ยุคทองที่สิ้นสุดเร็วเกินคาด

ช่วงไตรมาสแรกของปี 2558 เป็นช่วงเวลาที่โดดเด่นต่อเนื่องของหุ้นจอง หรือหุ้น IPO มีจุดเด่นอย่างชัดเจนที่ไม่อาจปฏิเสธได้คือ หุ้นทุกตัวที่เข้ามาซื้อขายในตลาดแรก แล้วเข้าจดทะเบียนต่อเพื่อขายในตลาดรอง ประสบความสำเร็จหน้าชื่นตาบานกันทั่วไปไม่มีเว้น ถือเป็นข่าวดีอย่างยิ่ง


ช่วงไตรมาสแรกของปี 2558 เป็นช่วงเวลาที่โดดเด่นต่อเนื่องของหุ้นจอง หรือหุ้น IPO มีจุดเด่นอย่างชัดเจนที่ไม่อาจปฏิเสธได้คือ หุ้นทุกตัวที่เข้ามาซื้อขายในตลาดแรก แล้วเข้าจดทะเบียนต่อเพื่อขายในตลาดรอง ประสบความสำเร็จหน้าชื่นตาบานกันทั่วไปไม่มีเว้น ถือเป็นข่าวดีอย่างยิ่ง

แต่เมื่อย่างเข้าไตรมาสสองเป็นต้นมา สถานการณ์กลับพลิกผันเพราะหุ้นเริ่มมีอาการแกว่งตรงกันข้าม เริ่มมีอาการหลุดจองมากขึ้นอย่างชัดเจน ดังปรากฏในตาราง

จากตารางจะเห็นได้ว่า ความโรยราในไตรมาส 2 ต่างกับไตรมาสแรกค่อนข้างมาก มีเหตุผลอธิบาย 2 ข้อ คือ

– ไตรมาสแรกได้รับอานิสงส์ หรือแรงเหวี่ยงจากความสำเร็จของราคาหุ้นจอง IPO เมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเป็นยุคทองอีกปีหนึ่ง

– ภาวะตลาดในไตรมาสสองผิดไปจากไตรมาสแรก เพราะแรงกดดันรอบด้าน ทำให้ตลาดหุ้นไทยมีมูลค่าการซื้อขายแผ่วเบาลง

 

หากมองย้อนหลังกลับไป จะพบว่าความสำเร็จจากการเข้าเทรดที่สูงกว่าราคาจองในตลาดแรก เมื่อเข้ามาเทรดในตลาดรองวันแรก ถือเป็นสิ่งที่โชว์ศักยภาพของปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายด้านพร้อมกัน นับแต่

– พื้นฐานของกิจการ มีความแข็งแกร่งมากน้อยเพียงใด นับแต่ฐานกองทุน ความสามารถทำกำไร หนี้สินต่อส่วนผู้ถือหุ้น และความโปร่งใสของผู้บริหาร

– ความสามารถของที่ปรึกษาการเงิน ในการสร้างตำแหน่งหรือจุดขายของบริษัทให้นักลงทุนเข้าใจ

– การตั้งราคาของอันเดอร์ไรเตอร์

 

โดยข้อเท็จจริงแล้ว ราคาหุ้น IPO ที่เข้าเทรดวันแรกในปีนี้ แม้จะประสบความสำเร็จช่วงไตรมาสแรกด้วยดี แต่มีการวิ่งของราคาที่ไม่สูงมากเท่ากับปีที่ผ่านมา เพราะมีน้อยรายที่เปิดด้วยราคาที่มากกว่า 100% ของราคาจอง และปิดท้ายตลาดในวันแรกที่ราคาเฉลี่ยไม่เกิน 50% ทั้งสิ้น

จุดผกผันสำคัญของการเปลี่ยนแปลงมุมมองของนักลงทุนที่ชอบไล่ล่าหุ้นจองอยู่ที่ราคาหุ้น PLAT ที่เปิดตลาดในลักษณะของ ”กิ้งกือหกคะเมน” ตั้งแต่เปิดตลาด จนกระทั่งถึงปัจจุบันก็ยังไม่สามารถกลับมาที่ราคาจองได้อีกเลย ถือว่าเป็นหุ้นในความทรงจำที่เป็นฝันร้ายของนักลงทุนโดดเด่นอย่างมาก ทั้งที่ว่าไปแล้วเป็นหุ้นพื้นฐานดีเด่นอย่างมาก

ประเด็นน่าสนใจคือ แม้หุ้น PLAT ถือเป็นหุ้นที่มีผลประกอบการและโมเดลธุรกิจที่น่าสนใจ แต่การตั้งราคาขายหุ้นจองหรือราคาไอพีโอที่ระดับ 43 เท่า ถือว่าเป็นการตั้งราคาที่กล้าหาญมากเกินจำเป็น อาจจะเป็นเพราะความโลภเข้าสิงของผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผลลัพธ์ที่ปรากฏคือหุ้นหลุดจอง

