‘มิทซึจิ GL’ VS ‘สุวิน BEAUTY’ (ภาค 1)

เห็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับหุ้น บริษัท บิวตี้ คอมมูนิตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ BEAUTY แล้วชวนให้นึกถึง “หุ้นลีสซิ่งชื่อดังกระฉ่อน” อย่าง บริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) หรือ GL ฉันใดก็ฉันนั้น บอกไม่ถูก


แฉทุกวันทันเกมหุ้น

เห็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับหุ้น บริษัท บิวตี้ คอมมูนิตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ BEAUTY แล้วชวนให้นึกถึง “หุ้นลีสซิ่งชื่อดังกระฉ่อน” อย่าง บริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) หรือ GL ฉันใดก็ฉันนั้น บอกไม่ถูก

มีกรณีเกิดขึ้นที่เมื่อนำมาเทียบเคียง ถึงกับทำให้ผู้สันทัดหลายต่อหลายท่านร้องอุทานออกมาอย่างพร้อมเพียงเป็นเสียงเดียวกันว่า “เหมือนกันอย่างกับแกะ!”

ยุคทองของ GL เริ่มต้นอย่างเป็นทางการช่วงราวปลายปี 2558-ต้นปี 2559 เมื่อนายทุนใหญ่ (เฉพาะกิจ) คือ J Trust Company Limited เปิดตัวเป็นสปอนเซอร์หลักด้วยการซื้อหุ้นกู้แปลงสภาพ (Convertible Bond) จำนวน 3 รุ่น มูลค่ารวมเฉียดหมื่นล้านบาท

ไม่มีอะไรต้องสงสัย! เพราะหลังจากนั้นเรื่องราวสวย ๆ งาม ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขยายตัวทางธุรกิจเริ่มถูกเปิดเผยต่อสาธารณชนมาเป็นระลอก อย่างต่อเนื่องเป็นระบบ เสมือนได้รับการจัดระเบียบ หรือถูกวางรูปแบบมาเป็นอย่างดีอยู่แล้ว

แน่นอนว่า สตอรี่ต่าง ๆ ทำงานจนเกิดประสิทธิผลอย่างซื่อสัตย์ โดยสะท้อนผ่านราคาหุ้น GL จากระดับ 18.20 บาท เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2558 จนขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ระดับ 69.75 บาท ในช่วงการซื้อขายของวันที่ 16 ธันวาคม 2559 ก่อนจะปิดย่อตัวลงมาเล็กน้อยที่ 69 บาท ภายในวันเดียวกัน

คงไม่ต้องพูดอะไรกันมาก ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 280% ในระยะเวลาแบบนับกลม ๆ เพียงปีเดียวเท่านั้น!

นี่ถ้าไม่นับช่วงก่อนวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งที่เคยมีหุ้นในตำนานอย่าง “ฟินวัน” เสียอย่างเดียว GL ก็คงเป็นหุ้นตัวแรกที่แสดงอภินิหารให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของใครหลายต่อหลายคน

สตอรี่หลัก ๆ ที่ถูกนำมาใช้เพื่อดันราคาหุ้น GL จนพุ่งทะยานขึ้นเกือบ 3 เท่าตัวในช่วงระยะเวลาดังกล่าว คือ การขยายตลาดไปปล่อยสินเชื่อในต่างประเทศเพิ่มขึ้น แต่นั่นคงยังไม่เพียงพอจะทำให้เกิดการแสดงผลออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ ดังเช่นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น

โดย GL มีการเสกสรรปั้นแต่งเรื่องราวเพื่อเติมเต็มในส่วนของรายละเอียดมากขึ้น ด้วยการเปลี่ยนมาใช้ท่าไม้ตายสไตล์ซามูไรนอกรีต!

จากเดิมปล่อยสินเชื่อมอเตอร์ไซค์ เครื่องจักรทางการเกษตร ฯลฯ ให้กับลูกหนี้รายย่อยจำนวนมาก มาเป็นการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกหนี้รายใหญ่จำนวนไม่กี่ราย หรือพูดให้ง่ายเลยคือปรับกลยุทธ์จากที่เคย ปล่อยสินเชื่อรายย่อยแบบกระจายตัว มาเป็น ปล่อยสินเชื่อรายใหญ่แบบกระจุกตัว

แล้วลองนึกดูว่า วิธีการแบบเดิม GL ต้องปล่อยกู้มอเตอร์ไซค์กี่ล้านคัน ถึงจะมีมูลค่าเทียบเท่ากับวิธีการแบบใหม่?

ก็ต้องถือเป็นความชาญฉลาดของฝ่ายบริหาร GL ในการปรับเปลี่ยนวิธีการสร้างรายได้ด้วยวิธีนี้ แต่ในขณะเดียวกันคงต้องถือเป็นโชคร้ายของผู้ถือหุ้น “เพราะอะไรที่มันไม่จริง มันก็ย่อมไม่มีความจีรัง” เป็นสัจธรรมอยู่แล้วนะซี

โปรดติดตามตอนต่อไปในคอลัมน์ “แฉทุกวัน ทันเกมหุ้น” แห่งนี้ รับรองไม่มีผิดหวัง! สำหรับวันนี้ ดูภาพประกอบซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นทั้ง 2 บริษัทไปพลาง ๆ ก่อน แล้วเราจะกลับมาพบกันใหม่นะจ๊ะ…

อิ อิ อิ

Back to top button