พาราสาวะถี
ความไม่นิ่งคือมูลเหตุของข่าวลือ ข่าวปล่อยและความเคลื่อนไหวที่ส่อเค้าว่าพรรคเพื่อไทยจะมีปัญหาอันเนื่องมาจากพลังดูดของผู้มีอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด หากมองอย่างสอดคล้องต้องกันเรื่องของส.ส.เกรดเอพื้นที่ภาคอีสานจะถูกดูดและข่าว คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จะทิ้งพรรคถ้าไม่ได้ตำแหน่งหัวหน้าพรรค แม้จะเป็นเพียงแหล่งข่าวแต่ก็มีมูลเหตุที่มองให้เชื่อมโยงกันได้
อรชุน
ความไม่นิ่งคือมูลเหตุของข่าวลือ ข่าวปล่อยและความเคลื่อนไหวที่ส่อเค้าว่าพรรคเพื่อไทยจะมีปัญหาอันเนื่องมาจากพลังดูดของผู้มีอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด หากมองอย่างสอดคล้องต้องกันเรื่องของส.ส.เกรดเอพื้นที่ภาคอีสานจะถูกดูดและข่าว คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จะทิ้งพรรคถ้าไม่ได้ตำแหน่งหัวหน้าพรรค แม้จะเป็นเพียงแหล่งข่าวแต่ก็มีมูลเหตุที่มองให้เชื่อมโยงกันได้
แม้คุณหญิงสุดารัตน์ดูจะมีภาษีกว่ารายชื่อใด ๆ ที่จะเป็นแคนดิเดตคั่วเก้าอี้หัวหน้าพรรคนายใหญ่ และยิ่งมีข่าวว่าได้รับไฟเขียวจาก คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ แต่คำถามที่ตามมาคือหากตำแหน่งดังว่าตกไปอยู่ในมือของหัวหน้ากลุ่มกทม.ของพรรคเพื่อไทย นั่นหมายความว่า บรรดาส.ส.ต่างจังหวัดที่สังกัดกลุ่มมุ้งต่าง ๆ ย่อมจะเกิดอาการไม่พอใจ เพราะในสมัยที่เรืองอำนาจ การแก่งแย่งชิงโควตารัฐมนตรีมีความดุเดือดเข้มข้นเป็นอย่างยิ่ง
หลายครั้งหลายหนที่โควตาต่างจังหวัดถูกหักโดยการชักธงรบของเจ๊ใหญ่หัวหน้ากลุ่มกทม. สิ่งที่สร้างความกินแหนงแคลงใจกันอีกประการคือ ยามที่ไปพบหน้าคนแดนไกลเจ๊ก็จะแสดงความสนิทสนม ยกโขยงทัพใหญ่ไปเอาอกเอาใจ โดยมองไม่เห็นกลุ่มก๊วนต่าง ๆ จากพรรคเดียวกันอยู่ในสายตา นั่นทำให้เกิดความการหมั่นไส้และไม่สบอารมณ์ของบรรดาส.ส.ที่มีชั่วโมงบินสูงภายในพรรค
จะเห็นได้ว่าช่วงที่มีข่าวว่าเจ๊หน่อยจะเข้ามากุมบังเหียนพรรคแรก ๆ เกิดแรงกระเพื่อมอย่างรุนแรง จนสุดท้ายต้องมีการออกมาสยบข่าวว่านายใหญ่ยังไม่ได้เคาะรายชื่อใครทั้งสิ้น ซึ่งนั่นก็ทำให้คนที่ได้รับสัญญาณว่าจะได้นั่งเป็นหัวเรือใหญ่ของพรรคเพื่อไทยเสียความรู้สึกอย่างแรง แต่ก็ประคับประคองความรู้สึกกันเรื่อยมา
เหตุผลอีกประการที่ทำให้ส.ส.นอกชายคากทม.ไม่ไว้วางใจเจ๊ใหญ่ก็คือ สายสัมพันธ์ที่ถูกครหาว่าต่อท่ออยู่กับผู้มีอำนาจปัจจุบัน จนหลังจากที่มีข่าวว่าจะเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรค เจ๊จึงต้องแสดงท่าทีรังเกียจเผด็จการ และวิจารณ์รัฐบาลคสช.อย่างออกรส ซึ่งถือเป็นความผิดแปลกทั้งที่ก่อนหน้านั้นสงวนทีท่าในลักษณะแทงกั๊กมาโดยตลอด
จากความไม่ชัดเจนในเรื่องของหัวหน้าพรรคนี่เอง ที่ทำให้ข่าวเรื่องการถูกดูดเริ่มมีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อมาประจวบเหมาะเอากับข่าวการประสานมือตั้ง “กลุ่มสามมิตร” อันมีหัวเรือใหญ่อย่าง สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และ สมศักดิ์ เทพสุทิน และการปรากฏภาพการเดินสายพบอดีตส.ส.ภาคอีสานของพรรคเพื่อไทย ยิ่งทำให้เกิดความเชื่อว่ามีโอกาสที่จะเกิดการแปรพักตร์สูง
แต่หากมองจากรายชื่อที่ปรากฏเป็นข่าวก็พอจะเข้าใจได้ ทั้งมูลเหตุจากที่ถูกนายใหญ่หมางเมินช่วงที่มีอำนาจ ประกอบกับการมีคดีความและบาดแผลที่ทำให้ฝ่ายผู้มีอำนาจสามารถหยิบยกมาเป็นเครื่องมือต่อรองหรือบีบบังคับให้ย้ายสังกัดได้ แม้คนเหล่านั้นจะรู้ดีว่าการเปลี่ยนสีเสื้อโอกาสที่จะสอบตกมีสูง เพราะความนิยมในพรรคเพื่อไทยของคนอีสานนั้นมีอยู่สูง
