พาราสาวะถี

ไม่ต้องสงสัยปมเหตุที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หงุดหงิด อารมณ์เสียโดยโวยวายสื่อเรื่องเสนอข่าวบิดเบือนต่อเนื่องกัน 2-3 วัน นั่นเป็นเพราะ ไม่พอใจต่อการวิพากษ์วิจารณ์ผลงานรัฐบาล ท่านผู้นำเชื่อว่าสิ่งที่ทำมานั้นมากมายมหาศาล แต่สื่อกลับดันไปมองว่าไม่มีผลงาน เป็นใครก็น้อยใจ แต่ก็อีกนั่นแหละ ถ้ามั่นใจว่าผลงานดี มีคุณภาพก็ไม่เห็นจะต้องไปสนใจอะไรสื่อ เพราะผู้ชี้วัดและตัดสินคือประชาชน


อรชุน

ไม่ต้องสงสัยปมเหตุที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หงุดหงิด อารมณ์เสียโดยโวยวายสื่อเรื่องเสนอข่าวบิดเบือนต่อเนื่องกัน 2-3 วัน นั่นเป็นเพราะ ไม่พอใจต่อการวิพากษ์วิจารณ์ผลงานรัฐบาล ท่านผู้นำเชื่อว่าสิ่งที่ทำมานั้นมากมายมหาศาล แต่สื่อกลับดันไปมองว่าไม่มีผลงาน เป็นใครก็น้อยใจ แต่ก็อีกนั่นแหละ ถ้ามั่นใจว่าผลงานดี มีคุณภาพก็ไม่เห็นจะต้องไปสนใจอะไรสื่อ เพราะผู้ชี้วัดและตัดสินคือประชาชน

ยิ่งเป็นคนที่ไม่สนใจหรืออยากมีอำนาจ ก็ไม่ต้องห่วงว่าจะกระทบต่อฐานเสียงหรือคะแนนนิยม ขอให้ใช้ความตั้งใจทำงานให้บรรลุตามที่ตัวเองตั้งเป้าหมายไว้ก็พอ ดีชั่วเข้าตาหรือไม่ประชาชนเขารับรู้ สัมผัสได้ไม่ต้องให้ใครไปชี้นำ ถามว่าถ้าสื่อมีอานุภาพมากขนาดนั้น คนที่ออกรายการทุกวันศุกร์มานานกว่า 4 ปี น่าจะโกยเรตติ้ง เรียกคะแนนนิยมจากประชาชนได้เป็นพะเรอเกวียนแล้วมิใช่หรือ

ความเป็นจริงหากสิ่งที่ท่านผู้นำบอกว่า นายกฯจะต้องอยู่ตรงกลาง ไม่ได้คิดว่าไปขึ้นหลังเสือที่ไหนมา ไม่ได้เป็นเสือที่ไหน และไม่เห็นว่าตัวเองจะสูญเปล่าตรงไหน มีผลงานปรากฏเยอะแยะไปหมด คิดและเชื่ออย่างนั่นก็ยิ่งไม่มีความจำเป็นจะต้องไปสนใจสื่อ ถามว่าความใกล้ชิดกับประชาชนของรัฐบาลนี้คืออะไร โครงการประชารัฐ โครงการไทยนิยมยั่งยืน มิใช่หรือ

ถ้าได้ทำงานใกล้ชิดประชาชนขนาดนั้น ทำทุกอย่างให้ทุกคนโดยไม่ได้เลือกปฏิบัติ ก็ไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องไปวิตกจริตจนถึงขั้นต้องออกลูกตำหนิสื่อรายวัน และการที่ท่านยืนยันว่า “ความผิดของผมอย่างเดียวก็คือผมมีความเป็นมนุษย์ จึงยิ่งต้องเข้าใจความเป็นมนุษย์คนอื่นด้วยเช่นกันว่า จะไปบังคับให้เขาเชื่อและทำตามกันทั้งหมดไม่ได้

