กองทุนเริ่มเก็บหุ้น

3 วันแรกของเดือนกรกฎาคมนี้ นักลงทุนสถาบัน หรือกองทุนเข้าซื้อสุทธิแล้ว 12,680 ล้านบาท


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

3 วันแรกของเดือนกรกฎาคมนี้ นักลงทุนสถาบัน หรือกองทุนเข้าซื้อสุทธิแล้ว 12,680 ล้านบาท

มีโอกาสคุยกับนักวิเคราะห์เพิ่มเติม

ส่วนใหญ่มองตรงกันว่า กองทุนจะค่อย ๆ ทยอยเก็บหุ้นที่ราคาลงมาต่ำกว่าพื้นฐาน และมีแนวโน้มผลประกอบการออกมาดี

หุ้นที่กองทุนเก็บจะอยู่ในกลุ่ม SET50

เราจะเห็นได้จากการที่ราคาหุ้นเริ่มกลับมาทั้ง AOT CPALL ADVANC CPN IRPC

และหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เช่น BBL KBANK SCB และ KTB

หุ้นทั้งหมดที่ว่านี้ ราคาปรับลงมาต่อเนื่องจากแรงขายของนักลงทุนต่างชาติหรือฟันด์โฟลว์

มีคำถามว่า แล้วกองทุนเข้ามาดัน หรือ “งัด” หุ้นเหล่านี้ขึ้น ไม่กลัวต่างชาติจะลูบปาก ถือโอกาสขายทำกำไรอีกระลอกหรือ

คำตอบคือ แรงขายของต่างชาติยังคงมีอยู่

ทว่า ฝ่ายลงทุนของกองทุนต่าง ๆ น่าจะมีข้อมูลแล้วว่า หุ้นตัวไหนบ้างที่ต่างชาติน่าจะเริ่มขายเบาลงแล้ว

หรืออาจจะขายออกไปเกือบหมดแล้ว

จากข้อมูลของ บล.เอเซีย พลัส เกี่ยวกับการลงทุนของต่างชาติในตลาดหุ้นไทย

มีการระบุว่า สัดส่วนการถือครองหุ้น ณ 30 มิถุนายน 2561 ลงมาเหลือ 22.85% และถือครองผ่าน NVDR เหลือ 7.08% และเมื่อมารวมกันแล้ว ต่างชาติเหลือถือครองหุ้นไทยราว ๆ 29% เท่านั้น

มีข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับฟันด์โฟลว์จาก บล.โนมูระ พัฒนสิน

โนมูระฯ ระบุว่า ปี 2008 ต่างชาติมียอดซื้อสุทธิกว่า 3.2 แสนล้านบาท

หลังจากนั้น ก็ซื้อ ๆ ขาย ๆ และปัจจุบันเหลือยอดซื้อสุทธิเพียง 6.6 หมื่นล้านบาท

เมื่อถามว่าแล้วมีโอกาสที่ต่างชาติจะขายต่อหรือไม่

วิสัชนา คือ “มีโอกาส”ครับ

และต่างชาติน่าจะยังขายอยู่ เพียงแต่แรงขายจะเริ่มเบาบางลง และบางวันอาจมีการสลับเข้ามาซื้อบ้าง

ปัจจุบัน Forward P/E ตลาดหุ้นไทยลงมาเหลืออยู่ประมาณ 14 เท่า

นักวิเคราะห์ต่างมองว่าเป็นระดับที่ “น่าลงทุน”

แม้จะมีนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนบางคน มองว่า มีโอกาสที่หุ้นไทยจะปรับลงได้อีก และ  P/E ระดับที่น่าลงทุนจริง ๆ ควรจะอยู่ประมาณ 12-13 เท่า

แต่ส่วนตัวผมว่าหุ้นไทยไม่น่าจะลงไปมากขนาดนั้น

เพราะที่ผ่านมาพอจะลงไปถึงระดับที่เป็นแนวรับที่มีการมองกันเอาไว้นั้น

ก็มักจะมีแรงเข้ามาซื้อดักทางไว้ก่อน และทำให้ราคาหุ้น หรือดัชนีจะค่อย ๆ ปรับขึ้นไป

มีข้อมูลมาเพิ่มเติมว่า ในช่วงที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับลงมา เริ่มมีแรงซื้อจากกองทุน LTF และ RMF มากขึ้น หลังจากช่วงไตรมาส 1/2561 มีเงินไหลออกจากกองทุน LTF ค่อนข้างมาก RMF ไหลเข้าสุทธิ 904 ล้านบาท

นับจากต้นปี 2561 นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิแล้วกว่า  89,651 ล้านบาท

ผลตอบแทนของกองทุนหุ้นหากดู 3 เดือนย้อนหลัง หากเป็นกลุ่มบิ๊กแคปส่วนใหญ่จะติดลบ

ส่วนกองทุนหุ้นขนาดกลางและเล็ก จะบวกบ้าง

แต่หากดูย้อนหลัง 6 เดือน ไปจนถึง 1 ปี 3 ปี และ 5 ปี ต่างมีผลตอบแทนเป็นบวกที่แตกต่างกันไป

นักวิเคราะห์หลายคนประเมินว่า “เงินหน้าตัก” หรือสภาพคล่องของกองทุนต่าง ๆ ยังมีอยู่อีกจำนวนมาก แม้ว่าในช่วงไตรมาส 1/2561 ปีนี้ เงินเข้ากองทุนจะเติบโตเพียง 0.5% (สุทธิ 4.91 หมื่นล้านบาท) จากสิ้นปี 2560

ปี 2560 กองทุนมีตัวเลขการเติบโตกว่า 8-10%

ส่วนแนวโน้มในปีนี้ คาดกันว่าจะอยู่ในระดับเดียวกับปี 2560 หรืออาจจะขยายตัวมากกว่า

แรงซื้อของกองทุนที่เข้ามาต่อเนื่อง และ “งัดดัชนี” ขึ้นมายืนเหนือระดับ 1,600 จุดได้ ว่ากันว่า ถือเป็นเซนติเมนต์เชิงบวก ทำให้นักลงทุนมีความมั่นใจมากขึ้น

ทว่า จากดัชนีที่ปรับขึ้นมา 3 วันทำการติดต่อกัน 33-34 จุด

นั่นย่อมมีโอกาสเกิดแรงขายทำกำไรกันบ้าง

แต่ก็อย่างว่าล่ะ

ผ่านมาถึงตรงนี้ ยังไม่มีใครคาดการณ์ได้แน่นอนว่า กองทุนจะซื้อได้ยาวแค่ไหน ดัชนีจะทำแรลลี่ไหม และมีโอกาสอีกไหมที่จะหลุดร่วงลงไปต่ำกว่า 1,600 จุดอีกครั้ง

สิ้นปี 2560 ดัชนีหุ้นไทยปิดที่ 1,753.71 จุด

ส่วนเมื่อวานนี้ดัชนีปิด 1,629.20 จุด หรือเท่ากับว่า นับจากสิ้นปี 2560 ดัชนีปรับลงมา -7.08%

แต่หากนับจากดัชนีปี 2561 ที่เคยขึ้นไปแตะสูงสุด 1,848.07 จุด และมาเทียบกับดัชนีปิดเมื่อวานนี้ (1,629.20 จุด) ดัชนีจะปรับลงมาถึง -11.84%

ส่วนตัวเชื่อว่า รายย่อยติดหุ้นกันอยู่เยอะ เพราะปีนี้ซื้อสุทธิกันไปแล้ว 1.11 แสนล้านบาท

ขอพลังจงอยู่กับทุก ๆ คนครับ

Back to top button