วันชี้ชะตากรีซ-ยูโรโซนพลวัต2015

ภายในเที่ยงคืนวันนี้ จะรู้กันไปไม่ต้องรอด้วยความอึดอัดอีกต่อไป ว่าชะตากรรมของรัฐบาลกรีซ และชะตากรรมของยูโรโซน จะเปลี่ยนแปลงไปเช่นใด


ภายในเที่ยงคืนวันนี้ จะรู้กันไปไม่ต้องรอด้วยความอึดอัดอีกต่อไป ว่าชะตากรรมของรัฐบาลกรีซ และชะตากรรมของยูโรโซน จะเปลี่ยนแปลงไปเช่นใด

ข่าวล่าสุดจากยุโรปที่รับได้คือ การเจรจาขั้นเด็ดขาดและสุดท้ายระหว่าง นายกรัฐมนตรี อเล็กซิส ซีปราส ของกรีซ กับตัวแทนของเจ้าหนี้ 3 ฝ่าย (ทรอยก้า) ประกอบด้วย กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ECB และสหภาพยุโรป กับบรรดาผู้นำชาติยูโรโซนได้เริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมา

นายกรัฐมนตรีกรีซเดินทางไปเยือนกรุงบรัสเซลส์ในการประชุมธนาคารกลางยุโรป ตามคำเชิญของ นายฌอง-คล้อด ยุงเกอร์ ประธานกรรมาธิการยุโรป ผู้ยืนกรานว่า กรีซจะต้องอยู่ในยูโรโซนต่อไปด้วยต้นทุนทุกราคา เพื่อคลี่คลายวิกฤตหนี้สิน ซึ่งกรีซหวังที่จะปลดล็อกเงินช่วยเหลือให้ลุล่วง

แม้ว่าจะยังไม่รู้ผลลัพธ์ที่ชัดเจน แต่ตลาดเก็งกำไรในยุโรป มีการปรับตัวตามการคาดเดาไปต่างๆ นานา

ตลาดอัตราแลกเปลี่ยน คาดว่าผลการเจรจาจะจบลงในทางบวก และกรีซจะอยู่ในยูโรโซนต่อไป ทำให้ค่าเงินยูโรแข็งค่าที่สุดในรอบ 6 ปีเทียบกับค่าดอลลาร์ 2 วันติดกันแล้ว

ราคาทองคำร่วงลงเป็นขาลงเพราะคนเคลื่อนตัวไปถือเงินยูโรเพื่อเก็งกำไรว่าผลการเจรจาจะไปได้ดี

ตลาดหุ้นทั่วโลกเหวี่ยงตัวในกรอบแคบๆ ระหว่างที่รอความชัดเจน บางตลาดวิ่งขึ้นเล็กน้อย บางตลาดลบเล็กน้อย เพราะคาดเดาไม่ถูกว่าผลของการเจรจาจะออกมาเป็นอย่างไร เนื่องจากเป็นประเด็นซับซ้อน ระหว่างเจตนารมณ์ทางการเมือง และวินัยทางการคลังของประเทศที่ย่ำแย่ที่สุดของยุโรปมายาวนาน

ความหวั่นไหวของตลาดหุ้นในยุโรปในสัปดาห์นี้ จนถึงล่าสุดคืนที่ผ่านมา จะสะท้อนได้ดีว่า ปัญหานี้สำคัญเพียงใด

ฝ่ายที่มั่นใจมากว่าผลลัพธ์จะลงเอยด้วยดีในลักษณะไม่มีฝ่ายใดได้ทั้งหมด และไม่มีฝ่ายใดเสียทั้งหมด แม้จะไม่เรียกว่าพบกันครึ่งทางก็ตาม เพราะว่าการเข้ามาแทรกแซงการเจรจาเบื้องหลังของสหรัฐที่ต่อสายตรงกับทั้งผู้นำยูโรโซน และกรีซตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยระบุว่าจะต้องหาทางลงให้ได้ เพราะผลกระทบทางลบนั้น จะเป็นห่วงโซ่ที่มากกว่ากับยูโรโซนเอง

แม้ว่าท่าทีของนายกรัฐมนตรีกรีซจะดูแข็งกร้าว แต่ก็เป็นที่รู้วงในว่า ท่าทีที่แท้จริงของกรีซนั้น น่าจะโอนอ่อนผ่อนปรนตามข้อเรียกร้องของยูโรโซนในมาตรการปฏิรูปการใช้จ่ายเงินของรัฐบาลมากขึ้นซึ่งเป็นเงื่อนไขที่อยู่ในภาวะจำยอมมาตั้งแต่ต้น เพียงแต่อาจจะมีการยืดหยุ่นมากกว่าเดิมในการบีบคั้น

