พาราสาวะถี
ใครที่ได้ฟัง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดกับคนไทยทั้งที่อังกฤษและฝรั่งเศสต้องบอกว่าเคลิ้มกับสคริปต์ที่เขียนให้ท่านผู้นำท่อง ซึ่งเป็นการนำเสนอในประเด็นที่ไม่ได้ไกลจากความเป็นตัวตนของผู้มีอำนาจหรืออาจจะเรียกได้ว่า เป็นแผนการที่วางไว้กันมาตั้งแต่ต้นสำหรับองคาพยพของเผด็จการคสช. ดังนั้น ทุกอย่างจึงไหลลื่นไม่มีสะดุดเมื่อจะนำเสนอให้ใครฟัง โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด
อรชุน
ใครที่ได้ฟัง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดกับคนไทยทั้งที่อังกฤษและฝรั่งเศสต้องบอกว่าเคลิ้มกับสคริปต์ที่เขียนให้ท่านผู้นำท่อง ซึ่งเป็นการนำเสนอในประเด็นที่ไม่ได้ไกลจากความเป็นตัวตนของผู้มีอำนาจหรืออาจจะเรียกได้ว่า เป็นแผนการที่วางไว้กันมาตั้งแต่ต้นสำหรับองคาพยพของเผด็จการคสช. ดังนั้น ทุกอย่างจึงไหลลื่นไม่มีสะดุดเมื่อจะนำเสนอให้ใครฟัง โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด
ที่บอกว่าคนไทยในต่างแดนคงรู้สึกยินดีปรีดาที่ท่านผู้นำไปโชว์วิสัยทัศน์ ทั้งเรื่องลงสมัครส.ส.ไม่ได้เพราะไม่ได้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญคือลาออกจากตำแหน่งตั้งแต่กฎหมายสูงสุดมีผลบังคับใช้ แต่กลับไม่ยอมประกาศให้คนเหล่านั้นรู้ให้แน่ชัดว่า อนาคตการเมืองจะกลับมาเป็นนายกฯ คนนอกหรือไม่ ทั้งที่จริงก็เป็นคนที่รักที่ชอบ เพราะมีการถือป้ายด้วยถ้อยคำที่หวานหยดย้อยมาให้กำลังใจท่านผู้นำ ก็น่าจะเปิดใจกันให้หมดเปลือก
แต่ก็อย่างว่านั่นแหละ ถ้าไปบอกทุกอย่างเสียหมดแผนที่วางไว้มันก็จะถูกสกัด ซึ่งความจริงมาถึงนาทีนี้ แม้แต่เด็กอมมือก็ยังอ่านออกว่าการเมืองหลังเลือกตั้งครั้งหน้าจะเป็นอย่างไร กระนั้นก็ตาม มีเรื่องที่ชวนให้สะดุดหูคือ การที่ท่านผู้นำไปอธิบายให้คนไทยในฝรั่งเศสฟังเรื่องความจำเป็นต้องมีส.ว.ลากตั้ง 250 คน มิหนำซ้ำ ยังอ้างว่า 50 คนผ่านกระบวนการเลือกกันเองอีกต่างหาก
ตีบทได้แตกพูดจาได้แนบเนียนไม่มีเคอะเขิน ทั้งที่ความจริงอย่างที่รู้กันส.ว.ลากตั้งทั้งหมดนั้นคสช.เป็นผู้ชี้นิ้วเลือกแต่เพียงผู้เดียว ไอ้ที่ว่าเลือกกันเอง 50 คนนั้น เพียงพิธีกรรมที่ไปเลือกกันมาให้เหลือ 200 คน ก่อนที่ผู้มีอำนาจที่จะว่าไปแล้วก็คือหัวหน้าคสช.นั่นแหละ จะเป็นผู้เลือกให้เหลือ 50 คน บอกว่าไม่มีหวยล็อก คนส่วนใหญ่คงทำใจให้เชื่อลำบาก
การอธิบายว่าเหตุที่จะต้องมีส.ว.ลากตั้งนั้น เพราะที่ผ่านมามีส.ว.เลือกตั้งแล้ว ได้สภาผัวเมีย มันก็อาจจะจริงแต่ถามว่ามันใช่ทั้งหมดของส.ว.เลือกตั้งหรือเปล่า เปล่าเลย ผิดกับส.ว.ลากตั้งถามว่า เป็นสภาพี่น้องเพื่อนฝูงคนกันเองทั้งหมดหรือไม่ น่าจะเกิน 80 เปอร์เซ็นต์เสียด้วยซ้ำไป เห็นได้จากสนช.ที่ถูกวิจารณ์ได้ว่าเป็นแค่สภาตรายาง
ไม่ว่าจะมองมุมไหน การที่ให้คนเพียงแค่ไม่กี่คนเลือก มันจะเหมือนกับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือกตัวแทนของตัวเองมาจากทั่วประเทศได้อย่างไร นี่ก็ชัดเจนว่า เป็นวาทกรรมหรือการพยายามอธิบายให้คนเห็นว่านักการเมืองชั่วพรรคการเมืองเลว ดังนั้น การเลือกตั้งจึงไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของระบอบประชาธิปไตยที่คณะเผด็จการคสช.อยากให้เป็น
ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่ โภคิน พลกุล กล่าวบนเวทีเสวนาพินิจ(รัฐ)ธรรมนูญ 2475 พิจารณารัฐธรรมนูญ 2560 เราเดินถอยหลังมาไกลแค่ไหนแล้ว ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาจึงน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง แค่สิ่งที่บอกว่า รัฐธรรมนูญ 2560 เปลี่ยนระบอบเป็นเผด็จการเอาคนปกป้องเผด็จการมาสร้างประชาธิปไตยไม่ได้ ก็เรียกเสียงฮือฮาได้ไม่น้อย
