สัญญาณขึ้นดอกเบี้ย
จู่ ๆ ก็มีข่าวเกี่ยวกับแบงก์ชาติส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่ของพรรค์นี้ จะว่าตามเหตุผลเสียทุกเรื่องคงไม่ได้
พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล
จู่ ๆ ก็มีข่าวเกี่ยวกับแบงก์ชาติส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่ของพรรค์นี้ จะว่าตามเหตุผลเสียทุกเรื่องคงไม่ได้
โดยข้อเท็จจริง นับแต่การประชุม กนง.เมื่อเดือนที่แล้ว ก็เริ่มมีคนส่งสัญญาณอยากให้ขึ้นดอกเบี้ยกันแล้ว แต่เสียงส่วนใหญ่ยังเห็นว่าไม่ถึงเวลาเหมาะสม
รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 4/2561 วันที่ 20 มิถุนายน 2561 มีมุมมองว่า เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงมาจากภายนอกมากขึ้นจากสงครามการค้าและความผันผวนของค่าเงิน มีโอกาสที่การขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ต่ำกว่าคาดในกรณีที่เกิดความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลก จากการตอบโต้ทางการค้า (trade diversion) ซึ่งอาจมีผลต่อการส่งออกของไทยและอาจเข้ามาแข่งกับตลาดในประเทศมากกว่าที่ประเมินไว้ แต่กรรมการบางส่วน ก็ยังคงเห็นว่าเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยที่อยู่ในเกณฑ์ดีทำให้มีความเสี่ยงจำกัดที่เงินทุนจะไหลออก เนื่องจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยและต่างประเทศ เพียงแต่เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องติดตามการเคลื่อนย้ายเงินทุนของนักลงทุนไทยและต่างชาติอย่างใกล้ชิด
กนง.ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้ มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นกว่าที่ประเมินไว้เดิมเล็กน้อยจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและแรงกดดันอุปสงค์ที่ ปรับดีขึ้นบ้าง โดยปรับเพิ่มประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2561 เป็น 1.1% จากเดิม 1.0% และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2562 อยู่ที่ 1.2%
กนง.ส่วนใหญ่ เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและมีส่วนช่วยให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเคลื่อนไหวในกรอบเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน กรรมการส่วนใหญ่จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50%
ในขณะที่กรรมการ 1 จาก 6 คน เห็นควรให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เป็น 1.75% ต่อปี เนื่องจากเห็นว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีความชัดเจนเพียงพอ อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเข้าสู่กรอบเป้าหมายตลอดช่วงประมาณการ และนโยบายการเงินที่อยู่ในระดับที่ผ่อนคลายมากอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจส่งผลให้ประชาชนและภาคธุรกิจ ประเมินความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงภาวะการเงินในอนาคตต่ำกว่าที่ควร
ท่าทีของ กนง.ที่ผ่านมาแค่เดือนเดียวจึงไม่น่าที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบ U-Turn ได้
ยิ่งหากประเมินจากท่าทีในอดีต ที่กนง.ยืนกรานมาโดยตลอดไม่ยอมปรับลง-ขึ้นดอกเบี้ย ในปีก่อน ที่เกิดภาวะบาทแข็งเกินจนเป็นปรากฏการณ์ที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า เป็น positive shock
ที่ผ่านมา นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ยืนกรานมาตลอดว่า ยังไม่มีความจำเป็นต้องรีบขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เมื่อพิจารณาจากอัตราเงินเฟ้อ ยังไม่มีแรงกดดัน และยังไม่เข้าสู่กรอบเป้าหมาย ขณะที่เศรษฐกิจยังคงค่อย ๆ ฟื้นตัว ยังไม่ได้เป็นการฟื้นแบบกระจายตัว ดังนั้นการทำนโยบายการเงิน จะต้องมุ่งตอบโจทย์เศรษฐกิจภายในประเทศ แม้ว่าเราจะมีกันชนในเรื่องความแข็งแกร่ง
นายวิรไท ระบุจุดยืนของ ธปท.ว่า การทำนโยบายการเงิน จะต้องพิจารณาข้อมูลต่อเนื่อง หลายองค์ประกอบ ไม่ได้พิจารณาเฉพาะอัตราเงินเฟ้อ และการฟื้นตัวเท่านั้น โดยเฉพาะปัญหาแนวโน้มการกีดกันทางการค้าและมาตรการตอบโต้ทางการค้าของประเทศอุตสาหกรรมหลัก ก็มีความชัดเจนมากขึ้น และขยายวงกว้างออกไป อาจมีผลกระทบต่อการนำเข้าและการส่งออก จากการบิดเบือนการค้าระหว่างประเทศ ที่ประเทศผู้ผลิตไม่สามารถส่งสินค้าได้ ก็จะหาตลาดใหม่ เช่น ไทย ก็จะกระทบต่อผู้ประกอบการในประเทศ แม้ไทยจะไม่ใช่เป้าหมายโดยตรง แต่ไทยก็มีการส่งออกสินค้าไปยังประเทศอื่นเพื่อผลิตส่งออกต่อ เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าที่ใช้เทคโนโลยี ก็จะได้รับผลกระทบ
ปมที่นายวิรไทแสดงออกถึงเหตุผลที่ต้องระวังในกรณีเกิดแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ทยอยปรับขึ้น จะทำให้เกิดความเสี่ยงกับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ จากที่อัตราดอกเบี้ยต่ำมาเป็นเวลานานก็มีการก่อหนี้ต่างประเทศสูง เมื่อดอกเบี้ยขึ้นก็เริ่มส่งผลกระทบต่อการชำระหนี้ทั้งภาครัฐและเอกชน ก็ถือว่าสมเหตุสมผล แต่มีคำถามตามมาว่า ขีดความสามารถของไทยในการสกัดกั้นแนวโน้มของโลกดังกล่าวมีมากน้อยเพียงใด
แม้เศรษฐกิจไทยปัจจุบัน จะแข็งแกร่ง เพราะไม่ได้มีการพึ่งเงินตราต่างประเทศ ก่อหนี้ต่างประเทศไม่สูง และต่างชาติถือครองพันธบัตรไม่มากประมาณ 10% เมื่อเทียบกับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่ถือครองเฉลี่ย 30-40% ทุนสำรองระหว่างประเทศสูงกว่าหนี้ระยะสั้น 3.5 เท่า และดุลบัญชีเดินสะพัดคาดว่าปีนี้จะเกินดุล 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 8-9% ของจีดีพี ทำให้ ธปท.มีความคล่องตัวในการทำนโยบายการเงินเพื่อตอบโจทย์เศรษฐกิจประเทศ แต่ความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกมีขนาดใหญ่มาก เป็นสิ่งที่น่ากังวลโดยเฉพาะความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
ข้อเท็จจริงในยามนี้ ปรากฏการณ์ “positive shock” ต่อเนื่องจากปีก่อนยังดำรงอยู่จากการที่เรามีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมาก และการนำเข้าลดลงจากราคาน้ำมัน และการลงทุนที่ชะลอตัว จนทำให้เราเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในปริมาณมาก จนเกิดแรงกดดันต่อค่าเงินอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะผ่อนคลายลงมากในสองเดือนที่ผ่านมาจนบาทอ่อนยวบลงมาก็ตาม
คำถามว่า กนง.ควรจะขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่ และอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินไทยควรจะเป็นขาขึ้นหรือยัง จึงเป็นปริศนาเสมือน “คนล่าเงา” ต่อไป เพราะไม่มีสูตรสำเร็จ