สำหรับรัฐบาลกรีซ การได้รับลดหย่อนเงื่อนไขมหาโหดข้อใดข้อหนึ่งในที่เคยปรากฏในข้อตกลงเดิม เพื่อได้รับเงินกู้ก้อนใหญ่ไปใช้หนี้เก่าที่จะต้องชำระในวันศุกร์ที่จะถึงนี้ ก็เพียงพอแล้วที่จะถือเป็นชัยชนะในการเจรจา แม้ว่าจะไม่ได้แก้ปัญหาทั้งหมดอย่างเบ็ดเสร็จ แต่ก็ยังดีกว่าไม่ได้อะไรเลยจากการเจรจา

เงื่อนไขมหาโหด ที่คนกรีกถือประหนึ่งเป็นสัญญาทาส อ้างว่าเพื่อสร้างวินัยทางการคลัง 5 ประการ อันเป็นสิ่งที่เรียกว่าการปฏิรูปวินัยทางการคลัง ประกอบด้วย

– โละพนักงานรัฐวิสาหกิจ 1.5 หมื่นคน

– ผ่อนคลายกติกาของกฎหมายแรงงานเสียใหม่ ให้มีการจ้างงานที่มีเงื่อนไขให้นายจ้างปลดคนงานได้ง่ายขึ้น

– ลดค่าจ้างขั้นต่ำในกฎหมายลง 20% จาก 711 ยูโรต่อเดือน เหลือ 600 ยูโรต่อเดือน

– เจรจากับธนาคารเจ้าหนี้ที่ถือพันธบัตรรัฐบาลกรีซ ในการลดหนี้

– ปรับปรุงเงื่อนไขของระบบบำนาญเจ้าหน้าที่รัฐให้ต่ำลง

คนกรีกนั้นรู้ดีว่า สัมฤทธิ์ผลของพรรคไซริซาในการต่อรองกับทรอยก้านั้น มีไม่มากนัก แต่ฉันทามติในการเลือกพรรคนี้แทนพรรครัฐบาลผสมเดิมที่ไร้ประสิทธิภาพ คือการแสดงความไม่พอใจต่อทรอยก้าโดยตรง ต้องการให้ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขมหาโหดลงไปจากเดิม หลังจากทนมานาน 4 ปีเศษ หากได้ลดหย่อนอีกเล็กน้อยก็เพียงพอจะเฉลิมฉลองกันแล้ว เป็นที่มาของความเชื่อมั่นว่าการเจรจาจะลุล่วงได้ แม้จะยากลำบาก

ทุกคนที่ร่วมวงการเจรจา รู้ดีว่าอำนาจในการต่อรองของรัฐบาลกรีซในเรื่องประนอมหนี้นั้นมีน้อยเกินไป เรียกว่ามีไพ่ในมือที่จะเล่นต่ำกว่าคู่เจรจา แต่จุดเด่นที่สำคัญสุดที่ทำให้พวกเขามีความสำคัญมีแค่เพียงว่า ในทางภูมิศาสตร์การเมืองแล้ว กรีซมีจิ๊กซอว์สำคัญในความมั่นคงของนาโต้

ในทางปฏิบัติ การออกจากยูโรโซนของกรีซ เพราะเจ้าหนี้ไม่ยอมรับแผนปฏิรูปของกรีซเนื่องจากไม่มีแผนในการดำเนินงานเป็นพิเศษแต่อย่างใดที่แสดงว่ากรีซยึดมั่นในการปฏิรูป ทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจกับยูโรโซนไม่มากนัก เพราะตลาดทุกแห่งประเมินแล้วว่า การออกจากยูโรโซนของกรีซ ไม่ได้บั่นทอนเสถียรภาพหรือความน่าสนใจของยูโรโซน

ความยุ่งยากในเชิงอุดมคติที่รัฐบาลกรีซในปัจจุบัน ไม่เคยพยายามทำความเข้าใจว่า หนทางที่กรีซจะฟื้นฟูความเชื่อมั่นของตลาดได้คือต้องปฏิรูปโครงสร้างตามที่กรีซได้สัญญาไว้ จะต้องได้รับการปัดเป่าจากการเจรจาในคืนที่ผ่านมาและคืนนี้ให้ได้ และหลายคนเชื่อว่า ด้วยการแทรกแซงของสหรัฐ จะทำให้ความฉุนเฉียวของผู้นำชาติยูโรโซนลดลงไปได้มาก

หากการมองโลกในเชิงบวกเช่นนี้ เป็นสิ่งถูกต้อง เราจะเห็นตลาดหุ้นและตลาดเงินกลับมาสู่ความโล่งอกและร้อนแรงเป็นขาขึ้นไปอีกนานพอสมควร

อย่างน้อยความสมเหตุสมผลก็ได้เกิดขึ้น แม้จะยังมีปัญหาให้แก้ไขอีกในอนาคต

 

Back to top button