พาราสาวะถี
ป่วยการที่จะพูดมีการคุยเรื่องดูดหรือไม่ระหว่างการลงพื้นที่อำนาจเจริญและประชุมครม.สัญจรที่อุบลราชธานีในวันนี้และพรุ่งนี้ คนที่ถืออำนาจก็จะปฏิเสธพัลวันพร้อมยกเหตุผลร้อยแปดพันเก้ามาอธิบาย ส่วนพวกที่อยู่ในข่ายได้รับการเชื้อเชิญก็จะแถกันไปข้าง ๆ คู ๆ ดังนั้น การนั่งดูและคอยดูว่าปลายทางจะเป็นอย่างไร นักการเมืองคือพวกที่เชื่อน้ำคำไม่ได้ ยังคงเป็นเช่นนั้นจริงอยู่หรือไม่ ให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์
อรชุน
ป่วยการที่จะพูดมีการคุยเรื่องดูดหรือไม่ระหว่างการลงพื้นที่อำนาจเจริญและประชุมครม.สัญจรที่อุบลราชธานีในวันนี้และพรุ่งนี้ คนที่ถืออำนาจก็จะปฏิเสธพัลวันพร้อมยกเหตุผลร้อยแปดพันเก้ามาอธิบาย ส่วนพวกที่อยู่ในข่ายได้รับการเชื้อเชิญก็จะแถกันไปข้าง ๆ คู ๆ ดังนั้น การนั่งดูและคอยดูว่าปลายทางจะเป็นอย่างไร นักการเมืองคือพวกที่เชื่อน้ำคำไม่ได้ ยังคงเป็นเช่นนั้นจริงอยู่หรือไม่ ให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์
การปูดข้อมูลเรื่องมีรัฐมนตรี 1 รายนัดหมายคุยกับบรรดาสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดหรือส.อบจ.อุบลราชธานี ทั้งคนที่เป็นอดีตและผู้ที่ยังดำรงตำแหน่งอยู่ ไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมาย เพียงแค่ว่าคนที่ทำจะยอมรับหรือไม่ก็เท่านั้น ขนาดในทำเนียบรัฐบาลยังเรียกไปคุยกันได้และไร้ปัญหา นี่เดินทางมาถึงในพื้นที่จะให้เสียของสูญเปล่าได้อย่างไร
คุณสมบัติที่บอกแล้วว่าไม่มีใครเหมือนและคงไม่มีใครอยากเหมือนนั่นก็คือ “หน้าทน” ไม่สนใจเสียงด่าทอต่อว่าใด ๆ ทั้งนั้น ขอให้ได้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้เพื่อการสืบทอดอำนาจเป็นใช้ได้ สรุปแล้ว ไม่ว่านักการเมืองหรือเผด็จการก็อย่างหนาพอกัน ในเมื่อผลประโยชน์มหาศาลรออยู่ข้างหน้าและยังจะต้องปิดช่องไม่ให้เกิดการขุดคุ้ยสิ่งที่ได้ทำไว้ จึงได้ยินเสียงทักท้วงแม้จะเป็นความปรารถนาดีแต่เป็นแค่เสียงนกเสียงกา
แต่หากยึดความเป็นมนุษย์เหมือนอย่างคนบางคนกล่าวอ้าง ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีเป็นสิ่งที่คนทั่วไปจะต้องมี อยู่ที่ว่าสำนึกแล้วตั้งใจจะแก้ไขให้มันดีขึ้นหรือแค่ระบายความอึดอัดที่กดทับไว้ในใจตัวเองแล้วก็ปล่อยให้ทุกอย่างผ่านไปก็เท่านั้น ถ้าเช่นนั้น คงจะเรียกว่าเป็นการแค่การสารภาพผิดแต่หาใช่การสำนึกบาปไม่
