สัญญาณสงครามค่าเงินจากทรัมป์
โดนัลด์ ทรัมป์ กำลังเดินตามรอยจูเลียส ซีซาร์ในอดีต ที่เรียกว่า “ข้ามรูบิคอน” ในการออกมาวิพากษ์แนวทางกำกับดูแลนโยบายการเงินของเฟด 2 วันซ้อน ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล
โดนัลด์ ทรัมป์ กำลังเดินตามรอยจูเลียส ซีซาร์ในอดีต ที่เรียกว่า “ข้ามรูบิคอน” ในการออกมาวิพากษ์แนวทางกำกับดูแลนโยบายการเงินของเฟด 2 วันซ้อน ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 กรกฎาคม ทรัมป์ให้สัมภาษณ์ต่อสำนักข่าว CNBC ออกโรงวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของเฟด ซึ่งถือเป็นการกระทำที่สวนทางประธานาธิบดีคนก่อน ๆ ของสหรัฐฯ ซึ่งมักจะหลีกเลี่ยงการแทรกแซงการทำงานของเฟด
ทรัมป์กล่าวหลังจากที่นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด กล่าวแถลงการณ์รอบครึ่งปีต่อรัฐสภาในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งได้ส่งสัญญาณเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้
ทรัมป์ บอกว่า ไม่รู้สึกยินดีต่อการทำงานของเฟด เพราะทุกครั้งที่เศรษฐกิจปรับตัวขึ้น พวกเขาก็ต้องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก แต่เขาก็จะปล่อยให้พวกเขาทำในสิ่งที่พวกเขามองว่าดีที่สุด แต่ไม่ชอบงานซึ่งได้กระทบต่อสิ่งที่เขาทำ
ต่อมาวันศุกร์ ทรัมป์ก็ออกมาย้ำผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวซ้ำอีกว่า “สหรัฐฯ ไม่ควรถูกทำโทษเพราะ เศรษฐกิจกำลังไปได้ดี การขึ้นดอกเบี้ยในขณะนี้จะส่งผลกระทบต่อสิ่งที่เราได้ทำ สหรัฐฯ ควรได้รับโอกาสในการรับสิ่งที่สูญเสียไปจากการที่ประเทศอื่นปั่นค่าเงิน และทำข้อตกลงที่เอาเปรียบสหรัฐฯ”
ทรัมป์ยอมรับว่า การแสดงความคิดเห็นของเขาถือเป็นสิ่งผิดปกติ แต่เขาก็ไม่สนใจ
ท่าทีของทรัมป์ มีส่วนขับเคลื่อนให้ทำให้ค่าดอลลาร์เป็นมากกว่าการเมือง เพราะส่งสัญญาณชัดเจนว่าสงครามค่าเงินครั้งต่อไปจะเกิดควบคู่ไปกับสงครามการค้า
แม่น้ำรูบิคอน เป็นแม่น้ำตื้น ๆ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของแหลมอิตาลี ยาวประมาณ 80 กิโลเมตร ทอดยาวจากเทือกเขาแอเพนไนน์ไปจนถึงทะเลเอเดรียติกผ่านแคว้นเอมีเลีย-โรมัญญาตอนใต้ น้ำในแม่น้ำมีสีแดงจากโคลนที่ทับถมกัน แต่มีความหมายเชิงอำนาจในยุคสาธารณรัฐโรมัน เพราะเป็นเส้นพรมแดนสำคัญที่ห้ามยกกองทหารจากชายแดนกลับเข้ามา
ชื่อเสียงของแม่น้ำนี้เกิดขึ้นในยุคปลายของสาธารณรัฐ เมื่อ 49 ปี ก่อนคริสตกาล จูเลียส ซีซาร์ ยกกำลังทหารลีเจียน ข้ามแม่น้ำรูบิคอนอันเป็นเสมือนการเปิดหน้าสู้กับกลุ่มผู้มีอิทธิพลชนชั้นสูงในกรุงโรม จนทำให้เกิดสงครามกลางเมืองตามมา และท้ายที่สุด ซีซาร์ก็กลายเป็นฝ่ายชนะ เขามีฐานะอำนาจและอิทธิพลโดยไร้คู่แข่ง ตั้งตนเป็นเผด็จการตลอดชีพ แม้ว่าจะมีอายุแสนสั้น
จากนั้นเป็นต้นมา สำนวน “ข้ามแม่น้ำรูบิคอน” จึงมีความหมายว่า ผ่านจุดที่ไม่มีทางหวนกลับ
นักวิเคราะห์ในสหรัฐฯ มองว่าคำพูดของทรัมป์ในลักษณะ “ขอใช้สิทธิ์” มีความหมาย ไม่ใช่แค่บ่นพึมพำธรรมดา เพราะมี 2 นัยให้คิดคือ 1) เป็นการข้ามเส้นแบ่งอำนาจในโครงสร้างกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ เข้าข่ายละเมิดโดยเจตนา 2) พยายามก้าวสู่การกำหนดเรื่องค่าเงินดอลลาร์ที่มีอัตราดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือ
ที่ผ่านมา อำนาจบริหารเศรษฐกิจแบบอเมริกา มีการกำหนดเส้นแบ่ง ให้ทำเนียบขาวดูแลนโยบายการคลัง (เก็บภาษี ลงทุนภาครัฐ และสร้างการเติบโต) และเฟดดูแลนโยบายการเงิน (เสถียรภาพ ดอกเบี้ย และค่าเงิน) การล้ำเส้นจะกระทำไม่ได้
