แบงก์ร่วงระนาว

วานนี้ (25 มิ.ย.) ราคาหุ้นกลุ่มธนาคาร 11 บริษัทในตลาดหุ้น ปรับลง 9 แห่ง และอีก 2 แห่ง ราคาไม่เปลี่ยนแปลง


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

วานนี้ (25 มิ.ย.) ราคาหุ้นกลุ่มธนาคาร 11 บริษัทในตลาดหุ้น ปรับลง 9 แห่ง และอีก 2 แห่ง ราคาไม่เปลี่ยนแปลง

ทว่า ที่ลงหนักสุดคือ ไทยพาณิชย์ หรือ SCB

ราคาลงมาทำนิวโลว์ในรอบสองปีครึ่ง

หรือปรับลง 4.50 บาท ปิดที่ 124.00 บาท เปลี่ยนแปลง – 3.50%

ราคาหุ้นแบงก์ไทยพาณิชย์ หากนับจากปิดสูงสุดของปีนี้ 162 บาท เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2561 และเทียบกับราคาปิดเมื่อวานนี้ เท่ากับว่า ราคาปรับร่วงมากว่า 23.45% ถือว่ามากสุดในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ 4 แห่ง คือ KTB BBL และ KBANK

ในปีนี้จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจำนวนมาก

ทั้งจากการทำเรื่อง “ทรานส์ฟอร์เมชั่น” และแนวโน้มการสำรองหนี้ที่สูงขึ้น

ส่วนเรื่องรายได้ จะปรับลง จากการทำเรื่องฟรีค่าธรรมเนียมในธุรกรรมการเงินหลายรายการ

มีคำถามว่า นอกจากปัจจัยเรื่องผลประกอบการแล้ว ยังมีปัจจัยที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในบอร์ดของธนาคารด้วยหรือไม่ โดยเฉพาะภายหลังการเข้ามาของ “บุญทักษ์ หวังเจริญ”

ประเด็นนี้มีคำตอบว่า การเข้ามาของ “บุญทักษ์” น่าจะเป็นประเด็นบวก

เพราะจะทำให้การปล่อยสินเชื่อของไทยพาณิชย์เข้มงวดขึ้น และน่าจะมีการตั้งสำรองที่แกร่งขึ้น

และต่างรับทราบกันดีว่าสไตล์ของ “บุญทักษ์” คือ การ “ตั้งการ์ด” ให้แน่นไว้ก่อน

ในมุมมองของนักวิเคราะห์จาก บล.เอเซีย พลัส มองว่า ไตรมาส 2/2561 จะเป็นจุดที่ผลประกอบการของไทยพาณิชย์ลงมาจุดต่ำสุด และจะค่อย ๆ ดีขึ้นในไตรมาส 3 และ 4 ของปีนี้

แล้วธนาคารพาณิชย์แห่งอื่น ๆ ล่ะ

เท่าที่ดูข้อมูลมาถึงเมื่อวานนี้  นักวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส มองด้วยว่า ในกลุ่มแบงก์ใหญ่ มีเพียง BBL ที่โดดเด่นมากสุด

KBANK กับ KTB กำไรสุทธิยังคงปรับลดลง

มีเพียงแบงก์กลาง–เล็ก ที่กำไรเพิ่มขึ้น

สินเชื่อหากเป็นกลุ่มแบงก์ใหญ่จะเติบโตเพียง 1.7%

และแบงก์เล็กเติบโตไดถึง 2.5%

โดยสินเชื่อบ้าน และรถยนต์ยังคงเติบโตได้ดี ส่วนกลุ่มเอสเอ็มอี ยังมีปัญหา หรือแทบจะไม่ขยับเลย

หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ค่าเฉลี่ยจะอยู่ที่ 3.2%

รายได้จากดอกเบี้ยหากเป็นแบงก์เล็กยังทรงตัว

และแบงก์ใหญ่เติบโตติดลบ

มาดูรายได้จากค่าธรรมเนียมกันบ้าง เพราะเท่าที่มีการประเมินตัวเลขออกมา แบงก์ใหญ่จะลดลง 13% และแบงก์เล็กลดลง 5% และค่าใช้จ่ายการดำเนินงาน  โดยเฉพาะแบงก์ใหญ่จะเพิ่มขึ้น 1.6%

ส่วนแบงก์เล็กค่าใช้จ่ายในด้านนี้จะปรับลดลง

มาถึงตัวเลขสำคัญคือ Coverage Ratio

ค่าเฉลี่ยของกลุ่มธนาคารจะอยู่ที่ 142%

แบงก์ที่มีตัวเลขสำคัญดังกล่าวมากสุดคือ TISCO

รองลงมาคือ BBL และ BAY

สุดท้ายคือเรื่องประมาณการกำไรสุทธิของกลุ่มธนาคาร

คาดกันว่ากำไรครึ่งปีแรกจะอยู่ที่ 9 หมื่นล้านบาท และทั้งปีจะอยู่ที่ 1.9 แสนล้านบาท ใกล้เคียงกับปี 2560

โดยสรุปแล้ว แบงก์ไตรมาส 2 ภาพรวมอาจไม่ดีนัก

และมีเพียงแบงก์กลาง-เล็ก เช่น TCAP TISCO และ KKP ที่ยังเติบโตได้ดีอยู่

Back to top button