กระนั้นก็ตาม ก็ได้รับการการันตีในระดับหนึ่งว่าไม่ต้องห่วงเพราะเมื่อเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง ฝ่ายโบกมือดักกวักมือเรียกจะมีอาวุธลับอีกเยอะที่จะเป็นตัวช่วยให้คนที่ไม่มั่นใจเชื่อได้ว่าตัวเองจะได้รับการเลือกตั้ง ขณะที่ท่วงทำนองของกลุ่มสามมิตรที่อ้างว่าตั้งขึ้นมาเพื่อรวบรวมอดีตส.ส. จากนั้นจะประเมินข้อเสนอหรือทิศทางของแต่ละพรรคการเมืองว่าใครที่เหมาะสม เคมีเข้ากันกับทางกลุ่มก็จะตัดสินใจไปเข้าร่วม
นี่คือละครฉากหนึ่งของการเมืองในห้วงที่บ้านเมืองไม่ได้อยู่ในภาวะปกติ ยังคงมีคนการเมืองจำพวกมนุษย์พันธุ์ดั้งเดิมที่เชื่อว่า การอยู่ภายใต้สังกัดของผู้มีอำนาจ ณ ปัจจุบัน จะครองความได้เปรียบทุกพรรคการเมือง มิหนำซ้ำ ยังเห็นภาพชัดเจนว่าหลังการเลือกตั้งไม่ว่าผลที่ออกมาจะเป็นอย่างไร คนถือครองอำนาจปัจจุบันก็จะได้กลับมามีอำนาจเหมือนเดิม
ด้วยแต้มต่อที่มีอยู่ในมือซึ่งเห็นได้กันอย่างเด่นชัดนี่เอง ถือเป็นปัจจัยอันโดดเด่นและยั่วเย้าให้เหล่าบรรดาเสือหิวทั้งหลายตัดสินใจกันได้ง่ายขึ้น ส่วนเรื่องของการเปิดตัวพรรคที่ผู้มีอำนาจถือหางนั้น คาดว่าน่าจะเป็นหลังวันที่ร่างกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.และการเลือกตั้งส.ส.ประกาศในราชกิจจานุเบกษา แม้ร่างกฎหมายส.ส.จะต้องรออีก 90 วันจึงจะบังคับใช้ก็ตาม
ต้องไม่ลืมว่าถ้าหากรอให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ พรรคการเมืองต่าง ๆ รวมถึงพรรคของคสช.จะไม่มีเวลาในการจัดการต่าง ๆ โดยเฉพาะการหาเสียงได้แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย เนื่องจากหลังการนับหนึ่งในการบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้งส.ส. กกต.จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งภายใน 150 วัน นั่นหมายความว่า ถ้าจะทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อพรรคการเมืองก็ต้องใช้ช่วงเวลารอกฎหมายบังคับใช้ 90 วันนั่นเอง
ตรงนี้จึงเป็นที่มาของการยืนยันจาก พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ว่าจะนัดพรรคการเมืองหารือรอบแรกซึ่งเคาะกันมาแล้วว่าเป็นช่วงที่บิ๊กตู่ไปเยือนอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งก็คือต้องไม่เกินวันที่ 26 มิถุนายนนี้ ซึ่งนั่นคงเป็นเพียงแค่พิธีกรรมเพื่อทำให้พรรคการเมืองสบายใจในระดับหนึ่ง ก่อนที่จะให้พระเอกตัวจริงอย่าง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นัดหารือรอบสุดท้ายเพื่อเคาะทั้งวันเลือกตั้งและปลดล็อกให้พรรคการเมืองได้ดำเนินกิจกรรมอย่างสะดวกโยธิน
ทุกอย่างนั้นองคาพยพของคณะเผด็จการคสช.ได้วางแผนไว้หมดแล้วอย่างเป็นขั้นเป็นตอน มิเช่นนั้น คงไม่มีการย้ำแล้วย้ำอีกเรื่องโรดแมปเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เพราะเมื่อพิจารณามาถึงนาทีนี้ ต้องยอมรับกันว่าท่านผู้นำได้วางฐานเพื่อการสืบทอดอำนาจได้อย่างแข็งแกร่งแล้ว เหลือเพียงแค่รอเวลาที่เหมาะสมในการที่จะประกาศความชัดเจนทั้งวันเวลาเลือกตั้ง และทิศทางทางการเมืองที่ตัวเองและคณะจะก้าวเดินเท่านั้น
การเมืองว่าด้วยการเลือกตั้งภายใต้รัฐบาลคสช.ถือเป็นสิ่งที่น่าจับตามอง เพราะนี่ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ เป็นการเลือกตั้งโดยที่กฎหมายพิเศษต่าง ๆ รวมถึงอำนาจตามมาตรา 44 ยังอยู่ครบมือ เมื่อผู้ถืออำนาจที่แปรสภาพจากผู้ยึดอำนาจรัฐบาลประชาธิปไตยจะมาเดินบนถนนสายประชาธิปไตย แต่ถืออาวุธหนักประจันหน้ากับคู่ต่อสู้ที่ไร้อาวุธต่อกรในสนามเลือกตั้ง จึงไม่มีใครกล้าคาดเดาว่าผลมันจะออกมาอย่างไร หรือจะพูดอีกนัยคือไม่มีใครกล้าแม้แต่ที่จะวิพากษ์วิจารณ์เพราะมองเห็นความเดือดร้อนของตัวเองรออยู่ข้างหน้า