พาราสาวะถี
มันเลวร้ายถึงขั้นที่จะต้องเปิดแอปพลิเคชันไลน์ที่ชื่อว่า “ข่าวจริงประเทศไทย” หรือ “@realnewsthailand” กันเชียวหรือ สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาลอธิบายว่า เป็นความพยายามของรัฐบาลและคสช.ในการที่จะทำให้ข้อมูลข่าวสารที่สับสนในปัจจุบันกระจ่างขึ้น โดยเฉพาะกรณีการช่วยเหลือ 13 ชีวิตที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย
อรชุน
มันเลวร้ายถึงขั้นที่จะต้องเปิดแอปพลิเคชันไลน์ที่ชื่อว่า “ข่าวจริงประเทศไทย” หรือ “@realnewsthailand” กันเชียวหรือ สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาลอธิบายว่า เป็นความพยายามของรัฐบาลและคสช.ในการที่จะทำให้ข้อมูลข่าวสารที่สับสนในปัจจุบันกระจ่างขึ้น โดยเฉพาะกรณีการช่วยเหลือ 13 ชีวิตที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย
เข้าใจความจำเป็นของรัฐบาลในการที่จะต้องเปิดทุกช่องทางเพื่อสื่อสาร ทำความเข้าใจกับประชาชน เรื่องไหนไม่เป็นความจริงเป็นสิทธิโดยชอบธรรมไม่เฉพาะรัฐบาลเท่านั้น ไม่ว่าใครก็ตามพึงที่จะต้องชี้แจง อธิบายความจริงให้ปรากฏต่อสาธารณชน แต่คำถามที่ตามมาคือผู้รับสื่อหรือรับสาร โง่ ดักดานถึงขั้นที่แยกแยะไม่ออกว่าเรื่องไหนจริงสิ่งไหนเท็จอย่างนั้นหรือ
ขณะเดียวกันก็เกิดปุจฉาขึ้นมาว่า แล้วความจริงที่โฆษกไก่อูพยายามจะบอกกล่าวนั้น มันเป็นความจริงของใคร ต้องใช้การตีความใช่หรือไม่ ยกตัวอย่างกรณีบทสัมภาษณ์นิตยสารไทม์ของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ถามว่าเฉพาะเนื้อหาคำให้สัมภาษณ์ที่ถูกแปลผ่านเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล มีอะไรที่สื่อดังไปบิดเบือนหรือไม่นำเสนอตามความเป็นจริงหรือไม่
หากนั่นเป็นความจริงที่ฝ่ายรัฐบาลเผด็จการต้องการมันก็ใช่ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะความจริงส่วนที่เหลือคือ ไทม์ยังมีบทวิเคราะห์ที่มองถึงสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศไทยด้วย ถ้าเช่นนั้นถามว่าแล้วทำไมรัฐบาลไม่แปลความหมายมานำเสนอควบคู่กันไปเล่า หากบอกว่าเพื่อให้ประเทศไทยมีแต่ข่าวที่เป็นจริง เพราะประชาชนจะได้นำไปวิเคราะห์พิจารณาเองได้ทั้งหมด
ไม่ต้องบอกว่าส่วนที่เหลือให้ไปหาอ่านกันเอาเอง ก็ขนาดคนที่ได้ชื่อว่ารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมยังอ่านไม่ได้แปลไม่ออก แล้วคนส่วนใหญ่ของประเทศก็คงไม่ต่างกัน ดังนั้น หากต้องการให้ประชาชนรับข่าวสารที่เป็นจริง ก็ควรที่จะนำเสนอเนื้อหาให้ครอบคลุม รอบด้าน จะได้ไม่ต้องมีใครไปแปลความหมายเป็นอย่างอื่น
แค่เท่านี้ก็ทำให้เห็นแล้วว่าแอปพลิเคชันไลน์ที่เปิดขึ้นมานั้น ต้องการนำเสนอความจริงแบบไหน อย่างไรกันแน่ ยิ่งเป็นความจริงที่เกี่ยวกับปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ในฐานะคนที่คิดนโยบายและประเคนสารพัดโครงการไปให้ จะกล้านำเสนอสิ่งที่ไม่ประสบผลสำเร็จ ประจานความล้มเหลวในการทำงานของตัวเองหรือไม่
เหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนจะเชื่อโดยไร้ข้อกังขา ทุกอย่างทุกโครงการและทุกรัฐบาลล้วนแล้วแต่ผ่านกระบวนการตรวจสอบและยอมรับจากประชาชนทั้งสิ้น มิเช่นนั้น หากยัดเยียดทุกอย่างลงไปแล้วเชื่อมั่นว่าประชาชนพอใจ รับได้ ไม่มีใครต่อต้าน คนคิดและบริหารประเทศในแต่ละยุคคงกำชัยชนะในสนามเลือกตั้งและเป็นรัฐบาลยาวนานอย่างแน่นอน
