ซื้อเพื่อครองโลก

ปีนี้ ถือเป็นช่วงเวลาของการซื้อกิจการเข้ามือมากที่สุดของ บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส หรือ IVL เพราะในช่วงเวลาแค่ 7 เดือน ซื้อไปแล้วถึง 6 บริษัท มีทั้งที่ดีลสิ้นสุดสมบูรณ์แล้ว และยังรออยู่


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

ปีนี้ ถือเป็นช่วงเวลาของการซื้อกิจการเข้ามือมากที่สุดของ บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส หรือ IVL เพราะในช่วงเวลาแค่ 7 เดือน ซื้อไปแล้วถึง 6 บริษัท มีทั้งที่ดีลสิ้นสุดสมบูรณ์แล้ว และยังรออยู่

ล่าสุด วานนี้ก็รายงานอีกว่า ได้ส่งบ.ย่อยเข้าซื้อธุรกิจบรรจุภัณฑ์ในประเทศอียิปต์ ในนามบริษัท Indorama Netherlands B.V. (INBV) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยทางอ้อม ได้ลงนามในสัญญาซื้อกิจการกับบริษัท Middle East Glass S.A.E. และ นาย Mohamed Hassan Samaha เพื่อเข้าซื้อกิจการในอัตราร้อยละ 74 ของทุนเรือนหุ้นของบริษัท Medco Plast for Packing and Packaging Systems S.A.E. ประเทศอียิปต์ โดยการเข้าซื้อกิจการขึ้นอยู่กับการได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 3/2561

MEDCO เป็นผู้แปรรูปผลิตภัณฑ์ PET ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอียิปต์ ซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาดโดยประมาณอยู่ที่อัตราร้อยละ 25 และมีกำลังการผลิต PET Preforms อยู่ที่ 70,000 ตันต่อปี

การซื้อกิจการดังกล่าวดูเหมือนง่าย ๆ แต่ที่จริงแล้วเป็นความชำนาญพิเศษที่มิใช่ใครก็ทำได้ เนื่องจาก เกือบทุก ๆ ปีที่ผ่านมา IVL เร่งซื้อกิจการปิโตรเคมีปลายน้ำ ทางด้านโรงงาน PET, PTA และ โพลีเอสเตอร์เฉพาะทาง ข้ามประเทศ ผ่านวิศวกรรมการเงิน M&A ต่อเนื่องมาโดยตลอด จนสินทรัพย์ของกิจการมากมายถึงล่าสุดสิ้นไตรมาสแรกปีนี้ 2.86 แสนล้านบาท เทียบกับเมื่อสิ้นปี 2557 ที่มียอดรวมสินทรัพย์แค่ 1.95 แสนล้านบาท

หากเป็นกิจการทั่วไป การที่บริษัทใดบริษัทหนึ่งใช้เวลาสร้างสินทรัพย์ภายในเวลาแค่ 4 ปีเศษ เติบโตเกือบ 50% ด้วย inorganic growth แล้วสามารถรักษาการเติบโตของกำไรสุทธิ และกำไรต่อหุ้นได้สวยงาม ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ แต่ IVL ทำได้เป็นปกติ

คำถามที่จะตามมาเสมอเมื่อมีดีล ซึ่งแต่ละครั้งมีมูลค่ามากหลายพันล้านบาท ได้แก่ปัจจัยลบที่อาจจะเกิดขึ้นเช่น

ความผันผวนของธุรกิจโพลีเอสเตอร์ที่จะเป็นขาลงในอนาคต

ปัญหาด้านวัตถุดิบ ที่ต้องบริหารให้เหมาะสม

การปิดโรงงาน เพื่อซ่อมบำรุงหรือขยายกิจการ

ความล่าช้าในการขยายกิจการ

คำตอบสำหรับคำถามข้างต้น มาจากบรรดานักวิเคราะห์ที่มักจะบอกตรงกันเสมอว่า แทบจะมองไม่เห็นกันเลยทีเดียวว่าความเสี่ยงจากปัจจัยลบที่ถามกันมา จะเกิดขึ้นได้อย่างไรในสถานการณ์อันใกล้นี้

คำอธิบายที่แม้กระทั่งบรรดากองทุนทั้งหลายต้องยอมรับโดยไม่มีข้อแม้คือ IVL มีจุดเด่นสำคัญ 2 ประการหลัก คือ 1) ยุทธศาสตร์การขายธุรกิจสร้างสินทรัพย์ด้วยการ “ฉลาดซื้อกิจการ” ที่ไม่ต้องรอสร้างโรงงานใหม่ 2) ความโดดเด่นจากการบริหารการเงินที่เหนือชั้น รักษาความสามารถทางทำกำไร ควบคู่กับการขยายกิจการอย่างมีคุณภาพ

กำไรสะสมที่มีอยู่ 6.09 หมื่นล้านบาท ก็ถือว่ายิ่งกว่าปลอดภัย

ที่สำคัญซึ่งทำให้กลบเกลื่อนข้อเท็จจริงที่ว่าเป็นจุดอ่อนได้เกือบหมดอยู่ที่ 3 ปีที่ผ่านมา ความสามารถทำกำไรที่โดดเด่นเป็นขาขึ้นตามรายได้ที่ก้าวกระโดดต่อเนื่อง แม้ว่าอัตรากำไรสุทธิจะทรงตัว มีส่วนสำคัญที่ส่งผลต่อราคาหุ้นโดยตรง

ความสามารถทำกำไรเป็นขาขึ้น (แม้ตัวเลขกำไรสุทธิต่อหุ้นจะค่อนข้างต่ำมากหากคิดเทียบกับหุ้นอื่น ๆ) นอกจากเกิดมาจากรายได้ที่เติบโตก้าวกระโดดจากการซื้อกิจการประเภท “ซื้อแล้วสามารถบันทึกรายได้ทันที” อันเป็นกลยุทธ์ขาประจำที่คุ้นเคยมาตั้งแต่เริ่มขยายกิจการทางลัดแล้ว  ยังเกิดจากธุรกิจในสายการผลิตของ IVL ที่เป็นจังหวะขาขึ้น โดยเฉพาะ PET ที่ราคาและอัตรากำไรส่งผลบวกโดยตรง

ปมประเด็นที่นักลงทุนต้องตั้งคำถาม คือการใช้เงินลงทุนจำนวนมหาศาลในการสร้างสินทรัพย์ (แม้ว่าจะเก่งฉกาจในเรื่องที่สามารถทำให้ไม่กระทบกับสภาพคล่องทางการเงินและไม่ก่อหนี้จนสุ่มเสี่ยงเข้าข่ายอันตราย) จะแปลงให้เป็นกำไรสะสมและเงินปันผลมากกว่าระดับปัจจุบัน ก่อนที่จะถึงเวลาช่วงขาลงของธุรกิจ ดังที่เคยเกิดขึ้นหลายปีก่อนจนราคาหุ้นทรุดโทรมใต้ 20.00 บาท

คำตอบง่าย ๆ แต่ทำยาก คือ นักลงทุน ต้องทำการบ้านเพื่ออ่านและถอดรหัสงบการเงินแข่งกับนักวิเคราะห์ เพื่อรู้เท่าทัน ซึ่งไม่ง่ายเหมือนปอกกล้วย

โดยเฉพาะในยามที่ดูเสมือนผู้บริหาร IVL กำลังเมามันลุยแหลกซื้อกิจการอย่างหนักเช่นปีนี้

Back to top button