การเมืองเรื่องอิหร่าน-น้ำมัน
จู่ ๆ สหรัฐฯ ก็เปลี่ยนท่าทีเรื่องนโยบายต่ออิหร่านชนิดยู-เทิร์น 180 องศา ทำเอาราคาน้ำมันร่วงกะทันหัน เล่นเอาปรับตัวไม่ถูกกันถ้วนหน้า ถึงความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น
พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล
จู่ ๆ สหรัฐฯ ก็เปลี่ยนท่าทีเรื่องนโยบายต่ออิหร่านชนิดยู-เทิร์น 180 องศา ทำเอาราคาน้ำมันร่วงกะทันหัน เล่นเอาปรับตัวไม่ถูกกันถ้วนหน้า ถึงความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น
คณะทำงานของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ประกาศผ่อนผันให้ประเทศต่าง ๆ สามารถซื้อน้ำมันอิหร่านต่อไป แม้มีการคว่ำบาตรอิหร่าน โดยความเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้นักลงทุนมองว่า สหรัฐฯ อาจยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านในวันข้างหน้า
นายสตีเวน มนูชิน รมว.คลังสหรัฐฯ แถลงว่า ประเทศผู้นำเข้าน้ำมันบางรายจะได้รับการผ่อนปรนให้สามารถซื้อน้ำมันดิบจากอิหร่านได้ต่อไป ถึงแม้ว่าสหรัฐฯ ได้ประกาศมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน พร้อมระบุว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ต้องการสร้างความปั่นป่วนต่อตลาดน้ำมันโลก โดยแสดงท่าทีอ่อนลงว่า สหรัฐฯ ต้องการให้ประเทศต่าง ๆ ลดการซื้อน้ำมันอิหร่านจนถึงระดับศูนย์ แต่ในบางกรณีหลายประเทศไม่สามารถทำเช่นนั้นในช่วงข้ามคืน จึงเสนอข้อยกเว้น
นักลงทุนมองว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวอาจเป็นการส่งสัญญาณว่าสหรัฐฯ จะยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านในวันข้างหน้า หลังจากที่ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ เรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ และบริษัทน้ำมัน ระงับการซื้อน้ำมันดิบจากอิหร่านโดยสิ้นเชิงภายในวันที่ 4 พ.ย. ซึ่งถือเป็นวันครบกำหนด 180 วันนับจากวันที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านในเดือน พ.ค. ซึ่งจะทำให้ทรัมป์สามารถออกคำสั่งคว่ำบาตรอิหร่านครั้งใหม่
หากเป็นอย่างที่นักวิเคราะห์คาดเดา ก็แสดงว่าสงครามโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับภาพลักษณ์ของอิหร่านในฐานะ “ผู้ร้ายของชาวโลก” ที่ถูกตอกย้ำ สร้างความชอบธรรมให้กับการโจมตีอิหร่านสนหลาย ๆ ด้าน เป็นแค่เกมต่อรองระหว่างประเทศธรรมดา
ที่ผ่านมาสงครามโฆษณาชวนเชื่อแบบสมคบคิดระหว่าง “สหรัฐฯ-อิสราเอล-ซาอุดีอาระเบีย เพื่อสร้างภาพ” ผู้ร้ายของชาวโลก ให้อิหร่านดำเนินการมาอย่างเป็นล่ำเป็นสันขึ้นมา แม้จะต่อเนื่องหรือไม่ก็ตาม