นโยบายการคลังเน้นการเติบโต สร้างจีดีพี ส่วนนโยบายการเงินเน้นสร้างเสถียรภาพมากกว่าการเติบโต การที่คนดูแลการคลังกล่าววิพากษ์คนดูแลการเงิน ซึ่งแน่นอนว่ามีธรรมชาติที่ขัดแย้งกัน
ทรัมป์ พูดวิพากษ์เฟดครั้งนี้ มิใช่ครั้งแรก เพราะตอนที่ขึ้นมานั่งทำเนียบขาวใหม่ ๆ เมื่อต้นปีที่แล้วเขาก็เคยกระทำมาแล้ว แต่ครั้งนั้น ประธานเฟดคนก่อนคือนางเยลเลนไม่เล่นด้วย
ครั้งนั้น ทรัมป์ กล่าวว่า ค่าดอลลาร์ยามนั้นแข็งเกินไป โดยเฉพาะเทียบกับเงินหยวนจีน ต้องการให้ค่าดอลลาร์อ่อนลง แต่พอเอ่ยไปไม่ทันขาดคำ นางเยลเลน ก็ออกมาสวนทันทีว่า จะขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะเศรษฐกิจอเมริกันกำลังใกล้เป้าหมายของเฟด 2 เรื่องคือ เงินเฟ้อ 2% และ การจ้างงานเต็มที่ (ว่างงานต่ำกว่า 4.9%) พูดสั้น ๆ คือ ยืนยันว่า ดอลลาร์จะต้องแข็งค่ากว่านี้
ที่ผ่านมา ยุทธศาสตร์ดอลลาร์แข็งผ่านการควบคุมอัตราดอกเบี้ยเฟด เพื่อให้ดอลลาร์ต้องเป็นเสาหลักของสกุลเงินทั่วโลก เพราะชนชั้นนำสหรัฐฯ ทุกยุคแสดงความหวาดกลัวอย่างยิ่งว่าโลกจะเมินเฉยต่อบทบาทของดอลลาร์สหรัฐ หลังจากมีฐานะครอบงำเหนือโลกมาเกือบ 70 ปีแล้ว
ดังที่ทราบกันดี กุญแจสำคัญที่ชี้ชะตาดอลลาร์อยู่ที่ตลาดน้ำมันโลกยังคงใช้เงินดอลลาร์สหรัฐเป็นตัวการในการซื้อขาย ทำให้ค่าดอลลาร์ในท้องตลาดมีมูลค่าเกินจริงมากกว่า 30% มาโดยตลอด เท่ากับว่า รากเหง้าและเบื้องหลังความยิ่งใหญ่ของค่าดอลลาร์ เริ่มต้นจากการถือกำเนิดของ ปิโตรดอลลาร์ หรือดอลลาร์ในตลาดน้ำมันและพลังงานของโลก นับแต่วิกฤติน้ำมันครั้งแรก ค.ศ. 1973 หรือ พ.ศ. 2516 ซึ่งมีผลทำให้กระบวนทัศน์ของมนุษย์ในเรื่องพลังงานได้เปลี่ยนไปอย่างที่ไม่หวนกลับคืนได้อีก
ข้อตกลงร่วมมือทางเศรษฐกิจ U.S.-Saudi Arabian Joint Economic Commission โดยมีเงื่อนไขสำคัญว่า อเมริกาจะให้ความร่วมมือช่วยเหลือทางด้านเทคโนโลยีการผลิตน้ำมัน และทางทหารเพื่อปกป้องราชวงศ์ซาอูด (Saud) ให้อยู่ในอำนาจไปยาวนาน แลกกับการที่ซาอุดีอาระเบียจะยอมขายน้ำมันให้กับสหรัฐฯ หรือบริษัทอเมริกัน หรือชาติอื่น ๆ ในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น
ไม่เพียงเท่านั้น ซาอุดีอาระเบีย ยังมีข้อตกลงลับเพิ่มเติมอีกว่า ในฐานะที่เป็นแกนกลางของกลุ่มโอเปก ซาอุดีอาระเบียจะโน้มน้าวให้ชาติสมาชิกโอเปกยินยอมขายน้ำมันสู่ตลาดโลกโดยใช้เงินดอลลาร์สหรัฐเป็นตัวกลางซื้อขาย และซาอุฯ จะนำเงินทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศที่ล้นเกินไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลอเมริกัน ซึ่งเป็นผลดีทั้ง 2 ฝั่งคือ ซาอุฯ ไม่มีปัญหาเงินเฟ้อ และอเมริกาสามารถก่อหนี้ได้เต็มที่ และรักษาดุลชำระเงินให้เป็นบวกตลอดเวลา
ยุทธศาสตร์ ดอลลาร์แข็ง จึงอยู่เบื้องหลังกติกาที่เฟดเป็นคนกำหนดทั้งทางตรงและอ้อมมายาวนาน จึงเป็นเสาหลักของสหรัฐฯ ในการดัดแปลงค่าดอลลาร์สหรัฐให้เปลี่ยนสภาพจาก “เงินเลว” กลายเป็น “เงินดี” ที่โลกไม่สามารถปฏิเสธได้
ข้อมูลเหล่านี้ ทำให้เกิดคำถามว่า ความพยายามของทรัมป์ในการ “ข้ามแม่น้ำรูบิคอน” เกิดขึ้นมาได้อย่างไร
ทรัมป์โง่จริง หรือแสร้งโง่ เพื่อดึงเฟดเข้าสู่สงครามค่าเงิน ซึ่งนอกจากจะเป็นการย้ายกระบวนทัศน์แล้ว มันคือการ “ฆ่าตัวตาย” เพื่อทำลายความยิ่งใหญ่ของเศรษฐกิจอเมริกันโดยปริยาย เพื่อเป้าหมายแก้ดุลการค้าอย่างเดียว