กลยุทธ์สงครามการค้า 2 แนว
ตัวเลขได้เปรียบดุลการค้าที่ลดลงในหลายเดือนมานี้ของจีน กับสหรัฐฯ แม้จะยังบอกอะไรไม่ได้ชัดเจนว่ากลยุทธ์เปิดสงครามการค้าของ โดนัลด์ ทรัมป์และพวกประสบความสำเร็จ แต่จีนก็มีตัวเลขที่ยืนยันว่า มีความพร้อมสำหรับรองรับผลกระทบจากสงครามการค้าข้ามประเทศพอสมควร
พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล
ตัวเลขได้เปรียบดุลการค้าที่ลดลงในหลายเดือนมานี้ของจีน กับสหรัฐฯ แม้จะยังบอกอะไรไม่ได้ชัดเจนว่ากลยุทธ์เปิดสงครามการค้าของ โดนัลด์ ทรัมป์และพวกประสบความสำเร็จ แต่จีนก็มีตัวเลขที่ยืนยันว่า มีความพร้อมสำหรับรองรับผลกระทบจากสงครามการค้าข้ามประเทศพอสมควร
สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนเปิดเผยล่าสุดว่า ยอดค้าปลีกเดือนมิถุนายน ขยายตัว 9% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่รวดเร็วขึ้นจากเดือนพฤษภาคมที่ขยายตัวเพียง 8.5%
ส่วนในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ยอดค้าปลีกขยายตัว 9.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี แตะที่ระดับ 18 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 2.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส 1 ซึ่งขยายตัว 9.8%
รายงานระบุว่า ยอดค้าปลีกในพื้นที่ชนบท ขยายตัว 10.5% ในช่วงครึ่งปีแรก เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งยังคงแซงหน้ายอดค้าปลีกในเขตเมืองที่ขยายตัวเพียง 9.2% แล้วยอดการใช้จ่ายทางออนไลน์ยังคงแข็งแกร่ง โดยมีการขยายตัวสูงถึง 30.1% แตะที่ระดับ 4.1 ล้านล้านหยวนในช่วงครึ่งปีแรก
ข้อเท็จจริงข้างต้นบ่งบอกว่าเศรษฐกิจภายในของจีน ยังคงเดินหน้าแข็งแกร่ง ทำให้สามารถทำสงครามการค้าในระยะยาวได้นาน สอดรับกับกลยุทธ์ที่จีนกำลังจะใช้การตอบโต้-เจรจาควบคู่กันในสงครามการค้ากับสหรัฐฯ ตามกลยุทธ์ “ติดพัน” อันเป็นหนึ่งใน 36 กลยุทธ์ที่จีนใช้ในสงครามมาแต่โบราณ
ตามหลักการทั่วไปของสงคราม ตำราพิชัยสงครามซุนหวู่ ว่าด้วยการทำศึก เขียนไว้ว่า “เมื่อรบพึงชนะโดยเร็ว ยืดเยื้อทหารจะอ่อนเปลี้ย ขวัญกำลังใจจะเสีย…การทำศึกยืดเยื้อไม่เคยเป็นผลดีต่อประเทศชาติ” นั่นหมายความว่า ถ้าจะรบ ต้องรบให้ชนะอย่างรวดเร็ว อย่าทำศึกยืดเยื้อ แต่ก็เปิดช่องยกเว้นให้สามารถใช้กลยุทธ์จำเพาะได้ หากจำเป็น
กลยุทธ์ติดพัน เป็นหลักกลยุทธ์ที่ใช้ในการศึกที่ติดพันยาวนาน เมื่อยากจะเอาชนะในการสู้รบระยะสั้นและประเมินแล้วว่าอยู่ในฐานะเสียเปรียบ จำต้องทำศึกยืดเยื้อเพื่อลดทอนกำลังของข้าศึก (แต่หากยืดเยื้อติดพันนานเกินไปก็ไม่เป็นผลดี)
ในประวัติศาสตร์สงครามนั้น กลยุทธ์สงครามยืดเยื้อมักจะใช้โดยฝ่ายที่เสียเปรียบ อาจจะเนื่องจากการที่มีกำลังทหารและความสามารถน้อยกว่าและ/หรือมีอาวุธยุทโธปกรณ์ด้อยกว่า และมักจะเป็นการใช้เมื่อหมดหนทางจริง ๆ แล้ว ตามขั้นตอน “จรยุทธ์-ยัน-รุก-พิชิต”