ผลพวงของหุ้น PLAT กลายเป็นโมเมนตัมที่สำคัญของหุ้นจองรายต่อๆ มาที่เข้าเทรดวันแรก ที่เริ่มมีอาการรวนเรให้เห็นหลายรายการตามมา

จนมาถึงหุ้น SLP ที่เกือบเอาตัวไม่รอด ปิดเทรดวันแรกที่ 2.16 บาท เท่ากับราคาขาย IPO ที่ 2.16 บาท ถือเป็นเรื่องที่น่าเสียดายทั้งศักยภาพของบริษัทที่มีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง จากการเป็นผู้ผลิตฉลากสินค้าและงานพิมพ์คุณภาพสูง ประกอบกับผลการดำเนินงานของบริษัทที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ SLP เป็นธุรกิจผลิตฉลากสินค้าที่มีคุณภาพและมีคู่แข่งน้อยราย ถือว่าเป็น 1 ใน 3 รายใหญ่ของธุรกิจผลิตฉลากสินค้า การเติบโตของบริษัทมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีการเติบโตของกำไรอย่างสม่ำเสมอ ประกอบกับลูกค้าที่สั่งผลิตฉลากของบริษัทส่วนใหญ่ก็เป็นลูกค้าที่ดำเนินธุรกิจผลิตสินค้าอุปโภคและบริโภครายใหญ่ทั้งไทยและต่างประเทศ

ผลพวงดังกล่าวไม่สามารถเพิ่มความเชื่อมั่นให้นักลงทุนสนใจเข้ามาลงทุนในหุ้นตัวนี้ได้ ดูได้จากราคาหุ้นที่อ่อนตัวลงเรื่อยๆ ผิดความคาดหมาย นี่ถือว่า “เข้าผิดที่ผิดเวลา” เพราะภาวะตลาดหุ้นยังซบเซาอยู่

ขณะที่หุ้น GPSC มีความเจ็บช้ำตามมาติดๆ เข้าซื้อขายวันแรกก็หลุดจอง ราคาหุ้นปิดต่ำกว่าราคา IPO ทำให้นักลงทุนฝันร้ายอีกตัว คำถามที่ตามมาคือ “หุ้นจะดีดกลับเมื่อไร” ทั้งที่บริษัทมีจุดเด่น เป็นบริษัทมีฐานะเป็นแกนนำ (Flagship) ในการดำเนินธุรกิจไฟฟ้าของกลุ่ม PTT ซึ่งหนุนให้ GPSC มีโอกาสขยายธุรกิจไฟฟ้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งยังอาศัยความสัมพันธ์อันดีของกลุ่ม PTT กับหน่วยงานของรัฐ และบริษัทอื่นที่เป็นคู่ค้า เพื่อให้บริษัทได้เข้าร่วมลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง

 

ผลลัพธ์ต่อจากนี้ไป ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า สถานการณ์เช่นนี้ ถึงช่วงเวลาของการสิ้นสุดยุคทองของหุ้น IPO แล้วหรือยัง

เรื่องนี้เป็นโจทย์ที่ท้าทายนักลงทุน โดยเฉพาะพวกที่ชอบไล่ล่าหุ้นจอง และบรรดาบริษัทที่ต้องการจะระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ในอนาคตหรือไม่

ประเด็นต่อจากนี้ไปคือ หุ้น IPO ที่ยังค้างท่อรออีก20 บริษัท จะตัดสินใจอย่างไรดี ยังไม่สำคัญเท่ากับว่า นักลงทุนควรจะให้ความสนใจกับหุ้นจองหรือ IPO เหมือนเดิมหรือไม่

ประเด็นนี้ขึ้นกับเงื่อนไขว่า นักลงทุนจะต้องทำความเข้าใจกับทิศทางของหุ้นจองที่เข้าเทรดวันแรกให้ชัดเจน เพื่อจะได้เลือกเข้าซื้อหุ้นก่อนการเข้าเทรดได้ถูกต้อง เพื่อจะไม่ขาดทุนได้อย่างไร

 

 

ความผันแปรของราคาหุ้นที่เข้าเทรดในตลาดรองนั้น เป็นเรื่องการเก็งกำไรเป็นสำคัญ ซึ่งสามารถวิเคราะห์เชิงเทคนิคและพื้นฐานได้ และอาจจะทำให้ผู้ซื้อหุ้น IPO กำไรหรือขาดทุนได้ ขึ้นอยู่กับการประเมินความเสี่ยงว่าจะแม่นยำเพียงใด

