นอร์เวย์ สังคมไร้เงินสด

สัปดาห์ที่ผ่านมา มีโอกาสเดินทางไปประเทศนอร์เวย์ กับธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ ธอส.


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร 

สัปดาห์ที่ผ่านมา มีโอกาสเดินทางไปประเทศนอร์เวย์ กับธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ ธอส.

เป้าหมายเพื่อดูงานเกี่ยวกับ “สังคมไร้เงินสด” หรือ Cashless Society

นอร์เวย์ถือเป็นประเทศที่ถูกจัดว่า ประชากรมีความสุขมากที่สุดในโลกเมื่อปี 2017

นอร์เวย์มีประชากรเพียงแค่ 5 ล้านคนเท่านั้น

แต่หากรวมกลุ่มคนที่เข้ามาหางานทำ เรฟูจี ฯลฯ ก็จะมีอยู่ราว ๆ 7 ล้านคน

ทว่า ขนาดของประชากรที่อาศัยอยู่ เมื่อเทียบกับทรัพยากรที่มีค่อนข้างมาก เช่น ประมง อุตสาหกรรมผลิตภัณท์ป่าไม้ และอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังน้ำ ทำให้คนที่นี่มีรายได้ต่อหัวค่อนข้างสูง

หรือประมาณ 2.20–2.50 แสนบาทต่อเดือน

ใครที่ไม่มีงานทำหรือตกงาน ทางรัฐบาลมีเงินช่วยเหลือกว่า 5 หมื่นบาทต่อเดือน

ดูจากตัวเลขรายได้แล้ว

แน่นอนว่า ค่าครองชีพที่นอร์เวย์สูงมาก ๆ

เศรษฐกิจนอร์เวย์ถือว่ามีความแข็งแกร่งมากครับ พวกเขาจึงไม่เลือกที่จะเข้าไปอยู่ในกลุ่มอียู

ค่าเงินที่นี่มีชื่อว่า “โครนนอร์เวย์”

แม้นอร์เวย์จะไม่ได้เข้าร่วมในกลุ่มอียู แต่ก็มีบางร้านค้าที่ยอมรับ “เงินยูโร” บ้าง

แต่ก็น้อยมาก ๆ

ส่วนใหญ่ก็จะใช้เป็นเงิน โครนนอร์เวย์

รัฐบาลของประเทศนอร์เวย์วางแผนว่า จะเป็นประเทศแรกที่เลิกใช้เงินสดภายในปี 2030 หรืออีก 12 ปีข้างหน้า

นอร์เวย์เริ่มแผนงาน Cashless Society มานานแล้ว

ปัจจุบัน เปอร์เซ็นต์การใช้เงินสดที่นอร์เวย์มีเพียง 5% เท่านั้น

ส่วนตัวนั้น ผมแลกเงินสดเป็นโครนนอร์เวย์ไปจำนวนหนึ่ง

และลองดูว่า หากซื้อของที่ราคาไม่ได้สูงมาก ไม่ว่าจะเป็นซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้าธรรมดา

ปรากฏว่า ทุกร้าน พร้อมที่จะรับบัตรเครดิต

อย่างในซูเปอร์มาร์เก็ต เมื่อเลือกซื้อสินค้าแล้ว เราก็ต้องทำธุรกรรมชำระค่าสินค้าด้วยตนเองทั้งหมด ทั้งคิดเงิน ใช้บัตรสอดเข้าไปในเครื่องรับบัตร หยิบของใส่ถุง (ต้องจ่ายค่าถุงเพิ่ม)

ทำให้การใช้ชีวิตตลอดเกือบ 1 สัปดาห์ ไม่ได้นำเงินสดออกมาใช้เลย

คนนอร์เวย์มีความกระตือรือร้นเรื่องของ Cashless Society อย่างมาก ๆ

ภาคธนาคารพาณิชย์เองก็ตอบรับ และเป็นผู้นำในเรื่องนี้

อย่าง ธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่สุดในนอร์เวย์ คือ DNB ก็ได้เสนอหยุดวิธีชำระเงินในประเทศด้วยเงินสด

นั่นเพราะการโอนเงินสดในประเทศกว่าครึ่งหนึ่งในประเทศไม่ได้ผ่านการควบคุมของธนาคาร

และเสี่ยงต่อปัญหาการฟอกเงิน

ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่หลายแห่ง ต่างปฏิเสธที่จะรับเงินสดเช่นกัน

แต่ก็อาจมีเหลือไว้บางสาขาบ้าง ที่ยังให้ลูกค้าใช้เงินสดได้อยู่

การเดินทางไปครั้งนี้

ยังมีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมกิจการ  Auka

Auka เป็นบริษัทแรกที่เปิดตัว Mobile wallet ในนอร์เวย์ และเป็นบริษัทแรกที่ใช้แพลตฟอร์มการชำระเงินที่ควบคุมโดย FSA 100% ในระบบคลาวด์ Auka เพิ่งได้รับรางวัล Fintech ที่เติบโตเร็วสุดโดย Deloitte Fast 500 EMEA

ปัจจุบัน แพลตฟอร์มการชําระเงินบนมือถือของ Auka ได้ถูกนําไปใช้กับธนาคารในสแกนดิเนเวีย 17 แห่ง

มีร้านค้าอีกกว่า 9,000 ราย และผู้บริโภคมากกว่า 1 ล้านคน

สำหรับ Auka ก่อตั้งโดย แดเนียล โดเดอเลน

เขาเป็นผู้บุกเบิก Fintech  ชาวนอร์เวย์ และติดอันดับ 100  ผู้ทรงอิทธิพลด้าน Fintech ของยุโรป

มีประสบการณ์การประกอบการด้านไอที โฆษณา และการชำระเงินบนมือถือมากว่า 20 ปี

สำหรับในประเทศไทย รัฐบาลเขาก็มีนโยบายต้องการเข้าไปสู่สังคมไร้เงินสดเช่นกัน

เริ่มจากสถาบันการเงินของภาครัฐ และเอกชน

อย่างของ ธอส. ก็ทำ Cashless Society เริ่มจากการใช้เครื่องชำระเงินกู้ไร้เงินสด : QR Non Cash Payment

ลูกค้าชำระหนี้เงินกู้ ธอส. โดยใช้  Mobile Application ของธนาคารต่าง ๆ

ขั้นตอน คือ ระบุเลขที่บัญชีเงินกู้ และเลือกบัญชีและจำนวนเงินที่ต้องการชำระผ่านเครื่องชำระหนี้เงินกู้ไร้เงินสดของ ธอส.

ต่อจากนั้นเครื่องจะสร้าง QR Code เฉพาะการชำระหนี้เงินกู้ครั้งนั้น ๆ

ลักษณะการทำงานจะคล้ายเครื่องรับชำระหนี้เงินกู้อิเล็กทรอนิกส์ : LRM คือแทนที่ลูกค้าจะชำระด้วยเงินสด แต่จะเป็นการชำระด้วยการโอนเงินผ่าน Mobile Application ด้วย Dynamic QR Code

ธอส. เขาจะมีการติดตั้งเครื่องชำระหนี้เงินกู้ไร้เงินสด QR Non Cash Payment จำนวน 20 เครื่อง

เริ่มจากสาขา กรุงเทพฯ และปริมณฑล ภายในเดือนกรกฎาคมนี้

Back to top button