ไม่เพียงเท่านั้น เมื่ออธิบายถึงส.ว.ลากตั้ง โภคินบอกว่า กลไกให้ส.ว. 250 คน คสช.แต่งตั้งหมด ก็ย้อนอดีต การตั้งนายกรัฐมนตรีเดิมต้องทำในสภาผู้แทนราษฎร แต่ครั้งนี้ให้ทำในรัฐสภาต้องได้ 376 เสียง ไม่ง่าย นอกจากประชาชนจะเทให้พรรคใดพรรคหนึ่งอย่างถล่มทลาย บางพรรคพูดไม่เอาทหาร แต่พอถึงเวลาต้องดูกัน นักการเมืองต้องซื่อสัตย์ ไม่ได้เกลียดทหาร แต่ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งต้องสง่างาม ไม่อย่างนั้นน่ารังเกียจ
ขณะเดียวกันสิ่งที่สังคมจับตามองอยู่ก็คือ กระบวนการปฏิรูปเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของเผด็จการคสช. มีทั้งตั้งส.ว. ดูดนักการเมืองกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ แล้วด่านักการเมืองเลวทรามสารพัด บอกว่าจะปฏิรูปการเมือง แต่ก็มาทำแบบนี้ก็เท่ากับดูหมิ่นมาตรา 4 เรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คุณดูหมิ่นเหยียดหยามประชาชนเป็นบ่าว
ไม่เพียงเท่านั้น การแสดงปาฐกถา “2475 อดีต ปัจจุบัน อนาคต” ของ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ นักวิชาการทางด้านประวัติศาสตร์การเมืองไทย ในงานครบรอบ 86 ปี การอภิวัฒน์ประชาธิปไตยสยาม 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งจัดขึ้น ณ สวนองุ่น มูลนิธิไชยวนา เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ก็น่าจะช่วยตอกย้ำสถานการณ์ทางการเมือง ณ ปัจจุบันได้เป็นอย่างดี
นักวิชาการรายนี้ชี้ว่า เกิดคำถามในหมู่อาจารย์ด้านรัฐศาสตร์และประวัติศาสตร์ในประเทศไทย ในแบบวิชาการที่อาจารย์เหล่านี้ได้กลับมาจากการศึกษาในโลกตะวันตก กับคำถามพื้นฐานมาก ๆ คือ ทำไมประชาธิปไตยของไทยจึงมีทหาร ข้าราชการประจำ เป็นนายกรัฐมนตรี ทำไมสภานิติบัญญัติแห่งชาติจึงเป็นสภาตรายาง หรือ rubber stamp
สภาดังว่า เต็มไปด้วยสมาชิกที่เป็นทหารสามเหล่าทัพและตำรวจ ข้าราชการประจำ ทำไมพรรคการเมืองไทยจึงอ่อนแอ ทำไมนักการเมืองหรือส.ส.จึงไม่มีอำนาจบทบาททางการเมือง หนึ่งในบทสรุปที่สำคัญของการศึกษาวิจัยช่วงดังกล่าวของโลกตะวันตกคือ รัฐไทยเป็นรัฐราชการ หรือ Bureaucratic Polity แต่ในการศึกษาอีกหนึ่งทศวรรษกว่าถัดมาหรือเรื่อยมาถึงปัจจุบัน เราจะเห็นว่า สาระที่แท้จริงไม่ใช่ว่ารัฐไทยคือรัฐราชการ แต่รัฐไทยคือ รัฐทหาร หรือ Military Polity ที่มีเครือข่ายและฝั่งรากไว้อย่างกว้างขวาง
แน่นอนว่า ตลอดระยะเวลากว่า 86 ปีที่ผ่านมา ประชาธิปไตยไทยไม่ไปไหน ทั้ง ๆ ที่เคยคิดว่าจะเดินหน้าไปไกลหลังมีรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่ก็กลับถูกทหารยึดอำนาจแล้วก็ฉีกทิ้งรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนนั้นไปเสีย ด้วยเหตุนี้ ความเห็นของโภคินอีกประการจึงน่าสนใจ วงจรอุบาทว์ยึดอำนาจเลือกตั้ง ยังไม่จบใน 86 ปี คนมีส่วนสำคัญคือศาล ถ้าศาลกล้ายืนหยัดในหลักนิติธรรม หลักประชาธิปไตย ตนเชื่อว่า ไม่มีใครกล้ายึดอำนาจ เพราะไม่รู้ว่ายึดอำนาจแล้วจะเป็นอย่างไร
แต่เมื่อวิเคราะห์จากองค์ประกอบต่าง ๆ แล้ว และเห็นกระบวนการที่ดำเนินการโดยแม่น้ำ 5 สายของคสช. หนนี้ คงบอกได้คำเดียวว่า ประเทศไทยคงยากที่จะก้าวข้ามวงจรอุบาทว์อย่างที่เวทีวิชาการหลายเวทีพยายามจะขายความคิด การมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี บวกแผนปฏิรูปประเทศ และท่าทีอันเด่นชัดว่าจะสืบทอดอำนาจ นี่คือเครื่องหมายยืนยันว่า เขาอยู่ยาวจนกว่าจะพอใจหรือไม่ก็มีอุบัติเหตุทางการเมืองอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งก็คงยากที่จะนำไปสู่การเอาผิดอีกเพราะองค์กรอิสระที่มีก็รู้กันอยู่ว่าได้ไปต่อเพราะใคร