนี้ช่วงต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา แม้ผลประกอบการ IRPC ไตรมาส 1 จะออกมาสวยสดงดงามมากถึง 2,752 ล้านบาท แต่ราคาหุ้นหลุดร่วงไม่เป็นทรงเอาเสียเลย หายไปเกือบ 2 บาท จากระดับเหนือ 8 บาท ลงมาใต้ 7 บาท

เพราะกลัวว่าผลคดีอาจกระทบกับการดำเนินงานของบมจ.IRPC หรือคิดประหวั่นพรั่นพรึงไปถึงว่า “ประชัยจะกลับมา”

แต่คราวนี้ คงจะซึมซับข่าวร้ายมาพอสมควรแล้ว แม้ในวันที่ศาลฎีกาฯ ประทับรับฟ้อง ราคาหุ้น IRPC ก็ยังสวนกระแสไปได้ ปรับตัวขึ้น 0.20 บาทมาที่ราคา 6.55 บาท

ผลกระทบในภายภาคหน้าจะเป็นอย่างไร ? น่าคิด !

เรื่องคำฟ้องว่า การเข้ามาบริหารแผนฟื้นฟูกิจการ TPI ของกระทรวงการคลัง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบราชการ ป.ป.ช.ก็น่าจะไปถามคนใกล้ชิดในครม.ประยุทธ์ อย่างดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ดูนะครับว่า มันเสียหายอย่างไร

การที่เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้คืน และลูกหนี้ก็ยังไม่ถูกยึดบริษัทไป พนักงานทีพีไอไม่ต้องตกงาน และ TPI ไม่ต้องตกเป็นขี้ปากว่า “เบี้ยวหนี้” ไปทั่วโลก ก่อความเสียหายแก่ชื่อเสียงประเทศไทยน่ะ มันเป็นความเสียหายตรงไหน

จากบริษัทที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวจนกลายมาเป็นบริษัทที่มั่นคงแข็งแรงในปัจจุบันด้วยตัวเลขทางการเงินที่น่าเชื่อถือได้ อาทิปี58 กำไรสุทธิ 9,401 ล้านบาท, ปี59 กำไร 9,720 ล้านบาท, ปี60 กำไร 11,354 ล้านบาท และไตรมาสแรกปี61 กำไร 2,751 ล้านบาท

นี่หรือเสียหายต่อระบบราชการ!!!

ในทางคดีแล้ว เรื่องกระทรวงการคลังมีอำนาจโดยชอบหรือไม่ชอบในการบริหารแผนฟื้นฟูกิจการเอกชนนั้น ก็มีผลตัดสินเป็นที่ยุติเด็ดขาดแล้วจาก 2 ศาล นั่นคือศาลรัฐธรรมนูญและศาลล้มละลายกลาง

ศาลรัฐธรรมนูญ ยกคำร้องผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา เมื่อ 4 พ.ย. 2547 ว่า การให้กระทรวงคลังเป็นผู้บริหารแผนนั้น ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว

ศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งยกคำร้องกรณีขอให้ผู้บริหารแผนพ้นจากตำแหน่งถึง 2 ครั้ง คือ 8 เม.ย. 48 และ 14 ก.ย. 48

ตามระบบมาตรฐานยุติธรรมที่ดีนั้น การ “ฟ้องซ้ำ” ในคดีที่เป็นความผิดเดียวกันและศาลมีคำวินิจฉัยไปแล้ว ย่อมกระทำไม่ได้หรอก

ยิ่งเป็นการ “ฟ้องซ้ำ” ที่มีผลวินิจฉัยมาแล้วถึง 2 ศาล ยิ่งไม่อาจกระทำได้เข้าไปใหญ่ ศาลอาจจำหน่ายคดีเสียตั้งแต่ชั้นไต่สวน

แต่นี่ป.ป.ช.ใช้ทริคไปฟ้องในข้อหาความผิดตามพ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวงทบวงกรม พ.ศ. 2546 ซึ่งเบี่ยงเบนไปจากการยกคำร้องตามพ.ร.บ.ล้มละลายที่ผ่านมาจาก 2 ศาลดังกล่าว

ทั้งที่เป็นความผิดตามฟ้องเรื่องเดียวกัน คือกระทรวงการคลังไม่มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารแผนฟื้นฟูกิจการเอกชน

ครับ สรุปการฟ้องทักษิณ-รื้อคดีทีพีไอคราวนี้ เป็นคดีการเมืองแน่นอน ถ้ายกคำร้องก็ดีไป ไม่มีฝ่ายใดได้รับผลกระทบ

แต่หากศาลฯ ไม่ยก ตัดสินทักษิณผิด สำหรับทักษิณแล้ว อย่างมากก็เพิ่มอีก 1 คดี แต่ตัวไม่ต้องมารับโทษเพราะมีถิ่นฐานพำนักอยู่ต่างประเทศเรียบร้อยแล้ว เฉกเช่นคดีความผิดอื่น ๆ ที่ผ่านมา

แต่ที่น่าคิดก็คือ สถานะของ IRPC นี่สิ จะสั่นสะเทือนไหม ในเมื่อหากตัดสินทักษิณมีความผิด ก็เท่ากับการบริหารแผนฟื้นฟูกิจการนั้นไม่ชอบธรรม แล้วจะต้องคืนกิจการ IRPC ไปให้กับประชัย เลี่ยวไพรัตน์ไหม

แล้วจะเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้ลงทุนรายใหม่ที่เข้ามา อาทิ ปตท. กบข. ธนาคารออมสิน และกองทุนวายุภักษ์ ฯลฯ รวมทั้งผู้ถือหุ้นรายย่อยกันอย่างไร

มันได้คุ้มเสียไหมกับการดำเนินคดีการเมืองที่ต้องแลกกับความวุ่นวายโกลาหลทางการลงทุนของบ้านเมือง

Back to top button