โอเปก ทุนจีน และตลาดหุ้น

นักลงทุนในตลาดเก็งกำไรทั่วโลก (ไม่นับบรรดาขาชอร์ต) พากันถอนหายใจโล่งอก ภายหลังจากที่โอเปกมีมติเพิ่มกำลังการผลิตในการประชุมครั้งล่าสุด แต่ไม่ระบุปริมาณชัดเจน ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าต่ำกว่าคาด และไม่น่าจะเพิ่มขึ้นมากอย่างที่ตลาดคาดเดาก่อนหน้า


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

นักลงทุนในตลาดเก็งกำไรทั่วโลก (ไม่นับบรรดาขาชอร์ต) พากันถอนหายใจโล่งอก ภายหลังจากที่โอเปกมีมติเพิ่มกำลังการผลิตในการประชุมครั้งล่าสุด แต่ไม่ระบุปริมาณชัดเจน ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าต่ำกว่าคาด และไม่น่าจะเพิ่มขึ้นมากอย่างที่ตลาดคาดเดาก่อนหน้า

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดเมื่อคืนวันศุกร์ตามเวลาไทย ที่ 24,580.89 จุด เพิ่มขึ้น 119.19 จุด หรือ 0.49% เป็นข่าวดีครั้งแรกใน 2 สัปดาห์ หลังจากที่ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ร่วงลง 2% ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงสองสัปดาห์ติดต่อกัน และเป็นการร่วงลงมากที่สุดนับตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

ปัจจัยหนุนหนีไม่พ้นมาจากหุ้นกลุ่มพลังงานที่พุ่งขึ้น 2.2% โดยนักลงทุนพากันเข้าซื้อหุ้นบริษัทน้ำมัน หลังราคาน้ำมันดิบทะยานขึ้น ภายหลังกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ได้ออกแถลงการณ์หลังการประชุมกำหนดนโยบายการผลิต โดยระบุว่าโอเปกจะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน แต่ไม่มีการระบุปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

แม้แถลงการณ์โอเปกจะเพียงแค่ระบุว่า เนื่องจากสมาชิกบางประเทศได้ลดกำลังการผลิตมากกว่าที่ได้ตกลงกันไว้ในเดือน พ.ย. 2559 ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีมติให้สมาชิก 12 ประเทศจากทั้งหมด 14 ประเทศ เพิ่มกำลังการผลิต เพื่อให้ตัวเลขความร่วมมือในการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันกลับสู่จำนวน 1.2 ล้านบาร์เรล/วันที่ตกลงกันไว้ เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน อย่างไรก็ดี สมาชิกโอเปกได้ให้ความร่วมมือในการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันมากถึง 152% ซึ่งหมายความว่าสมาชิกโอเปกได้ปรับลดกำลังการผลิตรวมกันมากกว่า 1.2 ล้านบาร์เรล/วันที่ได้ตกลงกันไว้

ต่อมา แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ที่ประชุมโอเปกมีมติเพิ่มกำลังการผลิต 1 ล้านบาร์เรล/วัน โดยเริ่มตั้งแต่เดือนหน้านี้ สอดคล้องกับที่ซาอุดีอาระเบียเสนอก่อนหน้านี้ ขณะที่รัสเซียเสนอให้ปรับเพิ่มขึ้น 1.5 ล้านบาร์เรล/วัน

ในทางปฏิบัติ แหล่งข่าวคาดว่าตัวเลขการเพิ่มการผลิตน้ำมันที่แท้จริงจะเพิ่มอยู่ในระดับเพียง 600,000 บาร์เรล/วัน ซึ่งสอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ และการเพิ่มกำลังการผลิตในระดับดังกล่าวจะไม่กดดันราคาให้ลดลง

ผลลัพธ์ที่ตามมาจึงไม่ประหลาดที่ หุ้นบริษัทน้ำมันรายใหญ่ทั่วโลกต่างปิดทะยานขึ้นจริงจัง และจะส่งผลต่อราคาหุ้นสัปดาห์นี้ด้วย

ผลการหารือของชาติส่งออกน้ำมันนอกโอเปกก็ไม่มีอะไรใหม่ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ดราม่าราคาและผลิตผลิตน้ำมันรอบนี้ โยงใยเข้ากับการระดมทุนผ่านไอพีโอ ของบริษัท อารามโก (Aramco) บริษัทน้ำมันแห่งชาติของรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย

