พาราสาวะถี
คนกันเองและคนที่ต่อต้านระบอบทักษิณเปล่งเสียงวิจารณ์นี่แหละ คือสัญญาณที่ส่งไปถึงคณะเผด็จการคสช.และองคาพยพที่เกี่ยวข้อง สะท้อนปัญหาที่คนอื่นวิจารณ์แล้วถูกมองว่ามีอคติ ล่าสุด บรรเจิด สิงคเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์หรือนิด้า กล่าวในงานราชดำเนินเสวนา หัวข้อ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ บทบาทและความท้าทายทางการเมือง ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา มีประเด็นที่น่าสนใจหลายประการ
อรชุน
คนกันเองและคนที่ต่อต้านระบอบทักษิณเปล่งเสียงวิจารณ์นี่แหละ คือสัญญาณที่ส่งไปถึงคณะเผด็จการคสช.และองคาพยพที่เกี่ยวข้อง สะท้อนปัญหาที่คนอื่นวิจารณ์แล้วถูกมองว่ามีอคติ ล่าสุด บรรเจิด สิงคเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์หรือนิด้า กล่าวในงานราชดำเนินเสวนา หัวข้อ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ บทบาทและความท้าทายทางการเมือง ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา มีประเด็นที่น่าสนใจหลายประการ
บรรเจิดมองว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 มีรอยด่างอาจนำไปสู่ปัญหาทางการเมืองในอนาคตหลายประการ เช่น จุดเริ่มต้นองค์กรอิสระที่มีความไม่เป็นหลักเดียวกัน ไม่เซ็ตซีโร่เหมือนกันทุกองค์กร จะกลายเป็นปฐมบทของความท้าทาย อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับหลังการเลือกตั้งว่าใครจะเป็นผู้มีอำนาจทางการเมือง และ รอยด่างนี้จะทำให้ฝ่ายการเมืองนำไปถล่ม จนอาจเป็นผลสู่วิกฤตการณ์ทางการเมือง
สิ่งที่ควรทำมี 3 แนวทางคือ เซ็ตซีโร่ทุกองค์กรหรืออยู่ต่อก็อยู่ต่อให้หมด หรือระบุคุณสมบัติให้ชัดเจน หากใครไม่เข้าคุณสมบัติก็ต้องออกไป ถ้าเป็นในแนวทาง 3 ทางนี้จะไม่มีใครติดใจ แต่การเซ็ตซีโร่แบบไม่เป็นหลักเดียวกันนี้ เป็นรอยด่างที่ควรซักล้างโดยใช้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ชี้แจงถึงประโยชน์สาธารณะที่ประเทศจะได้รับ เคลียร์ได้เคลียร์ อย่าให้เป็นรอยด่างไปถึงภายภาคหน้า
ทว่าคงช้าไปแล้ว ในเมื่อผู้มีอำนาจและองคาพยพที่เกี่ยวข้องได้ใช้วิธีเลือกจิ้มไปแล้ว จะให้ใครอยู่ต่อ ให้ใครไปทั้งคณะ ส่วนความคาดหวังต่อการตีความของศาลรัฐธรรมนูญนั้นคงเป็นเรื่องยาก เพราะคนในองค์กรนี้ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับอานิสงส์จากการเลือกจะเซ็ตซีโร่ ขณะเดียวกันกระบวนการทำงานในอดีตที่ผ่านมาทั้งเรื่องใช้พจนานุกรมตัดสินคดี ตีความตามกระแส หรือแม้กระทั่งยกเอาถนนลูกรังมาเป็นประเด็นในการวินิจฉัยคดี แค่นี้ก็ทำให้เห็นถึงประสิทธิภาพขององค์กรดังว่าได้เป็นอย่างดี
ขณะเดียวกัน เมื่อผู้มีอำนาจยังคงใช้กฎหมายพิเศษและมีมาตราวิเศษอย่างม. 44 อยู่ในมือ นี่คือ สูตรสำเร็จที่ใครก็ไม่กล้าหือ แต่อย่างน้อยความเห็นทางวิชาการของคนที่ได้ชื่อว่ายืนอยู่ฝั่งเผด็จการก็ช่วยปลุกความรู้สึกของสังคมให้ได้เข้าใจว่า เมื่อเวลาผันผ่านไปซึ่งนี่ก็ไม่นานเท่าไหร่แค่เพียง 4 ปีกว่าหลังการยึดอำนาจ คนที่เคยหลงผิด คิดว่าเผด็จการดีและมีทางออกให้ประเทศ สุดท้ายก็ตาสว่างมองเห็นปัญหาที่รออยู่ข้างหน้า
โดยบรรเจิดเองไม่ได้มองแค่องค์กรอิสระเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่ยังเห็นปัญหาการเปลี่ยนแปลงหลักการทางรัฐธรรมนูญที่สำคัญ อาทิ ในมาตรา 236 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เกี่ยวกับป.ป.ช. ได้มีการเปลี่ยนหลักการสำคัญจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 คือ ในเรื่องสิทธิของประชาชนในการเข้าชื่อร้องเรียนการทำงานของประธานป.ป.ช.
