พาราสาวะถี
ระหว่างวันที่ 20-26 มิถุนายนนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีกำหนดการเดินทางไปเยือนอังกฤษและฝรั่งเศส โดยจะได้พบปะหารือกับ เทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร และ เอ็มมานูแอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศส โดยการไปครั้งนี้เป็นไปตามมติของคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปเพื่อฟื้นปฏิสัมพันธ์ทางการเมืองและยกระดับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนกับประเทศไทย
อรชุน
ระหว่างวันที่ 20-26 มิถุนายนนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีกำหนดการเดินทางไปเยือนอังกฤษและฝรั่งเศส โดยจะได้พบปะหารือกับ เทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร และ เอ็มมานูแอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศส โดยการไปครั้งนี้เป็นไปตามมติของคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปเพื่อฟื้นปฏิสัมพันธ์ทางการเมืองและยกระดับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนกับประเทศไทย
แน่นอนว่า ท่านผู้นำของไทยประกาศแล้วว่าจะถือโอกาสนี้ได้ไปชี้แจงเรื่องโรดแมปการเลือกตั้งต่อผู้นำทั้งสองประเทศด้วย อย่างไรก็ตาม มีการยืนยันว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นต้องรอหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษกไปแล้ว ก่อนที่พลเอกประยุทธ์จะรีบออกตัวว่า “อย่าหาว่าผมเอาเรื่องนี้มาอ้างทางนี้ มันคนละเรื่อง” ตรงนี้เชื่อว่าคนไทยทุกคนเข้าใจดี
อย่างไรก็ตาม ในการเดินทางไปอังกฤษหนนี้กับข่าวที่ออกมาก่อนหน้าว่า ทักษิณ ชินวัตร จะจัดงานฉลองวันครบรอบวันคล้ายวันเกิดปีที่ 51 ให้กับน้องสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในวันที่ 21 มิถุนายนที่เมืองผู้ดี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่บิ๊กตู่พำนักอยู่ที่นั่นพอดี จึงมีคำถามจากนักข่าวว่าผู้นำประเทศไทยจะนำประเด็นเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดนหารือกับนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรด้วยหรือไม่
คำตอบของท่านผู้นำคือ ไม่มีการหารือเพราะไม่ใช่หน้าที่ในระดับผู้นำ เป็นเรื่องของฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะต้องไปดำเนินการ เป็นอันว่าจบข่าว ส่วนที่จะมีการจับแพะชนแกะหรือต่อจิ๊กซอว์กันต่าง ๆ นานา เรื่องของการพบปะเจรจาระหว่างคนสองฝ่ายนั้น คิดและเชื่อกันได้ แต่ในความเป็นจริงไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะทุกย่างก้าวของแต่ละฝ่ายต่างถูกจับตาอย่างใกล้ชิด
ยิ่งหันกลับมาพิจารณากระบวนท่าของคณะเผด็จการคสช.ถึงเวลานี้แล้ว ต่างเชื่อมั่นในกลยุทธ์ที่ได้วางไว้นับตั้งแต่การรัฐประหารจนกระทั่งไปถึงการหย่อนบัตร เชื่อว่าจะสามารถล้มและล้างบางเครือข่ายระบอบทักษิณได้สำเร็จ ไม่มีการเสียของเป็นอันขาด ที่มองไปไกลกว่านั้นคือการอยู่ในอำนาจต่อไป ที่เหลือรายทางคือจะสกัดไม่ให้เกิดแรงกระเพื่อมอย่างไรเท่านั้น
