เทคนิเคิลรีบาวด์
เมื่อวานนี้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้น 24.72 จุด ขึ้นมาปิดที่ 1,664.26 จุด การปรับขึ้น ถูกมองว่าเป็น “เทคนิเคิลรีบาวด์” หลังปรับลงแรง 5 วันทำการติดต่อกันกว่า 87 จุด
ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร
เมื่อวานนี้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้น 24.72 จุด
ขึ้นมาปิดที่ 1,664.26 จุด
การปรับขึ้น ถูกมองว่าเป็น “เทคนิเคิลรีบาวด์” หลังปรับลงแรง 5 วันทำการติดต่อกันกว่า 87 จุด
การปรับขึ้นทางเทคนิคที่ว่านี้ ถูกมองว่า เพียงระยะสั้น หรืออาจจะซัก 2-3 วันเท่านั้น และดัชนีจะเคลื่อนไหวแบบไซด์เวย์ที่มีแนวโน้มปรับลงได้อีก
มีคำถามกันเยอะว่า ดัชนีจะปรับลงไปถึงระดับ 1,600 จุดไหม
เท่าที่ดูความเห็นของนักวิเคราะห์ และบทวิเคราะห์ของโบรกฯ ต่าง ๆ มีมุมมองแตกต่างกันไป
นักวิเคราะห์บางคนมองว่า ยังมีโอกาสที่ดัชนีจะลงไประดับ 1,600 จุด และถือเป็นแนวรับที่น่าสนใจ หรือเหมาะต่อการเข้าลงทุน โดยเฉพาะหุ้นที่อิงกับปัจจัยภายในประเทศ
เช่น กลุ่มค้าปลีก CPALL กลุ่มสื่อสาร INTUCH, ADVANC และกลุ่มโรงพยาบาล BDMS, CHG
แต่หากดูสัญญาณทางเทคนิค ส่วนใหญ่จะมองแนวรับกันไว้ที่ระดับ 1,620-1,625 จุด
บล.โนมูระ พัฒนสิน มองว่า Forward PER หากดัชนีอยู่ที่ 1,635 จุด (+/-)
เท่ากับว่าจะได้ พี/อี (สิ้นปี 2561) เท่ากับ 14.6 เท่า
ตัวเลขนี้เท่ากับว่า กว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว 10 ปี ราว ๆ 1.1 เท่า และสะท้อน “ความถูก” ในเชิงพื้นฐานและมีส่วนลดในการลงทุนระยะยาว
โนมูระฯ ไม่ได้บอกว่า แนวรับอยู่ที่เท่าไหร่
เพียงแต่ระบุว่า ดัชนีในกรอบ 1,650–1,600 จุด เป็นฐานรองรับการลงทุนเชิงพื้นฐาน
ส่วนสิ้นปี 2561 ยังคงวางเป้าหมายดัชนีกรณีฐานไว้ที่ 1,904 จุด เท่าเดิม
บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบีฯ มองดัชนี 1,650 จุด อิงสมมติฐานระดับ P/E ที่ 14 เท่า อัตราการเติบโตกำไร บจ. ประมาณ 13%
ถือว่า “เป็นระดับที่มีความเหมาะสม”
ที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยซื้อขายเฉลี่ยบน P/E ที่ 15 เท่ากว่า ๆ มาโดยตลอด
บล.ไทยพาณิชย์ ประเมินว่า นักลงทุนต่างชาติจะขายหุ้นไทยต่อเนื่องมากกว่า 2 แสนล้านบาทในปีนี้
จากปัจจุบันราว ๆ 1.71 แสนล้านบาท
พร้อมกับประเมินแนวรับทางเทคนิคไว้ 1,620 จุด
ในช่วงที่ดัชนีปรับตัวลง มีการแนะนำให้นักลงทุนเข้าซื้อสะสมหุ้นไทย เพราะเชื่อว่า “พื้นฐาน” บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทยในปัจจุบันมีโอกาสผลักดันดัชนีไปได้ถึง 1,900 จุด ตามเป้าหมายเดิมที่วางไว้
ส่วน บล.บัวหลวง ให้แนวรับสุดท้ายไว้ 1,627 จุด
ตลาดหุ้นไทยตอนนี้ตอบไม่ได้ว่าลงมาสุดทางหรือยัง
แต่จะสุดทางหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับ Risk appetite ในตลาด และไม่ได้เกี่ยวกับความถูกหรือแพงของหุ้น
เพราะยังไม่ได้เห็นการปรับกำไรของ บจ. และเศรษฐกิจในประเทศลง
ตรงกันข้ามพื้นฐานเศรษฐกิจในประเทศ กลับปรับขึ้นด้วยนะ
เท่าที่ดูมุมมองนักวิเคราะห์ทั้งหมด
ต่างมองเช่นเดียวกันว่า หุ้นลงรอบนี้ ไม่ได้มาจากพื้นฐาน หรือเศรษฐกิจไทยมีความย่ำแย่
ขณะเดียวกัน กำไร บจ.ในปีนี้จะเติบโตได้ถึง 11-13%
และเศรษฐกิจไทยอยู่ระหว่างการฟื้นตัว หุ้นในกลุ่มธนาคารจะมีผลประกอบการดีขึ้น หนี้เสียลดต่ำลง และ IFRS ไม่ว่าจะเลือนหรือไม่เลื่อน ก็ไม่ส่งผลอะไรกับหุ้นแบงก์
นั่นเพราะทุกแห่งต่างตั้งสำรองฯ เผื่อกันไว้แล้ว
เช่นเดียวกับมุมมองของ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของแบงก์ชาติ
ที่ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ 1.50%
และยังปรับเพิ่มเป้าหมายจีดีพี ปี 2561 จาก 4.1% เป็น 4.4%
โดยมองว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้นเรื่อย ๆ ได้รับแรงหนุนจากการส่งออก และการท่องเที่ยวที่ดีกว่าคาดการณ์มาก
ตลาดหุ้นไทยตอนนี้จึงขึ้นอยู่กับแรงขายของนักลงทุนต่างชาติ
และก็ขึ้นอยู่กับว่า แรงซื้อของนักลงทุนสถาบัน โดยเฉพาะกองทุนจะเข้ามาทยอยเก็บหุ้นมากน้อยแค่ไหน ท่ามกลางข้อมูลที่ระบุว่า สภาพคล่องของกองทุนยังคงมีอยู่
และพยายามจับจังหวะเข้าลงทุนเป็นช่วง ๆ ไป
ส่วนรายย่อยปีก่อนหน้านี้ขายออกไปเกือบ 1 แสนล้านบาท
แต่ปีนี้มีการซื้อกลับเข้ามาแล้ว 1.02 แสนล้านบาท เป็นตัวเลขที่มากกว่าปี 2560 แล้ว