เมื่อมองไปยังโลกความเป็นประชาธิปไตยสากล ที่ท่านเพิ่งพูดไปเมื่อวันก่อนว่าไทยกำลังจะก้าวไปถึงจุดนั้น ก็ไม่มีความจำเป็นใด ๆ อีกเช่นกันที่จะไปคิดว่า พรรคการเมืองทั้งหลายจะหาเสียงแล้วโจมตีกันไปมา หรือประชาชนจะไม่รู้เท่าทันนักการเมือง เพราะโลกประชาธิปไตยต้องเข้าใจความแตกต่างหลากหลายของมนุษย์ มิเช่นนั้น คงไม่มีการพูดถึงเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และสิทธิมนุษยชน

การจะปกครองโดยบอกว่าทุกคนต้องคิดเหมือนกัน ทำเหมือนกันและทำตามสิ่งที่ผู้มีอำนาจและคณะขีดเส้นไว้ให้เดิน เช่นนั้นเขาไม่เรียกว่าประชาธิปไตย รวมไปถึงการจินตนาการเรื่องความขัดแย้งแตกแยกในอนาคต อาจจะทำให้ถูกมองได้ว่านั่นเป็นข้ออ้างที่ทำให้คณะเผด็จการจะมีความชอบธรรมกับการอยู่ในอำนาจต่อไป

แน่นอนว่า คนจำนวนหนึ่งก็เชื่อว่าประเทศภายใต้การปกครองของเผด็จการคสช.สงบเรียบร้อย แต่คนจำนวนไม่น้อยก็เห็นว่ามันเป็นความสงบเงียบเชียบเสียมากกว่า แม้จะเห็นว่ามีเสถียรภาพ รัฐบาลมั่นคง (เพราะกฎหมายพิเศษและม.44) แต่ความเป็นจริงชีวิตความเป็นอยู่ ปากท้องของประชาชนเป็นอย่างไร นั่นต่างหากที่ผู้นำที่ดีต้องคิดได้และตระหนักรู้

ไม่ใช่แค่พอใจกับตัวเลขที่หน่วยงานทั้งหลายพากันรายงาน แต่ความเป็นจริงจากความเดือดร้อนของคนส่วนใหญ่ในประเทศเป็นอีกเรื่อง เพราะหากเศรษฐกิจดีจริง คนเหลือกินเหลือใช้ คงไม่มีผู้นำที่ใดในโลกที่จะบ้องตื้นไม่จัดการเลือกตั้งหรือหาเหตุให้ตัวเองได้อยู่ในอำนาจต่อไปนาน ๆ ยิ่งเป็นผู้มีอำนาจที่มีที่มาเช่นนี้ด้วยแล้ว ยิ่งต้องตีปี๊บและโหมประโคมกันใหญ่โต

แต่เมื่อเป็นสิ่งที่สวนทาง การหาเหตุเลื่อนเลือกตั้ง ยอมผิดคำสัญญามาหลายหนจึงเป็นเครื่องบ่งชี้ พอมันสุดทางเดินที่คนจะไม่ยอมฟังเหตุผลหากจะต้องเลื่อนกันอีกแล้ว รวมทั้งการใช้วิธีการและความได้เปรียบสารพัด จัดกระบวนทัพจนตัวเองแน่ใจแล้วว่าจะได้กลับมาสืบทอดอำนาจอีก จึงสร้างกระบวนการผลิตซ้ำทางความคิด ตอกย้ำให้คนเชื่อว่า ทุกอย่างจะเป็นไปตามโรดแมปเลือกตั้งแน่กุมภาพันธ์ปีหน้า

การสาธยายว่า กำลังต่อสู้กับอะไรอยู่ ต่อสู้เพื่อจะไปสู่ตำแหน่งที่ตัวเองไม่อยากเป็นมาก่อน เพื่อจะรักษาอำนาจ ผลประโยชน์ของตัวเอง ยืนยันว่าไม่ใช่ เพราะสิ่งที่ทำวันนี้สิ่งที่ตั้งใจคือจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ แล้วทุกอย่างดีขึ้นหรือไม่ ไม่ได้มุ่งหวังว่าต้องต่อสู้เพื่อให้ได้อยู่ได้นาน ทั้งหมดสุดแล้วแต่ประชาชน จะเห็นว่าวันนี้อะไรดีขึ้น อะไรที่มันแย่ลง

