พาราสาวะถี

แทบจะไม่ต้องไปติดตามว่าสิ่งที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะพูดกับผู้คนที่มารอต้อนรับในการลงพื้นที่ที่จังหวัดอำนาจเจริญและอุบลราชธานี ก่อนที่จะประชุมครม.สัญจรที่เมืองดอกบัวนั้นเนื้อหาสาระจะเป็นอย่างไร ทุกถ้อยคำสามารถเขียนข่าวรอไว้ได้เลย ทั้งเรื่องของการเลือกตั้ง การไม่เลือกแบบเก่าต้องเลือกคนดี ที่ขาดไม่ได้ก็ขายโครงการไทยนิยมยั่งยืนและประชารัฐที่รัฐบาลคสช.ชูเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงมาตลอด รอบนี้มีของแถมคือ “ประเทศมีปัญหาเพราะเลือกผู้นำผิด”


อรชุน

แทบจะไม่ต้องไปติดตามว่าสิ่งที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะพูดกับผู้คนที่มารอต้อนรับในการลงพื้นที่ที่จังหวัดอำนาจเจริญและอุบลราชธานี ก่อนที่จะประชุมครม.สัญจรที่เมืองดอกบัวนั้นเนื้อหาสาระจะเป็นอย่างไร ทุกถ้อยคำสามารถเขียนข่าวรอไว้ได้เลย ทั้งเรื่องของการเลือกตั้ง การไม่เลือกแบบเก่าต้องเลือกคนดี ที่ขาดไม่ได้ก็ขายโครงการไทยนิยมยั่งยืนและประชารัฐที่รัฐบาลคสช.ชูเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงมาตลอด รอบนี้มีของแถมคือ “ประเทศมีปัญหาเพราะเลือกผู้นำผิด

พอจะเข้าใจได้ในเมื่อสิ่งที่จะพูดนั้นมันถูกขีดเขียนมาแล้วตั้งแต่ก้าวเท้าเข้ามาทำการยึดอำนาจจากรัฐบาลประชาธิปไตย ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องไปสนใจว่าผู้คนที่มาต้อนรับนั้นจะเป็นใครหน้าไหน ข้าราชการ ประชาชน พ่อค้า ประชาชนหรือนักศึกษา นักเรียนอนุบาล ท่านผู้นำก็จะพูดในเรื่องเดียวกันคือ ยกหางคณะรัฐบาลตัวเอง ผลงาน ความเสียสละ ความรักชาติที่ไม่มีใครทำได้เหมือนตัวเองและคณะอีกแล้ว

เมื่อทุกอย่างมันเหมือนบทละครน้ำเน่าในทีวี ผู้ที่นิยมชมชอบแนวนี้ก็จะเห็นดีเห็นงาม หลับหูหลับตายกย่องว่านี่คือสุดยอดผลงานมาสเตอร์พีซ แต่สำหรับคนที่อยากเห็นแนวใหม่ ต้องการให้เกิดกระบวนการปฏิรูปที่อย่าไปนับรวมปฏิรูปตามน้ำคำของ สุเทพ เทือกสุบรรณ และม็อบกปปส. ต้องบอกว่าผิดหวังอย่างแรงที่คาดหวังจะได้เห็นละครน้ำดี สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม แต่สุดท้ายก็จมปลักอยู่กับแนวทางทิศทางแบบเดิม ๆ

เรื่องการเลือกตั้งและตั้งพรรคการเมือง เห็นภาพชัดเจนเป็นที่สุด “พลังดูด” เดินเกมกันแบบไม่สนใจใยดีข้อครหาใด ๆ ขณะที่ผู้มีอำนาจก็เล่นบทตีมึน มิหนำซ้ำ ยังถือหางและเปิดทางให้พวกเคลื่อนไหวว่าทำได้ ไม่ผิดกฎหมายอีกต่างหาก เพียงเท่านี้ก็เห็นแล้วว่าหมากกลที่วางกันไว้นั้น จากที่ดูเหมือนมีอะไรซับซ้อน ซ่อนเงื่อน พอเอาเข้าจริงก็หนีไม่พ้นใช้วิธีการสามานย์แบบนักการเมืองชั่ว นักการเมืองเลว นั่นเอง

ด้วยเหตุนี้กระมัง ผลของการเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเพื่อร่วมแลกเปลี่ยนประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยของคณะทำงานของอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งรัฐสภายุโรปหรืออียู จึงออกมาเป็นการตบหน้าหรือตอกย้ำเรื่องที่ท่านผู้นำและคนในรัฐบาลได้กล่าวอ้างมาตลอดว่า ต่างประเทศเห็นใจและเข้าใจกระบวนการเตรียมการจัดการเลือกตั้งของรัฐบาลไทยเป็นอย่างดี

