แบงก์ – ดอกเบี้ยขาขึ้น

ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ค่อย ๆ ปรับขึ้นมากันแล้ว


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ค่อย ๆ ปรับขึ้นมากันแล้ว

นำโดย 4 แบงก์ใหญ่ KBANK BBL SCB และ KTB

ปัจจัยที่หนุนราคาฟื้นตัวมาจากการคาดการณ์กันว่า อัตราดอกเบี้ยกำลังอยู่ในช่วงของขาขึ้น

ขณะเขียนต้นฉบับ ยังไม่ทราบผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด  เกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

แต่หากดูจากความเห็นของนักวิเคราะห์ทั้งของวอลล์สตรีทและในประเทศไทย ต่างให้น้ำหนักตรงกันว่า มีโอกาสปรับขึ้น (อีก 0.25%) สูงมาก

หรือคิดออกมาเกินกว่า 80-90%

นักวิเคราะห์ต่างมองครับว่า หากเฟดขึ้นดอกเบี้ย

ก็จะเป็นอีกปัจจัยกดดันให้แบงก์ชาติของไทย ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยตามไป

ล่าสุด ธนาคารกลางของอินโดนีเซีย และมาเลเซีย ให้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายกันแล้ว

ทว่า ในส่วนของไทยเองนั้น อย่างที่รับทราบกันว่า หากแบงก์ชาติจะทำอย่างไรเกี่ยวกับดอกเบี้ยนโยบาย ก็ต้องเอียงหูไปฟังกระทรวงการคลัง แล้วก็รัฐบาลด้วย

แน่นอนว่า ในขณะนี้รัฐบาลเองยังไม่อยากให้ขึ้นดอกเบี้ย

เพราะจะไปกระทบกับการฟื้นตัวเศรษฐกิจ

แต่หากแบงก์ชาติยังคงดอกเบี้ยที่ระดับ 1.50% ไว้ต่อไปอีก (นักวิเคราะห์คาดว่าจะปรับขึ้นในไตรมาส 4/2561 = 0.25%) ก็ต้องดูตัวเลขสำคัญอย่างอัตราเงินเฟ้อด้วย

ล่าสุดตัวเลขเงินเฟ้อของประเทศไทยเริ่มขยับเข้าใกล้อัตราดอกเบี้ยนโยบาย

จากรายงานทางการเงินของแบงก์ชาติ ตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไป ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2561 ขึ้นมาอยู่ที่  1.1%

และเงินเฟ้อพื้นฐาน อยู่ที่ 0.8%

ขณะที่ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา (เมษายน-พฤษภาคม) ตัวเลขเงินเฟ้อเริ่มขยับขึ้นมาอีก จากราคาสินค้าที่ปรับขึ้น ตามทิศทางของราคาน้ำมัน

อาจมีคำถามว่า “เงินเฟ้อ” กับ “ดอกเบี้ยนโยบาย” สัมพันธ์กันอย่างไร

คำตอบก็คือ ตัวเลขเงินเฟ้อ จะต้องไม่สูงกว่า ดอกเบี้ยนโยบาย

ไม่เช่นนั้นแล้ว เท่ากับว่า ดอกเบี้ยจะออกมา “ติดลบ” ในทันที

ว่ากันว่า นโยบายการเงินของแบงก์ชาติเป็นแบบ Inflation Targeting

หรือการใช้นโยบายการเงินเข้ามา “ควบคุม” อัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับเหมาะสม

และให้สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ

แต่หากการขยายตัว ทำให้ปัญหาเงินเฟ้อที่สูงมากด้วยก็จะไม่ดี เพราะราคาสินค้าที่สูงขึ้นจะกระทบกับกำลังซื้อจริงของประชาชน

การคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับเหมาะสม ไม่ผันผวนมากจึงสำคัญ

แนวทางที่จะคุมเงินเฟ้อได้ ก็ต้อง “ปรับอัตราดอกเบี้ย” ให้สูงขึ้น เมื่อมองว่าเงินเฟ้อจะสูงขึ้น

และเมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงขึ้น ธนาคารพาณิชย์ก็จะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นด้วย

ดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นนี้ จะขึ้นทั้งดอกเบี้ยทั้ง “เงินฝาก” และ “เงินกู้”

แต่ดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงขึ้น จะทำให้เกิดการชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจ

เพราะ “ต้นทุน” ของผู้ประกอบการจะสูงขึ้น ทำให้เวลาขอสินเชื่อจึงต้องดีดลูกคิดกันมากหน่อยว่าคุ้มไหม

และนี่คือเรื่องที่ “แบงก์ชาติ” กับ “คลัง” จะต้องไปนั่งจับเข่าคุยกัน

ว่าจะควบคุมอัตราเงินเฟ้อ

และรักษาระดับดอกเบี้ยนโยบาย 1.50% ไว้ต่อไปได้อย่างไร

สมมุติว่าแบงก์ชาติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจริง ธนาคารก็จะปรับดอกเบี้ยขึ้นตาม และแม้ว่าจะทำให้สินเชื่อเติบโตช้าลง แต่นักวิเคราะห์ก็มองกันว่า สเปรดหรือส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจะถ่างขึ้น

และส่งผลต่อตัวเลขกำไรจากดอกเบี้ยของธนาคารเพิ่มขึ้นไปได้อีก

การลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคารในขณะนี้

ดูเหมือนนักลงทุนจะมั่นใจว่า แบงก์ชาติจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแน่ ๆ

และอาจจะเร็วกว่าที่คาดกันไว้

Back to top button