“จ๊อบ GLOW” ที่สุดแสนท้าทายของ กกพ.

ถือเป็นประเด็นที่เกิดขึ้นและได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก กรณี บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) หรือ GLOW ขายไฟเถื่อนให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หรือไม่อย่างไร ? โดยเรื่องนี้คงถูกหยิบยกไปพูดถึงกันต่อไปในอีกระยะเวลาหนึ่งอย่างแน่นอน เนื่องจากความซับซ้อนและซ่อนเงื่อนของกรณีที่เกิดขึ้น อาจส่งผลให้ต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียดและเข้มข้นต่อไป


แฉทุกวันทันเกมหุ้น

ถือเป็นประเด็นที่เกิดขึ้นและได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก กรณี บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) หรือ GLOW ขายไฟเถื่อนให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หรือไม่อย่างไร ? โดยเรื่องนี้คงถูกหยิบยกไปพูดถึงกันต่อไปในอีกระยะเวลาหนึ่งอย่างแน่นอน เนื่องจากความซับซ้อนและซ่อนเงื่อนของกรณีที่เกิดขึ้น อาจส่งผลให้ต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียดและเข้มข้นต่อไป

โดยเรื่องราวที่เกิดขึ้นนั้น เริ่มต้นจากการที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2559 ให้ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ประเภทสัญญา Firm ระบบ Cogeneration ที่จะสิ้นสุดอายุสัญญาในปี 2560-2561 ได้รับการต่ออายุสัญญาเดิมออกไปเป็นระยะเวลา 3 ปี (กลุ่มที่ 1)

แน่นอนว่า โรงไฟฟ้า GLOW โครงการ 1” มีรายชื่อจัดอยู่ในกลุ่มต่อสัญญาตามมติ กพช.ด้วย ซึ่งถ้ามองตามท้องเรื่องเช่นนี้แล้ว ก็ไม่น่าจะถือว่ามีปัญหาขัดข้องอันใดเกิดขึ้น หากแต่เมื่อ กฟผ. ได้ดำเนินการตามขั้นตอนปฏิบัติ และได้ทำการตรวจสอบสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันอย่างละเอียดแล้วนั้น กลับพบว่า โครงการฯ ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขให้สามารถต่อสัญญาได้ตามมติดังกล่าว

โดย กฟผ.ได้ระบุเนื้อหาใจความในหนังสือที่ส่งถึงเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 ว่า สัญญาระหว่าง GLOW กับ กฟผ. กำหนด “ให้มีอายุสัญญานับตั้งแต่วันเริ่มต้นซื้อขายไฟฟ้าตามกำหนดเดิม เดือนกันยายน 2538 เป็นระยะเวลา 21 ปี” ดังนั้น หากพิจารณาตามเงื่อนไขดังกล่าวแล้ว สัญญาซื้อขายไฟฟ้าจึงสิ้นสุดในเดือนกันยายน 2559

หรือเอาให้ง่าย คือ โรงไฟฟ้าที่ GLOW ยื่นรายชื่อเข้ามาอยู่ในกลุ่มต่ออายุสัญญาใหม่ ไม่ได้สิ้นสุดสัญญาเดิมในปี 2560 แต่สิ้นสุดไปตั้งแต่ปี 2559 แล้ว!

นั่นจึงเป็นที่มาของการที่ กฟผ. จึงต้องสอบถามไปยัง กกพ. ถึงแนวทางดำเนินการ ขณะที่ก่อนหน้านี้ได้มีการประชุมหารือร่วมกับทางบริษัทฯ เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2560 โดยเห็นพ้องต้องกันให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาดเรื่องวันสิ้นสุดสัญญา เพราะแน่นอนว่า GLOW เองก็ยืนกรานว่า โรงไฟฟ้าของตัวเองสิ้นสุดสัญญา วันที่ 31 มีนาคม 2560 ไม่ใช่ตามที่ กฟผ.ระบุก่อนหน้านี้คือ 30 กันยายน 2559

ก็เป็นที่น่าสนใจ เพราะ กกพ.ไม่รอช้าหลังได้รับแจ้งเรื่องดังกล่าว โดยมีคำสั่งให้ กฟผ. “รับซื้อไฟฟ้าจากโครงการของบริษัทฯ ไปพลางก่อน” (อ้างอิงเนื้อหาใจความจากหนังสือที่ กกพ.ส่งไปยัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2560) เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับการจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำแก่ภาคอุตสาหกรรม พร้อมทั้งเสนอให้กระทรวงพลังงานจัดให้ กพช.มีการพิจารณาการสิ้นสุดอายุสัญญาของกลุ่มที่ 1 ให้ครอบคลุมในปี 2559-2561 อีกซะด้วย