นี่ก็คือการผลิตซ้ำทางความคิด (แต่คนเริ่มไม่เชื่อ) เพราะหากคนไม่อยากสืบทอดอำนาจ ไม่หวังผลประโยชน์ส่วนตัวหรือพวกพ้องจริง ต้องปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามครรลองปกติ ไม่ว่าวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ไม่ใช่หน้าที่หรือภาระของคณะเผด็จการชุดนี้ที่จะต้องรับรู้อีกต่อไป เมื่อมีการเลือกตั้งและได้รัฐบาลที่ประชาชนเลือกแล้ว นั่นหมายถึงการปล่อยวางแล้วให้ทุกอย่างเป็นไปตามทางที่ควรจะเป็น

เว้นเสียแต่ความคิดตั้งต้นว่าด้วยการเสียของสูญเปล่า ต้องจัดการระบอบทักษิณให้สิ้นซาก วันนี้ถามว่าบรรลุเป้าหมายนั้นหรือไม่ คนส่วนใหญ่ต่างมองว่ากฎ กติกาที่ออกมานั้นเป็นการมัดมือมัดเท้าเครือข่ายของ ทักษิณ ชินวัตร ลามไปจนถึงบรรดานักการเมืองและพรรคการเมืองอื่นด้วยแทบจะกระดิกตัวไม่ได้ แล้วยังจะต้องห่วงอะไร หากไม่ใช่การหวงอำนาจหรืออยากจะอยู่ต่อ อยู่ยาว

กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนาเรื่องนี้ชัดเจนที่สุด เหมือนกับกรณีของ “คนอยากจน” จิตภัสร์ กฤดากร หรือ ตั๊น อดีตแกนนำ กปปส.ที่ยื่นคำร้องขอความช่วยเหลือเงินประกันตัวจากกองทุนยุติธรรม ในคดีร่วมกันเป็นกบฏ กรณีร่วมชุมนุมกับกลุ่มกปปส. ถามว่า คนแบบนี้หรือยากจน ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ สุดท้ายก็แค่แท็กติกด้านกฎหมายเพื่อประวิงเวลาในแง่ของคดีเท่านั้น

ที่จะว่าไปแล้วม็อบมีเส้นขนาดนี้ ไม่เห็นจะต้องกลัวอะไร คดีความต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเดินช้าจนน่าสงสัย ไม่ต่างอะไรจากคดีโรงพักร้าง 396 แห่งที่จนป่านนี้ป.ป.ช.ยังมะงุมมะงาหรา ล่าสุด ก็อ้างอีกว่าสำนวนยังไม่มีความสมบูรณ์เพียงพอจะสรุปสำนวนคดีได้ จึงให้คณะอนุกรรมการไปดำเนินการไต่สวนเพิ่มเติม เพื่อให้สำนวนมีความสมบูรณ์มากขึ้น ทั้งที่หลักฐานประจานอยู่โด่เด่

แต่ที่ทำให้หลายคนอดสงสัยไม่ได้ เป็นคดีที่เกี่ยวข้องต่อเนื่องกับเรื่องโรงพักร้างดังกล่าว ซึ่งเป็นในส่วนของอดีตผบ.ตร. เช่น พลตำรวจเอกเพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ที่ได้ดำเนินการต่อหลังจากนั้น กลับมีความคืบหน้ามากกว่า นี่ไง หลักฐานเรื่องสองมาตรฐานของกระบวนการยุติธรรมตั้งต้น ที่ท่านผู้นำควรแก้มากกว่าไปมโนเรื่องความขัดแย้งในอนาคต

Back to top button