ปฏิบัติการสงครามโฆษณาชวนเชื่อเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะนับเนื่องจากการปฏิวัติอิสลาม ค.ศ. 1987 ที่โค่นระบบชาห์ ซึ่งสหรัฐฯ-อังกฤษหนุนหลังเพราะผลประโยชน์น้ำมัน มายาวนาน แม้จะเบี่ยงเบนจากข้อเท็จจริงอย่างมากมาย แต่ก็ยังเป็นพิษตกค้างจนถึงทุกวันนี้ สะท้อนว่าทฤษฎี “สร้างศัตรูประดิษฐ์” ยังเป็นสรณะที่สายเหยี่ยวในเพนตากอนของสหรัฐฯ ยึดถือต่อไป ไม่เปลี่ยนแปลง
แนวคิดของคาร์ล ชมิตต์ ถูกเรียกว่า “พ่ออุปถัมภ์ของลัทธินาซี” ในเยอรมนียุคฮิตเลอร์ ปรากฏในหนังสือปรัชญาการเมืองชื่อ “วิกฤตของประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา” (Crisis of Parliamantary Democracy) ค.ศ. 1932 เริ่มต้นจากพื้นฐานความสัมพันธ์ของมนุษย์ต่อมนุษย์ว่า มีทั้งเสมอภาคกันและไม่เสมอภาคกัน โดยมนุษย์มีธรรมชาติที่จะเลือกปฏิบัติกับคนที่เป็นมิตรอย่างเสมอภาค และคนที่ไม่ใช่มิตรหรือศัตรูอย่างไม่เสมอภาค
จากพื้นฐานดังกล่าว ชมิตต์อธิบายการจัดระเบียบโครงสร้างทางการเมืองว่า การจำแนกมิตรและศัตรู จะทำให้สังคมที่เป็นประชาธิปไตยมีความชัดเจนในการสร้างเจตจำนงของรัฐขึ้นมาได้โดยมีเป้าหมายชัดเจน
เนื่องจากรัฐในความหมายของชมิตต์นั้น เอามาจากนิยามของเฮเกลโดยตรง นั่นคือมีฐานะเป็นองค์ประธานสูงสุดทางจริยธรรมของปวงชน มีฐานะและคุณค่าอยู่เหนือกฎหมาย, ศีลธรรม และระบบเหตุผลทั้งปวง ไม่จำเป็นต้องขึ้นต่อปทัสถานทางจริยธรรมอื่นใด หรืออีกนัยหนึ่ง รัฐคือพระเจ้าผู้ซึ่งเราไม่มีวันหยั่งถึงเจตจำนงได้ (State as a willful and inscrutable God)
เมื่อเจตจำนงสูงสุดของสังคมคือรัฐ แล้วรัฐที่มีประสิทธิภาพ และสร้างเจตจำนงสูงสุดให้ปวงชนได้ ตามสูตรของเฮเกล รัฐจึงต้อง “ลดความเป็นการเมือง” (depoliticizations) ซึ่งจะสามารถขจัดวาทกรรมบนปลายลิ้นที่ว่างเปล่าของนักเลือกตั้ง
วิธีการลดความเป็นการเมืองของชมิตต์ เพื่อสร้างประชาธิปไตยที่ปราศจากการเมือง (Apolitical Democracy) คือ การจำแนกมิตร และศัตรูของรัฐออก แล้วก็ทำลายพวกที่ถูกเรียกว่าเป็นศัตรูลงไปให้ราบคาบ (หากไม่มีศัตรู ก็ต้องสร้างมันขึ้นมา แล้วหาทางทำลายลงไป)
กรอบความคิดของชมิตต์ เมื่อถูกนำไปปรับใช้กับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การทำลายล้างศัตรูของรัฐ จึงเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงไว้ซึ่งฐานะอันศักดิ์สิทธิ์ของรัฐด้วย และอีกทางหนึ่ง เป็นการสร้างศัตรูที่ไม่จำเป็นขึ้นโดยปริยาย
แนวคิดการทำลายศัตรูทางการเมืองของชมิตต์ เมื่อใช้กับกรณีของอิหร่าน (และอาจจะรวมถึงเกาหลีเหนือ) จึงถูกเบี่ยงเบนไปตามอหังการของผู้นำในชาติอภิมหาอำนาจ ไม่กล้าใช้ท่าทีทำนองเดียวกันกับรัสเซีย หรือจีน
ปริศนาท่าทีของทรัมป์ต่อกรณีอิหร่าน ที่ก่อนหน้าทำให้ราคาน้ำมันแพงสุดในรอบ 3 ปี แล้วกลับดำดิ่งกะทันหันล่าสุด นำมาซึ่งคำถามว่า อิหร่านเป็นแค่ศัตรูประดิษฐ์ หรือเป็นแค่เครื่องมือเล่มเกมอำนาจของสหรัฐฯ ในเรื่องราคาน้ำมัน หรือเรื่องอื่น ๆ