สำหรับที่มาของโรงไฟฟ้า GLOW โครงการ 1 ขนาด 150 MW แห่งนี้ก็ถือว่ามีประวัติน่าสนใจเพราะเป็น SPP ระบบโคเจนฯ แห่งแรกของประเทศ พัฒนาโดย “กลุ่มบ้านปู” ขณะที่ GLOW ไปซื้อโปรเจกต์ต่อมาอีกทอดหนึ่ง และกลายเป็นเจ้าของมือที่ 3 ซึ่งนั่นอาจทำให้ GLOW ไม่ได้เข้าใจรายละเอียดทั้งหมด โดยเฉพาะในส่วนของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าก็เป็นได้

เป็นที่น่าสนใจว่า โครงการนี้มีความล่าช้าเกิดขึ้นจนส่งผลให้ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ได้ทันตามกำหนดคือเดือนกันยายน 2538 โดยไปเริ่มจ่ายไฟฟ้าได้จริงในเดือนเมษายน 2539 หรือราว 7 เดือนหลังจากนั้น ซึ่งไฮไลต์สำคัญอยู่ที่สัญญาฯ กำหนดให้เริ่มนับเวลาตามอายุสัญญาตั้งแต่ “วัน SCOD คือ วันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (กำหนดเดิม)” ไม่ใช่ “วัน COD คือ วันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (วันจ่ายจริง)”

ฉะนั้น อายุสัญญา 21 ปีควรถูกนับตั้งแต่วัน SCOD ถูกต้องหรือไม่? คงเป็นคำถามสำคัญต่อความเป็นไปของเรื่องนี้มากที่สุด              

งานนี้จะถือว่า GLOW ไม่รู้จริง ๆ หรือแกล้งโง่เพื่อตีเนียนให้โรงไฟฟ้าตัวเองได้เกาะขบวนไปต่ออายุด้วยคงสุดแล้วแต่ เพราะเป็นเรื่องของมุมมอง แต่คงต้องมีการตั้งคำถามไปยัง “กกพ.” ว่ามีความเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไรในเมื่อมติ “กพช.” ระบุไว้เป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจนอยู่แล้วตามรายละเอียดข้างต้น และการกระทำของ กกพ.ที่สั่งให้ “กฟผ.” รับซื้อไฟฟ้าไปพลาง ๆ ก่อน ระหว่างรออนุญาโตฯ ชี้ขาด ถือว่าอยู่ในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของ กกพ.หรือไม่?

ขณะเดียวกัน ผลการพิจารณาในส่วนของอนุญาโตฯ จะออกมาเป็นอย่างไร คงเป็นได้เพียงแค่การระงับข้อพิพาทระหว่างคู่สัญญา แต่จะดีเลิศถึงขั้นมีผลทางกฎหมายให้ GLOW เข้าข่ายต่อสัญญาได้เช่นนั้นเชียวหรือไม่ เรื่องนี้คงต้องวัดใจ กกพ.ว่าจะใจถึงพึ่งได้มากน้อยเพียงใด และเป็นที่น่าติดตามต่อว่า ประเด็นระดับที่เกี่ยวข้องเกี่ยวพันกับมติ กพช. จะสิ้นสุดลงด้วยเพียงการชี้ขาดของอนุญาโตฯ ได้เช่นนั้นจริงหรือ

เรื่องนี้เองจะลงเอยว่าเป็นการกระทำอันขัดต่อกฎหมายจนทำให้ประเทศชาติเสียหาย โดยมี กกพ.เป็นผู้สั่งการให้ กฟผ.รับซื้อไฟฟ้าหลังสิ้นสุดอายุสัญญาแล้ว และ GLOW เป็นผู้รับผลประโยชน์หรือไม่ ? คงต้องรอดูกันต่อไป

แต่ที่แน่ ๆ ผลประโยชน์ที่ GLOW ได้รับ คงไม่ใช่ในส่วนของรายได้ค่าไฟฟ้าจาก กฟผ.เพียงอย่างเดียว เพราะด้วยความที่โครงการนี้ยังคงความเป็น SPP อยู่ นั่นแปลว่าต้นทุนก๊าซที่นำมาใช้ผลิตไฟฟ้าเพื่อขายให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมย่อมถูกลงด้วยน่ะซี…ตัวเลขมาร์จิ้นคงสูงน่าดู!

อิ อิ อิ

Back to top button