ในสงครามสมัยใหม่ที่โด่งดัง สงครามยืดเยื้อนั้น เกิดขึ้นประปรายก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งเกิดขึ้นประมาณ 25 ปี โดยที่ “ผู้เล่นหลัก” คือ เยอรมนีที่เป็นฝ่าย “มหาอำนาจกลาง” ประกอบด้วย เยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี และตุรกี ในขณะที่ฝ่ายตรงข้ามก็คือฝ่ายสัมพันธมิตรที่ประกอบด้วยฝรั่งเศส อังกฤษ รัสเซีย
เมื่อเข้าสู่ สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง กำลังของทั้งสองฝ่ายต่างก็พอ ๆ กัน และมีการสื่อสารและการเคลื่อนพลยังล้าหลัง รถบรรทุกและรถถังที่ใช้ขนส่งกำลังยังมีน้อยมากและไม่เพียงพอ ทำให้ผู้นำทหารต่างก็ต้องใช้กลยุทธ์สงครามแบบยืดเยื้อโดยการขุดสนามเพลาะและรบกันในสนามเพลาะเป็นหลัก เสียหายกันอย่างหนัก มาถึงช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง พรรคคอมมิวนิสต์จีน ใช้กลยุทธ์ถอยทัพหนีการล้อมปราบจากรัฐบาลก๊กมินตั๋งของเจียงไคเช็ค ที่เรียกกันว่า การเดินทางไกล (Long March) ถึง 25,000 ลี้ หรือ 12,500 กิโลเมตร ในช่วงระยะเวลาประมาณ 1 ปี ระหว่างตุลาคม 1934 ถึง ตุลาคม 1935 ครั้งนั้นกองทัพแดงของพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งมีกำลังพลน้อยกว่ารัฐบาลก๊กมินตั๋งอย่างมาก จำเป็นต้องเดินผ่าน 11 มณฑล และพื้นที่ทุรกันดารมากมาย จำนวนทหารตอนเริ่มต้นเดินทางไกลจำนวน 100,000 คน สามารถรอดชีวิตเมื่อจบภารกิจเหลือเพียง 8,000 คนเท่านั้น แต่ภายใต้ความสูญเสียมากมายขนาดนั้น เหมาเจ๋อตุงกลับประกาศชัยชนะโดยบอกว่า ไม่เคยมีครั้งไหนในประวัติศาสตร์โลก ที่มีการเดินทัพทางไกลขนาดนี้ ได้พิสูจน์ความเป็นวีรชนคนกล้าของกองทัพแดง พรรคก๊กมินตั๋งทุ่มทรัพยากรล้อมปราบกองทัพแดงมากมายขนาดนั้น แต่ยังไม่สามารถพิชิตกองทัพแดงได้
ที่สำคัญที่สุด พรรคคอมมิวนิสต์ได้โฆษณาป่าวประกาศนโยบายปลดแอกมวลชนต่อประชาชน 200 ล้านคนใน 11 มณฑล ด้วยการเดินทางไปทั่วแผ่นดินจีน
ยังไม่มีใครรู้ว่า กลยุทธ์ติดพันของจีนเพื่อทำสงครามการค้ายืดเยื้อนี้ จะประสบความสำเร็จตามรอย เหมา เจ๋อ ตง หรือไม่ แต่คำถามว่ากลยุทธ์รบแบบสายฟ้าแลบสไตล์เยอรมนีในสงครามโลกที่ผ่านมาสองครั้ง ซึ่งสหรัฐฯ พยายามใช้โดยมีหลักการหรือยุทธวิธีใหญ่ ๆ 3 ประการก็คือ หนึ่ง วางกลยุทธ์การเข้าทำศึกอย่างรอบคอบและชาญฉลาดโดยมีเป้าหมายสำคัญก็คือ ใช้กำลังเข้ายึดตำแหน่งยุทธศาสตร์ที่ทำให้ได้เปรียบศัตรู ฆ่าและทำลายฝ่ายตรงข้ามเพื่อให้ยอมแพ้อย่างรวดเร็ว สอง จะต้องมีการรวมกำลังทหารและทรัพยากรจำนวนมากอยู่ในจุดเน้นที่แคบเพื่อเพิ่มอำนาจในการยิง และสาม การเข้าโจมตีจะต้องเป็นเรื่องที่ฝ่ายตรงข้าม “นึกไม่ถึง” ในสงครามแบบสายฟ้าแลบนั้น ฝ่ายที่เข้าโจมตีจะต้องมีแม่ทัพและกองทหารที่มีความสามารถและวินัยสูง นอกจากนั้นก็จะต้องมีอาวุธและยุทโธปกรณ์ในการรบรวมถึงระบบการสื่อสารที่ดีเมื่อเทียบกับศัตรู กลับไม่ค่อยมีคนมั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จมากมาย
เกมสงครามการค้าแบบทุ่มทั้งตัวของสหรัฐฯ กับสงครามยืดเยื้อที่จีนใช้ เป็นสิ่งที่ยากจะชี้ขาดว่าถูกหรือผิด จนกว่าผลลัพธ์จะออกมา
เฉกเช่นเกมในตลาดหุ้นที่นักลงทุนสามารถเลือก “เล่นสั้น” หรือ “เล่นยาว” ตามถนัด