ปัจจุบัน  อารามโก คือหนึ่งในบริษัทผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก และมีแหล่งน้ำมันดิบครอบครองอยู่ถึง 16% ของแหล่งน้ำมันทั้งหมดทั่วโลก

บริษัทดังกล่าว วางแผนขายหุ้น IPO 5% ในปีหน้า ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าราว 7,500 ล้านดอลลาร์ โดยมีที่ปรึกษาการเงินมากถึง 18 ราย ซึ่งตลาดหุ้นหลายแห่ง ทั้งในฮ่องกง ลอนดอน นิวยอร์ก และสิงคโปร์ ต่างต้องการแย่งยื้อให้ บริษัทดังกล่าวลงขายหุ้นกับตลาดของตน

จากระยะแรกที่แผนการขายหุ้น IPO บริษัทดังกล่าวจะเป็นการขายหุ้นที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก แต่ในช่วงหลัง ๆ มีข่าวว่า ซาอุฯ อาจตัดสินใจขายหุ้นของอารามโกให้กับกลุ่มทุนจากจีนแทน เพราะได้ราคาดีกว่า แล้วไม่กระทบราคาหุ้น

การสอดแทรกของทุนจีน ทำให้ หนังสือพิมพ์ วอลสตรีทเจอร์นัล รายงานว่า สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ได้ขอร้องให้ซาอุดีอาระเบีย เร่งนำหุ้นของบริษัทน้ำมันของทางการซาอุฯ อารามโก (Aramco) ออกขายในตลาดหุ้นแทนการขายหุ้นให้กับจีนโดยตรง เพราะจะทำให้จีนมีอิทธิพลมากขึ้นในตะวันออกกลาง  แล้วเป็นที่มาของแรงกดดันให้มีการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบแลกเปลี่ยน

สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ต่างกังวลว่าหากข้อตกลงระหว่างจีนกับซาอุฯ เกิดขึ้นจริง จะทำให้ทั้งสองประเทศมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น เนื่องจากซาอุฯ นั้นเป็นพันธมิตรที่เก่าแก่ยาวนานของสหรัฐฯ ส่วนญี่ปุ่นก็ต้องพึ่งพาน้ำมันจากซาอุฯ ขณะที่จีนก็คือลูกค้ารายใหญ่ของซาอุฯ เช่นกัน

ท่าทีประนีประนอมของซาอุดีอาระเบียในเรื่องนี้ เสมือนหนึ่งจำต้องกล้ำกลืนความคาดหวังเดิมที่มีข่าวว่า ซาอุดีอาระเบีย ตั้งเป้าหมายว่า ราคาน้ำมันดิบ WTI จะพุ่งขึ้นไปที่แถวเป้าหมาย 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หากสหรัฐฯ คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่ออิหร่านและเวเนซุเอลา แต่เปลี่ยนมาเล่นกับข่าวเดิมที่ว่า โอเปกมีข้อตกลงลับว่าหากสหรัฐฯ คว่ำบาตรอิหร่านเมื่อใด จะเพิ่มการผลิตน้ำมันมากขึ้นจากข้อตกลงเดิมเมื่อปีก่อน

ประเด็นที่น่าติดตามจากนี้ไปอยู่ที่ว่า การเพิ่มผลผลิตน้ำมันดิบที่น้อยเกินคาด ที่จะดันราคาน้ำมันวิ่งต่อไปเหนือ 65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จะมีปฏิกิริยาจากสหรัฐฯ อย่างไร

ถึงยามนี้ ตัวแปรจากจีน ทำให้ซาอุดีอาระเบียมีแต้มต่อในกรณีของอารามโก มากขึ้นแล้ว ทิศทางราคาของน้ำมันดิบในระยะต่อไป ที่เคลื่อนไหวอย่างไม่สมเหตุสมผล จะเป็นข่าวดีหรือข่าวร้ายในระยะยาวสำหรับตลาดเก็งกำไรทั่วโลก

หากซาอุดีอาระเบียสามารถถอดรหัสของตนเองในการแก้ปริศนาว่าการระดมทุนมหาศาลของอารามโก ในต้นปีหน้าที่เหลือเวลาอีกไม่มาก จะเป็นการขายหุ้นแบบเฉพาะเจาะจง หรือขายไอพีโอ บางทีคำตอบน่าจะส่งผลรุนแรงต่อตลาดหุ้น พร้อมกับการเมืองระหว่างประเทศที่คำตอบและผลลัพธ์จะไม่ซ้ำรอยเดิม

Back to top button