แต่เพราะความเป็นจริงก็คือ สิ่งที่ทำหาใช่ว่าจะสร้างความประทับใจให้กับประชาชนทั้งหมด ผลสำรวจความคิดเห็นของนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา น่าจะเป็นตัวอธิบายได้ชัด กับการถามความเห็นเรื่อง “นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจไทย” เมื่อถามถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 54.88 ระบุภาพรวมเศรษฐกิจแย่ลง เพราะราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย และราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น
รองลงไปร้อยละ 30.24 ระบุภาพรวมเศรษฐกิจเท่าเดิม เพราะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเลย นั่นจึงเป็นเหตุผลของการตอบคำถามต่อมาถึงความเชื่อมั่นในการบริหารงานของรัฐบาลและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังจะทำให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้นหรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่ร้อยละ 56.64 ไม่มีความเชื่อมั่น เพราะนโยบายและโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลไม่ได้ช่วยประชาชนทุกระดับอย่างแท้จริง เป็นปัญหาที่แก้ไขได้ยาก รัฐบาลแก้ปัญหาไม่ตรงจุด
ขณะที่บางส่วนระบุว่า เป็นโครงการที่ไม่ต่อเนื่อง และเป็นโครงการระยะสั้น จึงมีผลต่อไปว่าเมื่อมีการเลือกตั้งและได้รัฐบาลชุดใหม่ จะทำให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้นหรือไม่ ส่วนใหญ่ร้อยละ 60.64 เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น ต่างชาติจะเข้ามาลงทุนมากขึ้น เนื่องจากมีความมั่นใจต่อรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐบาลชุดใหม่น่าจะมีแนวทางในการบริหารและพัฒนาประเทศได้ดีกว่า
วันเดียวกันโพลต่างสำนักอย่างสวนดุสิต สอบถามความเห็นประชาชนโดยชวนให้มาช่วยกันคิดเกี่ยวกับการเลือกตั้งในปี 2562 ผลที่ได้ก็ไม่ต่างจากนิด้าโพล เพราะส่วนใหญ่ชี้ว่าผลดีของการเลือกตั้งคือประชาธิปไตย เมื่อเลือกตั้งแล้วการเมืองจะดีขึ้น พร้อมเชื่อมั่นด้วยว่าหากไม่มีการเลือกตั้งจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของประเทศ
แต่ที่ต้องขีดเส้นใต้ก็คือ เสียงส่วนใหญ่มองกำหนดวันเลือกตั้งเป็นข่าวดี อยากไปใช้สิทธิ โดยเรียกร้องให้ท่านผู้นำประกาศวันเลือกตั้งให้ชัด แต่ไม่ค่อยเชื่อมั่นว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในปีหน้า อย่างไรก็ตาม ก็ถือว่าเมื่อพิจารณาจากเปอร์เซ็นต์ที่คิดอย่างนั้นก็ถือว่าไม่สูงจนน่าตกใจ ซึ่งนั่นหมายความว่า แม้จะเป็นเพียงการสำรวจจากคนส่วนหนึ่ง แต่ก็น่าจะเป็นภาพสะท้อนโดยภาพรวมว่า คนจำนวนไม่น้อยยังหวังว่า รัฐบาลเผด็จการจะทำตามสัญญา
ส่วนเรื่องพลังดูดหลังจากกลุ่ม 3 ส.หรือ 3 มิตรเดินสายแบบไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม จนผู้มีอำนาจต้องแสดงความเป็นกลางกระเท่เร่ออกมาอุ้มว่าทุกอย่างไม่มีอะไรผิดกฎหมาย เพราะวางเป้าหมายไว้ชัดคือดึงอดีตส.ส.ของพรรคนายใหญ่มาร่วมชายคาให้ได้ แต่ปรากฏว่าในทางปฏิบัติกระแสตอบรับของประชาชนในพื้นที่โดยเฉพาะภาคอีสานนั้นกลับเป็นไปในทิศทางตรงข้าม
การเอาคดีความมาขู่พ่วงด้วยข้อเสนอผลตอบแทนมหาศาล แต่พออดีตส.ส.ไปวัดความนิยมจากคนในพื้นที่แล้ว คำตอบที่ได้รับคือ ไม่ชอบทหาร เกลียดเผด็จการและการเนรคุณ จึงทำให้ฝ่ายผู้มีอำนาจต้องปรับแผนกันใหม่ หลังจากที่ทำให้ไก่ตื่นกันไปแล้ว และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้บทสรุปจากที่ประชุมร่วมกับพรรคการเมืองยังไม่ขยับไปถึงไหน ประเภทที่ว่าประชารัฐแน่ไทยนิยมเยี่ยม เอาเข้าจริงก็ยังขย่มล้มทับประชานิยมไม่ได้ นี่แหละโจทย์ใหญ่และยากของคนอยากสืบทอดอำนาจ