พาราสาวะถีอรชุน
การอ้างเสียงสนับสนุนของประชาชนเพื่อให้อยู่ในอำนาจต่อไปของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยอาศัยฐานอิงมาจากข้อเสนอของพวกลากตั้งสอพลอที่ขอให้ปฏิรูปประเทศให้สำเร็จก่อนเลือกตั้ง ไม่ว่าจะมองจากมุมไหน ทำให้คิดเป็นอย่างอื่นไปได้ยากนอกจาก“ต้องการสืบทอดอำนาจ” ดังนั้น โรดแม็พที่อุปโลกน์กันมาตั้งแต่ต้นจึงเป็นเพียงการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อลดกระแสต่อต้านจากกลุ่มต่างๆ เท่านั้น
การอ้างเสียงสนับสนุนของประชาชนเพื่อให้อยู่ในอำนาจต่อไปของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยอาศัยฐานอิงมาจากข้อเสนอของพวกลากตั้งสอพลอที่ขอให้ปฏิรูปประเทศให้สำเร็จก่อนเลือกตั้ง ไม่ว่าจะมองจากมุมไหน ทำให้คิดเป็นอย่างอื่นไปได้ยากนอกจาก“ต้องการสืบทอดอำนาจ” ดังนั้น โรดแม็พที่อุปโลกน์กันมาตั้งแต่ต้นจึงเป็นเพียงการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อลดกระแสต่อต้านจากกลุ่มต่างๆ เท่านั้น
ความอยากที่จะสืบทอดอำนาจสะท้อนผ่านความพยายามในการที่จะประสานมือกับพลังอำนาจซ่อนแอบ ในท่วงทำนองประนีประนอม จึงเกิดภาพการตามล้างตามเช็ดคนชื่อ ทักษิณ ชินวัตร ทั้งการถอนพาสปอร์ตทุกเล่ม ถอดยศ และตามมาด้วยการริบคืนเครื่องราชฯ เหล่านี้เพื่อทำให้พลังอำนาจซ่อนแอบเห็นว่าเป็นพวกเดียวกัน เพื่อที่จะไปจูงมือกลุ่มคนการเมืองที่ยังคลางแคลงใจให้หันมาสนับสนุนแบบสุดลิ่มทิ่มประตู
แน่นอนว่าในนามของพรรคใหญ่อย่างประชาธิปัตย์อาจจะดีใจอยู่ลึกๆ ที่ผู้นำของพรรคคู่แข่งสำคัญถูกรุกไล่ชนิดโงหัวไม่ขึ้น เช่นเดียวกันกับความสะใจอย่างออกนอกหน้าของแกนนำม็อบกปปส.และลิ่วล้อ แต่ในทางตรงข้าม กลับมองกันว่า ยิ่งรุกไล่ใส่ทักษิณมากเท่าไหร่สิ่งที่คิดว่าจะได้กลับไม่คุ้มกัน ผลของการเลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นเครื่องพิสูจน์
ด้วยเหตุนี้กระมัง หลังการเปิดเกมรุกเข้าใส่คนแดนไกลชนิดต้องการให้จนตรอกแต่อีกฝ่ายกลับนิ่งเฉย ไม่ว่าจะพี่ชายหรือน้องสาวดูเหมือนจะไม่ตระหนกตกใจกับการกระทืบเท้าขู่ จึงทำให้ฝ่ายผู้มีอำนาจต้องพลิกเกมด้วยการลากยาวขออยู่ต่อแบบดื้อๆ โดยอ้างอิงเสียงของประชาชนที่เชื่อว่าจะสนับสนุนมาเป็นไม้ค้ำยันฐานแห่งอำนาจ เพราะเชื่อว่ายิ่งลากยาวไปได้นานเท่าไหร่ แนวร่วมของระบอบทักษิณจะยิ่งฝ่อลงเรื่อยๆ
การเดินหมากรอบนี้ของผู้มีอำนาจหวังผลแบบสองเด้ง ด้านหนึ่งคือเพื่อให้กลุ่มสนับสนุนออกแรงเชียร์ให้อยู่ต่อ โดยผ่านกระบวนการประชามติ ซึ่ง วิษณุ เครืองาม เนติบริกรก็การันตีแล้วว่า ข้อเสนอของไพบูลย์ นิติตะวัน ที่จะให้ถามประชาชนว่าปฏิรูปก่อน 2 ปีแล้วเลือกตั้งนั้นสามารถทำได้ ในบริบทนี้มีความเชื่อกันว่า เสียงของประชาชนส่วนใหญ่จะเอาด้วย
ขณะที่อีกด้าน ปฏิบัติการณ์ที่ดำเนินอยู่เจตนานั้นชัดเจนว่าต้องการยั่วยุให้ฝ่ายต่อต้านออกมาชุมนุมเคลื่อนไหว จนสุดท้ายเกิดความวุ่นวาย ซึ่งจะเป็นเหตุให้อ้างได้ว่าความยุ่งยากที่เกิดขึ้น จำเป็นที่ผู้มีอำนาจจะต้องอยู่ต่อ เพื่อทำการปฏิรูปให้สำเร็จ การเปิดเกมในลักษณะเช่นนี้เป็นเพราะผู้มีอำนาจเชื่อมั่นอย่างสุดตัวว่า มาจนถึงเวลานี้ พลังต่อต้านทั้งหลายไร้น้ำยาที่จะโค่นล้มรัฐบาลได้