ทั้งนี้ ประเด็นที่น่าสนใจจากถ้อยแถลงของท่านผู้นำในห้วงเวลาที่ไม่อยู่ประเทศไทยนั้น มีการมอบหมายให้ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เตรียมการในเรื่องการหารือร่วมกับพรรคการเมืองรวมไปถึงคุยประเด็นการปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรม นั่นหมายความว่า การนัดหมายพรรคการเมืองเพื่อพูดคุยจะต้องเกิดขึ้นภายในสัปดาห์นี้
สอดคล้องกับสิ่งที่ วิษณุ เครืองาม ยืนยัน การประสานงานกับพรรคการเมืองเป็นหน้าที่ของ พลเอกชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งสิ่งที่ต้องรอคำตอบคือจะนัดหมายคุยกันในวันใด เวลาไหนและมีการเชิญใครบ้าง ตรงนี้คงพอที่จะคาดเดากันได้คือ ส่งเทียบเชิญทุกพรรคการเมือง และจะมีพรรคที่ปฏิเสธเข้าร่วมก่อนหน้านี้ ยังคงยืนกระต่ายขาเดียวที่จะไม่ร่วมวงถกหรือไม่
ส่วนเรื่องผลกระทบต่อโรดแมป ฟังคำยืนยันจากวิษณุคงไม่มีปัญหาอะไร ทุกอย่างมาถึงวันนี้ยังคงลื่นไหลไปตามเงื่อนเวลาที่ควรจะเป็น พอเกิดข่าวเรื่องกระแสการดูดอย่างรุนแรง ก็น่าจะเป็นปัจจัยทำให้บรรดาพรรคการเมืองและนักการเมืองเอง ก็น่าจะหันกลับไปจัดการปัญหาชีวิตของตัวเองและพรรคที่สังกัด ก่อนที่จะให้ความสนใจกับเรื่องวันเวลาเลือกตั้ง
ทางด้านท่านผู้นำก็พูดเชิงหลักการถึงเรื่องการเดินสายดูดว่า ถ้าทุกอย่างทำตามกฎหมาย อยู่ในกติกาก็ไม่มีปัญหา แต่อย่าดึงตนเข้าไปเกี่ยวข้อง แหม!ถ้าเดินสายแสวงหาแนวร่วมทางการเมืองไม่ผิดกฎหมายเช่นนี้ ถ้าเช่นนั้นเดาทางไว้ล่วงหน้าได้หรือไม่ว่า การจะเดินเท้าหาสมาชิกพรรคทั่วประเทศของ สุเทพ เทือกสุบรรณ ก็ไม่น่าจะติดขัดอะไร
แล้วถ้าเกิดทุกพรรคการเมืองจะมีตัวแทนเดินสายไปพบปะกับอดีตส.ส.หรือนักการเมืองในท้องถิ่นได้ เหมือนอย่างที่กลุ่มสามมิตรกำลังทำอยู่ การตีความของท่านผู้นำและฝ่ายที่ดูแลความมั่นคงอย่างคสช.จะเป็นบรรทัดฐานเดียวกันหรือไม่ ตรงนี้ถือเป็นความท้าทายและไม่แน่ใจว่าจะมีนักการเมืองในนามตัวแทนของพรรคการเมืองใดบ้างที่จะทดสอบมาตรฐานดังว่า
แม้เสียงส่วนใหญ่ที่จะร่วมหัวจมท้ายกับผู้นำเผด็จการคสช.ต่อไป ต่างเห็นตรงกันว่า การจะกลับมามีอำนาจอีกครั้งผ่านกระบวนการเลือกตั้งต้องได้อดีตส.ส.มาอยู่ในมือ ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้นตีตราว่านักการเมืองชั่วนักการเมืองเลวมาตลอดกว่า 4 ปี ขณะเดียวกันก็ถือเป็นการบอนไซหรือทำลายพรรคเพื่อไทยไปในตัวด้วย จึงถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า
แต่มีเสียงเตือนดัง ๆ มาจากคนกันเองอย่าง ไพศาล พืชมงคล ที่ปรึกษาของบิ๊กป้อมสะกิดเตือนท่านผู้นำและชาวคณะที่กำลังตั้งหน้าตั้งตาดูดว่า พรรคเพื่อไทยจึงไม่อาจถูกทำลายด้วยการเปลี่ยนพรรคของอดีตส.ส. แต่จะถูกทำลายได้ถ้าหากประชาชนเปลี่ยนมานิยมชมชอบลุงตู่! ซึ่งตรงนี้ถือเป็นโจทย์ใหญ่และยากเป็นอย่างมาก เพราะความชอบของคนนั้นมันไม่อาจจะบังคับกันได้
ในภาวะที่มีกฎหมายปิดปาก อาจสะกดได้ในส่วนของเสียงวิจารณ์หรือการลุกขึ้นมาตรวจสอบรัฐบาล แต่ถ้าไปถามความรู้สึกถึงก้นบึ้งในหัวใจของประชาชน คำตอบก็รู้อยู่แก่ใจกันดี สิ่งที่ทำมาทั้งหมดไม่ว่าจะประชารัฐ ไทยนิยมยั่งยืน หากมั่นใจว่าสามารถซื้อใจประชาชนได้ เราก็คงไม่เห็นมาตรการเดินสายดูดอย่างที่เป็นอยู่ เพราะถ้าคนชอบ ไม่จำเป็นต้องไปหาคนดังหรือคนที่เคยเป็นอดีตส.ส.มาลงสมัคร ส่งใครลงคนก็เลือก แต่นี่มันไม่ใช่ สิ่งที่ทำให้เห็นก็เป็นภาพสะท้อนได้อย่างดีว่า อาการของคณะเผด็จการนั้นส่อถึงอะไร