บริหารภัยพิบัติ

โพลปลาบปลื้มคนไทยรักสามัคคีกันจากปฏิบัติการช่วยเหลือ 13 ชีวิตในถ้ำหลวง อันที่จริงไม่เฉพาะคนไทยหรอก คนชาติไหนก็น้ำหนึ่งใจเดียวกันยามเกิดวิกฤติ ต้องรอดูหลังวิกฤติต่างหาก ถ้าไม่เป็นไปตามความคาดหวังจะโทษกันไปโทษกันมาไหม หรือถ้าสำเร็จแล้วปูนบำเหน็จยกย่องชื่นชมไม่เท่ากัน จะขัดแย้งน้อยเนื้อต่ำใจไหม


ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง

โพลปลาบปลื้มคนไทยรักสามัคคีกันจากปฏิบัติการช่วยเหลือ 13 ชีวิตในถ้ำหลวง อันที่จริงไม่เฉพาะคนไทยหรอก คนชาติไหนก็น้ำหนึ่งใจเดียวกันยามเกิดวิกฤติ ต้องรอดูหลังวิกฤติต่างหาก ถ้าไม่เป็นไปตามความคาดหวังจะโทษกันไปโทษกันมาไหม หรือถ้าสำเร็จแล้วปูนบำเหน็จยกย่องชื่นชมไม่เท่ากัน จะขัดแย้งน้อยเนื้อต่ำใจไหม

แบบตอนนี้สื่อไทยยกให้อดีตผู้ว่าฯ เชียงรายเป็นฮีโร่ แต่รัฐมนตรีมหาดไทยก็บอกว่าไม่มีใครเป็นพระเอกหรอก สำเร็จได้เพราะความร่วมมือจากทุกฝ่าย

ปฏิบัติการช่วย 13 ชีวิตตอนนี้ไม่ใช่แค่คนไทย คนทั้งโลกก็เอาใจช่วยและโดดมาช่วย นอกจากความเป็นเด็ก เป็นนักกีฬา เป็นนักสู้ การกู้ภัยในถ้ำหลวงยังเป็นปฏิบัติการท้าทาย ระดับภารกิจเปลี่ยนโลกก็ว่าได้ อีลอน มัสค์ เจ้าพ่อไอทีจึงส่งทีมมาพร้อมไอเดียใช้ท่อไนล่อนยักษ์อัดอากาศเป็นทางออก

แต่ดูเหมือนไม่ใช่สิ่งใหม่ เพราะนายกฯ “สฤษดิ์น้อย” เอ๊ย “ลุงตู่” คิดได้ก่อน ส่งคลิปใช้ท่อผ้าใบให้รัฐมนตรีมหาดไทยดู เป็นของไทยทำอีกต่างหาก ขณะที่มัสค์ยอมรับ ใช้พ็อดหรือท่ออัดอากาศทำได้ยาก เพราะเส้นทางในถ้ำซับซ้อน

ถึงตอนนี้ หลังจากอดีตหน่วยซีลพลีชีพระหว่างดำน้ำ คนทั่วไปคงเข้าใจแล้วว่า การนำ 13 ชีวิตออกมาเป็นภารกิจหนักหนาสาหัสยิ่งกว่าค้นหาหลายเท่า (บางคนก็เพิ่งเข้าใจว่าถ้ำหลวงคดเคี้ยวซับซ้อนเพียงไร ตอนได้ดูทีวีญี่ปุ่น โดยทีวีไทยราชการไทยไม่เคยทำให้ดู) การนำเด็ก 12 คนโค้ช 1 คนที่ว่ายน้ำไม่เป็น ดำน้ำออกมาในถ้ำคดเคี้ยวบางตอนก็แคบ แม้มีหน้ากากมีหน่วยซีลเป็นพี่เลี้ยง ก็เสี่ยงอย่างมาก แต่จะทำอย่างไร เมื่อเจาะโพรงข้างบนไม่ได้ รอต่อไป ฝนก็ยิ่งตกหนักในถ้ำก็ขาดอากาศ

ผู้รับผิดชอบก็ต้องตัดสินใจ เมื่อตัดสินใจอย่างไรก็ต้องแจกแจงเหตุผลทางเลือกต่าง ๆ ให้ญาติและสาธารณชนรับรู้อย่างชัดเจน ไม่ให้ไปดรามากันภายหลัง

ปฏิบัติการถ้ำหลวง ตามมาด้วยเรือท่องเที่ยวล่มที่ภูเก็ต มีผู้เสียชีวิตแล้ว 41 ราย สูญหาย 15 ทำให้หลายฝ่ายเริ่มพูดถึงการตั้งศูนย์กู้ภัยแห่งชาติ เป็นศูนย์บัญชาการหลักเมื่อเกิดวิกฤติ

เพราะเหตุการณ์ทั้งสองแห่ง เพียงใช้ผู้ว่าราชการจังหวัดออกคำสั่งบัญชาการตาม พ.ร.บ.บรรเทาสาธารณภัย เหมือนเกิดภัยหนาวภัยแล้งน้ำท่วม แต่บังเอิญ ผู้ว่าฯ เชียงรายจบวิศวกรรมโยธา รู้จิตวิทยาวิธีสื่อสารกับสังคม ส่วนที่ภูเก็ต สถานการณ์ประดังเกินรับมือ โรงพยาบาลจังหวัดไม่สามารถรองรับคนเจ็บ กระทั่งที่เก็บศพก็มีไม่พอ รัฐบาลจีนก็ออกมาจี้ให้เร่งค้นหา

ว่าที่จริงเรามีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ตั้งแต่ปี 2545 มีศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ตั้งแต่หลังเกิดสึนามิ 2547 แล้วเพิ่งเอาไปรวมกับ ปภ. แต่หน้าที่ของ ปภ.ส่วนใหญ่คือซื้อของแจกผู้ประสบภัย ไม่ใช่ฝึกผู้เชี่ยวชาญสถานการณ์วิกฤติ หรือศึกษาสั่งสมความรู้เกี่ยวกับภัยพิบัติ

มันจึงเหมือนมีช่องโหว่ ว่าควรมีหน่วยงานผู้เชี่ยวชาญที่ไม่อยู่ใต้วัฒนธรรมมหาดไทย ทำงานร่วมกับผู้ว่าฯ ท้องถิ่น อาสา ขอความช่วยเหลือจากทหาร หน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญระดับโลก อย่างกรณีถ้ำหลวง (ซึ่งนักดำน้ำอังกฤษบังเอิญอาสามา)

แต่ในบ้านเรา ก็กลัวใจว่าเสนออะไรแบบนี้ จะฉวยไปตั้งหน่วยงานใหม่ใหญ่ ๆ โต ๆ และสิ้นเปลืองอีก ขณะที่บางคนก็เคยชินว่ากู้ภัยต้องใช้ทหาร พอเสนอให้มีผู้เชี่ยวชาญ เพราะทหารไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญโดยตรง ก็โดนประท้วงถึงบ้านหาว่าเอาเท้าราน้ำ

Back to top button