สิ่งที่การันตีเรื่องนี้ได้ คงเป็นคำพูดของบิ๊กตู่เองในงานสัมมนาบทบาทและหน้าที่ของกรรมการรัฐวิสาหกิจที่บอกว่า กฎหมาย ระบอบประชาธิปไตย องค์กรอิสระ กระบวนการยุติธรรม ตำรวจ ทหาร ทุกอย่างถูกทำลายไปในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี ถูกทำลายด้วยคนไม่ดี ด้วยความขัดแย้ง ทำให้ประเทศชาติเสียหายมาถึงทุกวันนี้ ไม่มีกฎหมายใดทำให้ประเทศเดินหน้าได้ นอกจากกฎอัยการศึกเท่านั้น จึงเป็นเหตุผลให้ตนมายืนตรงนี้
ด้วยเหตุนี้จึงอธิบายต่อไปว่า เหตุใดในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 จึงเขียนบทบัญญัติมาตรา 44 อันเป็นยาวิเศษภายใต้อุ้งมือของหัวหน้าคสช.ไว้ เพราะการใช้กฎหมายพิเศษคืออำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดที่ใครก็ไม่สามารถต่อกรได้ ก็ขนาดถึงขั้นลั่นวาจาว่าสามารถสั่งประหารชีวิตใครก็ได้ คงไม่มีหน้าไหนที่จะกล้าไปลองของ สรุปแล้วหากจะอยู่ต่ออีกสี่ซ้าห้าปีก็ทำได้โดยไม่มีใครกล้าหือ
แต่มันคงไม่ง่ายเช่นนั้น ในมิติทางการเมืองและสังคมกฎหมายพิเศษเอาอยู่ แต่ทางด้านเศรษฐกิจที่นับวันมีแต่สาละวันเตี้ยลง จะใช้มาตรการใดมารับมือ หากปล่อยให้ผู้คนอดอยากปากแห้ง ท้ายที่สุดพลังของความเดือดร้อนนั่นต่างหากที่จะเป็นแรงกระเพื่อมทำให้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดสั่นคลอน ยิ่งอยู่ต่อโดยไร้นโยบายที่สัมผัสจับต้องได้ ความน่าเชื่อถือยิ่งจะถดถอยลงเรื่อยๆ
ขนาดคนกันเองอย่าง บรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) ยังโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค ด้วยข้อความ สภาลากตั้งทั้งสองสนช.และสปช. ร่วมกับเหล่านักธุรกิจส.พ.ทั้งหลาย ออกมาประสานเสียงให้นายกฯ อยู่ต่ออีกสองปี แถมท่านทำท่าว่าจะยอมเสียสละทนทำตามที่ขอซะอีก ขออนุญาตถอนหายใจยาวๆ นะครับ เฮ้อออออออออออออออออออออออออออ บ่งบอกความรู้สึกชัดเจน
นั่นเป็นมุมของนักธุรกิจที่น่าขีดเส้นใต้ ขณะที่ฝ่ายนักวิชาการ วันวาน ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงข้อเสนอของไพบูลย์ว่า เรื่องการได้มาซึ่งผู้มีอำนาจรัฐไม่ใช่เรื่องที่จะต้องมาทำประชามติ ตนได้รับการสั่งสอนจากอาจารย์ ซึ่งขณะนี้ก็ดำรงตำแหน่งอยู่ในสปช. ที่สอนหลักเสียงส่วนใหญ่ ว่าการอ้างเสียงส่วนใหญ่จะต้องมีกติกาและพื้นฐานบางอย่าง ดังนั้น สิ่งที่ทำประชามติได้ต้องไม่ละเมิดหลักการพื้นฐานประชาธิปไตย
ต้องถามว่า เราจะกลับไปยึดหลักของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หรืออย่างไร ตนคิดว่าประเทศไทยพัฒนามามากแล้ว ไม่ใช่จะเอาทุกอย่างมาทำประชามติ คิดว่ามีพวกนักกฎหมายที่อธิบายแบบเด็กเลี้ยงแกะ จึงอยากถามว่าสังคมจะอยู่ได้อย่างไรกับการสร้างกติกาที่ไร้หลักการเช่นนี้ พร้อมเตือนสื่อด้วยว่าให้ระวังโพลชี้นำทั้งหลาย ที่จะเกื้อหนุนเข้าทางฝ่ายต้องการอยู่ต่อ
ทั้งที่ความจริงโพลหลายสำนักไม่สามารถเชื่อได้ เพราะมีกระบวนการที่บกพร่องหลายประการ ถือเป็นขยะที่ไม่สามารถเชื่อถือได้ เช่นเดียวกับ จอน อึ้งภากรณ์ อดีตสว.กทม.ที่ระบุว่า การทำประชามติเพื่อให้ผู้นำรัฐบาลอยู่ต่อเป็นธรรมเนียมทางการเมืองของประเทศที่มีวัฒนธรรมทางการเมืองแบบไม่เป็นประชาธิปไตยหรือเห็นได้ชัดในประเทศเผด็จการ ที่ต้องการครองอำนาจยาวนาน นี่แค่น้ำจิ้มของเสียงค้าน คงไม่ใช่งานง่ายที่ผู้มีอำนาจคิดจะรวบหัวรวบหางนั่งชูคออยู่ในตำแหน่งแบบยาวๆ