หลังจากใช้เวลา 3 วันในการเยือนประเทศไทย ปิแอร์ อันโตนิโอ แพนเซรี่ ประธานคณะทำงานของอนุกรรมาธิการดังกล่าว ได้พูดถึงผลของการเดินทางมาติดตามการทำงานของรัฐบาลไทยในเรื่องสิทธิมนุษยชน โดยมีการกล่าวชื่นชมในประเด็นความพยายามของรัฐไทยในการปราบปรามและดำเนินคดีกับเครือข่ายการค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงาน

แต่ได้แสดงความกังวลถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายในประเทศไทย ที่ยังคงมีการจำกัดสิทธิทางการเมืองหลายประการ ทั้งเสรีภาพในการพูด เสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในการชุมนุม โดยแพนเซรี่กล่าวว่า การจัดการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมยังคงเป็นเงื่อนไขสำคัญหากไทยต้องการจะกลับมามีความสัมพันธ์ทางการค้ากับอียู

การกลับไปสู่ระบอบประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรม และครอบคลุม คือเงื่อนไขสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับยุโรป ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายกลับมาเจราจาทางการค้ากันใหม่ได้ ทั้งข้อตกลงการค้าเสรีหรือเอฟทีเอ และข้อตกลงความร่วมมือระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปหรือพีซีเอ ซึ่งรัฐสภาอียูจะจับตาดูการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด ควบคู่ไปกับประเมินสถานการณ์ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

รวมไปถึงสภาพการจ้างงานในอุสาหกรรมประมง และอุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูป เช่นเดียวกับปัญหาสิทธิแรงงาน แต่จุดใหญ่ใจความอยู่ที่ข้อเรียกร้องหลังการเยือนของคณะทำงานชุดนี้ต่อรัฐบาลไทย 4 ประการ โดยประการแรกจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปที่เสรีและเป็นธรรม สอดคล้องกับมาตรฐานสากล มุ่งฟื้นฟูรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งผ่านสถาบันทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย

ประการต่อมาคือ ฟื้นฟูสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลตามที่ประเทศไทยได้ให้สัญญาไว้ ยกเลิกการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการชุมนุม และการรวมตัว สร้างบรรยากาศทางการเมืองที่เปิดกว้าง ให้พรรคการเมือง ภาคประชาสังคม และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนสามารถใช้สิทธิ์ของพวกเขาได้อย่างเสรีและสงบสุข

ทำตามข้อผูกมัดที่ประเทศไทยให้ไว้ในกลไก Universal Periodic Review ปี 2016 และทำตามแผนปฏิบัติการด้านสิทธิมนุษยชนฉบับที่ 3 เพื่อให้การดำเนินการยกเลิกโทษประหารมีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น สุดท้ายให้ทบทวนการใช้กฎหมายอาญา และกฎหมายยุยงปลุกปั่นหรือกฎหมายอาญามาตรา 116 ที่มากเกินความจำเป็น ซึ่งมักนำไปสู่การจองจำนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมถึงตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่ความมั่นคง เพื่อส่งเสริมหลักนิติธรรมและยุติการลอยนวลพ้นผิด

ข้อเรียกร้องดังกล่าวไม่เพียงแต่เป็นการหักล้างถ้อยแถลงของรัฐบาลหลังจากการเดินทางไปเยือนอังกฤษและฝรั่งเศสของหัวหน้าคสช.ก่อนหน้านี้ ที่อ้างว่าทั้งสองประเทศเข้าใจกระบวนการเตรียมการเลือกตั้งของไทยเป็นอย่างดี รวมถึงปัญหาการจำกัดสิทธิ เสรีภาพ เพราะหากเข้าใจจริง สิ่งที่เสนอคงไม่ออกมาในรูปแบบนี้ นี่คือสิ่งที่ยืนยันประเด็นที่เคยบอกมาตลอดว่า นานาอารยประเทศนั้น ไม่ได้หวังให้เพียงแค่มีเลือกตั้งแล้วได้รัฐบาล แต่เขามองไปไกลกว่านั้นว่าวิธีการจัดเลือกตั้งและผู้ที่เข้ามาเป็นอย่างไร

ดังนั้น ประเภทที่คิดกันง่าย ๆ ใช้พลังดูดแล้วทำทุกวิถีทางเพื่อให้หัวหน้าเผด็จการได้กลับเข้าสู่อำนาจ โดยจะใช้วิธีการหน้าทนอ้างบทบัญญัติของกฎหมายไทยที่มีอยู่ โดยเฉพาะเรื่องนายกฯ คนนอก ไปชี้แจงให้กับต่างชาติเข้าใจ คิดกันแบบนี้และเชื่ออย่างนั้น ก็อยากให้มีการจัดการเลือกตั้งโดยเร็วและได้รัฐบาลสืบทอดอำนาจโดยไว เราจะได้รู้กันว่าสิ่งที่คิดและทำกันอยู่เวลานี้จะเป็นอย่างนั้นหรือไม่ และถ้าไม่ใช่ก็ไม่กล้าที่จะไปถามหาว่าใครต้องรับผิดชอบ เพราะไม่เคยมีเผด็จการหน้าไหนเคยยอมรับผิดกับสิ่งที่ตัวเองทำพลาดไว้

Back to top button