กรณี มีชัย ฤชุพันธุ์ ออกมายอมรับเป็นคนหนึ่งที่ทำคลอดกฎหมายมากมายมหาศาลออกมา แต่ไม่ได้เป็นอย่างที่คิดไว้ “เอาเข้าจริงกลับสร้างความไม่เป็นธรรมอึดอัดคับข้องต่อการดำรงชีวิตและการงาน การออกฎหมายจำนวนมากจึงไม่ใช่ของดี วันหนึ่งผมจึงสำนึกบาป“ จึงเต็มไปด้วยคำถามว่านี่เป็นการสำนึกผิดจริง ๆ หรือแค่ระบายสิ่งที่เก็บกดไว้ในใจตัวเองมาตลอดระยะเวลาหลายสิบปี
เพราะหากเป็นการสำนึกบาปจริงดังว่า สิ่งที่จะต้องกระทำตามมาคือ บรรดากฎหมายทั้งหลายที่ได้เขียนไปนั้น มีฉบับไหนที่ไปก่อปัญหามากกว่าสร้างประโยชน์ แล้วในมุมของมีชัยต้องการจะให้เกิดการแก้ไขอย่างไร ต้องบอกกล่าวไปถึงตรงนั้นเพื่อแสดงให้สังคมเห็นว่าการยอมรับข้อผิดพลาดหนนี้ เป็นความจริงใจและอยากให้ทุกอย่างได้คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น
ไม่จำเป็นต้องแสดงความรับผิดชอบใด ๆ เพราะเรื่องนี้คงเกิดขึ้นได้ยากในสังคมไทย ขอเพียงแค่หลังการสำนึกบาปแล้ว ควรที่จะทำอะไรสักอย่างให้สังคมได้เห็นว่าข้อผิดพลาดเหล่านั้น มันส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง แต่ถ้าไม่เกิดอะไรตามมา ก็คงพูดได้เต็มปากเต็มคำว่า สิ่งที่พ่นออกมานั้นเป็นการสร้างคุณค่าให้กับตัวเอง เพื่อไม่ให้ถูกมองว่า การทำหน้าที่เนติบริกรที่ผ่านมาไม่ได้รับใช้เผด็จการอย่างไม่ลืมหูลืมตา
ความจริงที่ต้องยอมรับกันอย่างหนึ่งก็คือในแวดวงคนดีและเครือข่ายทั้งหลายนั้น การใช้คำพูดหรือท่วงทำนองที่ให้ตัวเองดูดีทำได้เนียนจนคนฟังต้องเคลิ้ม ดังเช่นปมของ “3 มิตรจอมดูด” ทีมโฆษกคสช.อย่าง พลตรีปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ บอกหน้าตาเฉย ต้องเข้าใจว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองอะไรก็ตาม ถ้าไม่ขัดกฎหมาย คสช.จะติดตามเฝ้าดูเท่านั้น และจะไม่ไปวิพากษ์วิจารณ์ว่าใครมีพฤติกรรมแบบไหน ถ้าไม่ขัดกฎหมาย กิจกรรมดังกล่าวก็สามารถดำเนินการต่อไปได้
คำถามตัวโตก็คือ นักการเมืองที่เคยเป็นอดีตรัฐมนตรีและส.ส.ไปรวมกลุ่มกันเกิน 5 คนแน่ ๆ เป็นกิจกรรมทางการเมืองหรือไม่ และถ้าเป็น เข้าข่ายขัดคำสั่งคสช.ที่ 3/2558 หรือเปล่า คำตอบมันมีอยู่แล้ว จากการไปเอาผิดแกนนำพรรคเพื่อไทยที่แถลงข่าวครบรอบ 4 ปีคสช. ถ้าจะตีความแบบไร้มาตรฐานเช่นนี้ ยกเลิกคำสั่งดังว่าเสียดีกว่า ยิ่งแถไปว่ากลุ่มดังกล่าวไม่ใช่พรรคการเมือง แต่การคุยเรื่องการเมืองจะให้ตีความหมายว่าอย่างไร