จากเดิมให้เข้าชื่อร้องต่อประธานวุฒิสภา นำส่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อตั้งผู้ไต่สวนอิสระ แต่ในรัฐธรรมนูญ 2560 ให้ร้องต่อประธานรัฐสภาแทน ซึ่งในเรื่องนี้จะส่งผลกระทบอันสำคัญ หากหลังการเลือกตั้งฝ่ายการเมืองเป็นคนละขั้ว อาจเกิดการกลั่นแกล้งทำให้ขาดความอิสระในการทำหน้าที่ได้
นอกจากนั้น ยังมีประเด็นเรื่องคณะกรรมการสรรหาองค์กรอิสระ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมาทั้ง 3 ฉบับ เป็นคนละโมเดล โดยรัฐธรรมนูญ 2540 ให้ฝ่ายการเมืองมีบทบาทมาก รัฐธรรมนูญ 2550 ให้ศาล องค์กรอิสระมีบทบาทหลัก ส่วนรัฐธรรมนูญ 2560 ให้บุคคลซึ่งมาจากองค์กรอิสระ 4-5 คนมีบทบาทสำคัญ ซึ่งคนเหล่านี้จะต้องมีคุณสมบัติเหมือนกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
หากเกิดปัญหาทางการเมือง ของเดิมในฉบับ 2550 ให้ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งมีสถานะเป็นองค์กรตุลาการ มีหลักประกันความอิสระ เป็นผู้วินิจฉัย แต่ในรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นเพียงคณะกรรมการสรรหา เอาหลักประกันความอิสระใดมาวินิจฉัย เมื่อวินิจฉัยแล้วจะสามารถโต้แย้งต่อได้หรือไม่ จะเป็นจุดสำคัญนำไปสู่ประเด็นทางการเมืองได้
น่าเสียดายว่า ความเห็นในลักษณะนี้ออกมาไม่ถูกที่ถูกเวลา หรือความจริงคนอย่างบรรเจิดหรือคนอื่นที่ถือหางฝั่งอำนาจเผด็จการ ควรใช้ความกล้าหาญเสนอแนะองคาพยพที่เกี่ยวข้องให้ไตร่ตรองรอบคอบกันก่อนหน้านั้น ไม่ใช่ปล่อยผ่านจนยากที่จะแก้ไขได้เหมือนเช่นทุกวันนี้ มีหรือผู้ที่สมประโยชน์จะยอมเสียสละ ไม่ต้องพูดถึงผู้ที่เสียประโยชน์เพราะไม่สามารถเรียกร้องอะไรได้อยู่แล้ว ทั้งหมดขึ้นอยู่กับความพอใจของคนหนึ่งคนกับที่ปรึกษาอีกแค่ไม่กี่คน
อย่างไรก็ตาม ท่วงทำนองทักท้วงของอาจารย์นิด้า เวลานี้ถือว่าเกิดขึ้นต่อเนื่อง โดย ณพงศ์ นพเกตุ ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล และอาจารย์คณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม ออกมาฟันธงว่า รัฐบาลจะเปิดให้มีการเลือกตั้งตามโรดแมปคือในช่วงต้นปีหน้าแน่นอน จากเหตุผลหากยังไม่กำหนดวันเลือกตั้งรัฐบาลจะถูกกดดันจากทั้งในประเทศและนอกประเทศ
ไม่เพียงเท่านั้น อาจารย์ท่านนี้ยังเชื่อรัฐบาลจะไม่สามารถรับแรงกดดันดังกล่าวไปได้อีกนาน เพราะยิ่งเลือกตั้งช้าก็จะยิ่งไม่เป็นผลดีกับประเทศ และก็ยกเอาคำพูดของท่านผู้นำมาตอกย้ำว่า หากปล่อยไปเรื่อย ๆ คะแนนเสียงก็จะไม่ดีหรือจะยิ่งแย่ลง ตรงนี้คือความชัดเจนและเป็นการยืนยันเรื่องท่าทีเลือกตั้งตามโรดแมปของคนในรัฐบาลคสช.ได้เป็นอย่างดี
ส่วนที่ผู้อำนวยการนิด้าโพลกระตุกเตือนว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เป็นทหารเชื่อว่าจะรักษาคำพูดแน่นอนนั้น ประเด็นนี้คงมีคนค้านกันจำนวนมาก เพราะแค่ขอเวลาอีกไม่นานมันก็นานกว่ารัฐบาลเลือกตั้งปกติแล้ว เช่นเดียวกับที่บอกว่าเราจะทำตามสัญญา แค่สัญญาว่าจะเลือกตั้งก็เลื่อนกันมาหลายกระทอกแล้ว นี่จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่แม้ท่านผู้นำจะย้ำหนักแน่นอย่างไรว่าเลือกตั้งตามโรดแมป ก็ยังมีคนจำนวนไม่น้อยไม่เชื่อน้ำคำอยู่ดี