ในทางวิชาการ หรือปฏิบัติ ตัวเลขเกี่ยวกับพื้นฐาน ผลตอบแทน และตัวเลขประกอบการทั้งหลาย คือสิ่งที่จะชี้ขาดคุณภาพของราคาหุ้นได้ดี แต่เชิงเทคนิคแล้ว มีคนเคยทำการศึกษา พบว่าแบบแผนของทิศทางราคาหุ้นจองหลังการเข้าเทรดวันแรกผ่านไปแล้ว จะมีแบบแผนของความเคลื่อนไหว 6 แบบ ดังต่อไปนี้

1) ลงตลอด (All the way Down)คือเปิดมาก็มีแรงเทขายออกมาตลอด เป็นเวลานานต่อเนื่อง ซึ่งหุ้นพวกนี้เกิดจากการกำหนดราคาสูง และขายทำกำไรได้ตลอด คือพวกเน้นเอาหุ้นเข้าตลาดมาขายอย่างเดียว ไม่มี ไม่เคยมี และไม่สนใจจะมีมาร์เก็ตเมกเกอร์ดูแล

2) ลงตลอดนานแล้วค่อยๆ ขึ้น (L-Shape) หุ้นถูกเทขายตั้งแต่วันแรก และอ่อนตัวต่อเนื่อง จนเริ่มมาเก็บสะสมราคาอีกครั้ง ค่อยยกขึ้นใหม่ ซึ่งรูปแบบนี้อาจจะเกิดจากผู้ถือหุ้นใหญ่ต้องการซื้อกลับคืนเพราะหวงสมบัติ แต่ก็งกอยากได้เงินจากตลาดพร้อมกันไป

3) ขึ้นตลอด แล้วเทขายแบบทุบ (Blow up for sell) มีการไล่ราคาซื้อตั้งแต่เริ่มขายวันแรก ต่อเนื่องไปนานกว่า 3 เดือนหรือมากกว่า จนราคาปรับตัวขึ้นมากกว่า 1 เท่าตัว จึงมีการขายแบบทยอย จากนั้นซึมยาวนี่ก็เป็นฝีมือของมาร์เก็ตเมกเกอร์ที่หวังเล่นราคาแบบจูงหมาน้อยขึ้นดอย?

4) ลงหาเป้าแล้วกระชากขึ้นแรง (V-Shape) เกิดแรงขายหุ้นตั้งแต่วันแรก และลงรุนแรงต่อเนื่อง จนผู้ที่ได้หุ้นจองต่างกลัวและขายหุ้นจนหมด จากนั้นดึงราคาหุ้นกลับอย่างรวดเร็ว เป็นรูปตัว V

5) ขึ้นสวรรค์ทางเดียว (All the way up)ราคาหุ้นจะปรับตัวขึ้นตั้งแต่วันแรกยาวนานต่อเนื่องมากกว่า 6 เดือนขึ้นไป โดยมีการวางแผนมาอย่างดี และมี Story ต่อเนื่องสม่ำเสมอ บางรายทำราคาปรับตัวขึ้นไปกว่า 3 เท่า

6) ไร้รูปแบบเพราะเจ้าของทิ้ง (No pattern) หุ้นที่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ไม่มีความสนใจในหุ้น ไม่เคยคิดสร้างความนิยม หรือประชาสัมพันธ์ใดๆ หรืออาจไม่เข้าใจกลไกในตลาดทุน ปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม จึงไม่มีรูปแบบใดชัดเจน โดยอาจเป็นหุ้นที่มีขนาดเล็กและสภาพคล่องต่ำมาก

 

อีกประเด็นหนึ่งที่นักลงทุนต้องพิจารณาคือ ภาวะของตลาด เพราะภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ดี มีการเติบโตโดดเด่น บริษัทจดทะเบียนจะมีผลประกอบการโดดเด่น ส่งผลให้โอกาสที่ราคาหุ้นจะเป็นขาขึ้น เป็นไปได้ง่ายขึ้น แต่หากตรงกันข้าม โอกาสที่ตลาดจะเป็นขาลงก็จะเกิดขึ้น และหุ้นจองที่ระดมทุนไปแล้ว มีโอกาสที่จะถูกแรงกดดันของตลาด

ประเด็นนี้ทำให้นักลงทุนจำนวนมาก มองว่าในภาวะที่ตลาดมาดี การซื้อหุ้นในตลาดจะดีกว่าซื้อหุ้นจอง ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

 

ที่สำคัญ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตัวบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ต้องใช้ความระมัดระวัง ทั้งการเปิดเผยข้อมูล หรือการตั้งราคา และรักษาผลประกอบการที่เหมาะสม เพื่อที่จะไม่ต้องเผชิญกับฝันร้ายในภายหลัง

 

aet20150607

Back to top button