นี่แหละที่เป็นบทพิสูจน์ของคำกล่าวที่ว่าความเสื่อมเกิดขึ้นจากตัวเองหรือสนิมเกิดแต่เนื้อในตน คนที่ไปเคลื่อนไหวดูดเพื่อต่อท่ออำนาจให้ใครหรือพวกไหน ซึ่งก็รับรู้กันอยู่แล้ว กลับเลือกที่จะปล่อยผ่านกันหน้าตาเฉยแบบนี้ ไม่ต้องให้มีชัยสำนึกบาปอะไรคนก็เข้าใจได้ว่า การที่มีกฎหมายใช้บังคับเฉพาะพวกเฉพาะกลุ่ม มันก็คือกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมหรือจะพูดว่าแท้ที่จริงมันไม่ใช่กฎหมายก็อาจจะพูดได้
ไม่ต่างกันกับความพยายามอธิบายเรื่อง 3 มิตรดูดอดีตส.ส.เพื่อมาเข้าพรรคของคสช.อย่างพลังประชารัฐ ชวน ชูจันทร์ ผู้ร่วมจดตั้งพรรคอ้างว่า ไม่ใช่ความเคลื่อนไหวของพรรค แต่เป็นความเคลื่อนไหวของผู้ที่ประกาศตัวสนับสนุนพรรค พรรคยินดีต้อนรับทุกฝ่ายที่สนใจทำงานร่วมกัน คงไม่สามารถปฏิเสธความต้องการของกลุ่มสามมิตรที่สนใจทำงานร่วมกันได้ เพราะสามมิตรคงเห็นว่าพรรคนี้จะสามารถตอบโจทย์ของประเทศไทยด้วยการบริหารบ้านเมืองได้ดี และเป็นพรรคการเมืองที่มีอนาคต
ไม่รู้พกความมั่นใจมาจากไหนถึงขนาดบอกว่าจะบริหารบ้านเมืองได้ดีและมีอนาคตได้ ทั้งที่บอกเองแท้ ๆ ว่าเป็นพรรคเกิดใหม่และถ้ามองไปยังผู้ก่อตั้งก็โนเนมทั้งสิ้น รอฟังคำแก้ตัวกันไป อนาคตอันใกล้หลังจากเปิดตัวเจ้าของพรรคที่แท้จริงมาดูกันว่า จะอ้างอะไรกันอีก คงหนีไม่พ้นเป็นพรรคที่มีนโยบายและแนวทางสอดคล้องกับสิ่งที่รัฐบาลเผด็จการทำมานั่นเอง
ส่วนอีกพรรคที่เริ่มเดินสายอย่างพลังประชาชาติไทย มีอย่างน้อย 2 คนที่ต้องพิสูจน์ตัวเองว่า ตั้งพรรคใหม่มาแล้วจะเดินไปได้ตามความตั้งใจหรือสิ่งที่เจ้าตัวอ้างว่าเป็นอุดมการณ์หรือเปล่า ทั้ง เอนก เหล่าธรรมทัศน์ และ สุริยะใส กตะศิลา เพราะทั้งคู่ถือว่าล้มเหลวมาแล้วคนละหนกับพรรคที่ไปร่วมก่อตั้งทั้งในนามมหาชนและการเมืองใหม่
ในรายของสุริยะใสนั้น มีคำท้าทายมาจากเพื่อน (พี่) ร่วมทางล้มระบอบทักษิณอย่าง วีระ สมความคิด สะกิดดัง ๆ ยะใสมาร่วมสนับสนุนเผด็จการทหารเสียของ แบไต๋ออกมาให้เห็นตัวตนชัดเจนว่ามีความทะยานอยากเป็นนายกฯ คนต่อไปเหมือนอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่ขออย่าให้เหมือนอภิสิทธิ์ที่เก่งแต่พูด ขอให้ ยะใสทำให้ได้อย่างที่พูด แล้วจะคอยดูว่าเมื่อยะใสมาเป็นนักการเมืองแล้ว จะสามารถทำให้การเมืองดีขึ้นได้เหมือนที่พูดหรือไม่ คงไม่ใช่เฉพาะยะใสเท่านั้น พวกคนดีทั้งหลายจะทำได้ดีจริงอย่างที่ฟุ้งกันไว้หรือเปล่า