เบื้องลึกสงครามน้ำลาย

หลังจากเปิดเกมข่มขู่คนไปทั่วโลกในลักษณะ "ปากกล้า ขาสั่น" โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ถูกลองของเข้าจนได้ เล่นเอาถึงกับออกงิ้วผิดเวทีกันไปเลย


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

หลังจากเปิดเกมข่มขู่คนไปทั่วโลกในลักษณะ “ปากกล้า ขาสั่น” โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ถูกลองของเข้าจนได้ เล่นเอาถึงกับออกงิ้วผิดเวทีกันไปเลย

ประธานาธิบดี ฮัสซัน รูฮานี ของอิหร่าน กล่าวปราศรัยต่อที่ประชุมของพวกนักการทูตชาวอิหร่านเมื่อวันอาทิตย์ว่า ทรัมป์อย่าเล่นแหย่หางสิงโต นี่มีแต่จะนำไปสู่ความเสียอกเสียใจ และเล่นคำว่า อเมริกาควรจะรู้ว่าสันติภาพกับอิหร่านคือมารดาแห่งสันติภาพทั้งหลาย และสงครามกับอิหร่านคือมารดาแห่งสงครามทั้งหลาย แต่ก็ยังคงเปิดประตูสำหรับความเป็นไปได้ที่จะมีสันติภาพระหว่างประเทศทั้งสองซึ่งได้เป็นศัตรูกันมานับตั้งแต่การปฏิวัติอิสลามในอิหร่านเมื่อปี 1979

คำว่า มารดาแห่งสันติภาพ หรือ มารดาแห่งสงคราม มีคำนิยามหมายถึง ความยิ่งใหญ่ของปฏิบัติการที่เกิดขึ้น

การปราศรัยครั้งนี้ รูฮานียังได้เย้ยหยันเรื่องที่ทรัมป์ข่มขู่จะหยุดยั้งการส่งออกน้ำมันของอิหร่าน และบอกว่าอิหร่านนั้นมีที่ตั้งซึ่งเป็นฝ่ายครอบงำเหนืออ่าวเปอร์เซียและช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งเป็นทางน้ำสำคัญในการขนส่งน้ำมัน โดยย้ำว่า “เราต่างหากที่เป็นผู้รับประกันความมั่นคงปลอดภัยของทางน้ำในภูมิภาคนี้มาตลอดประวัติศาสตร์

คำกล่าวประเภท “กูไม่กลัวมึง” ของรูฮานี ได้รับการตอบโต้อย่างกราดเกรี้ยวจากทรัมป์ตามที่คาดเอาไว้ เพราะไม่เคยถูกสวนแรง ๆ แบบนี้มาก่อน ทำให้สถานการณ์อาจจะบานปลายมากกว่าสงครามน้ำลายได้

ในทางลึก พวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ หลายรายทั้งในเพนตากอนและกระทรวงต่างประเทศ ออกมายอมรับโดยไม่เปิดเผยชื่อว่า การตอบโต้ของรูฮานีนั้น เป็นปฏิกิริยาจากข้อมูลที่ระบุว่า คณะบริหารทรัมป์ในทำเนียบขาว ได้เริ่มปฏิบัติการเปิดการรุกของสงครามโฆษณาชวนเชื่อร่วม  “สหรัฐฯ-อิสราเอล-ซาอุดีอาระเบีย” ที่ประกอบด้วยการออกมาแถลงกล่าวปราศรัย และการสื่อสารทางออนไลน์ต่าง ๆ ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะกระตุ้นปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบและช่วยบีบคั้นอิหร่านให้ยอมยุติโครงการนิวเคลียร์ของตนตลอดจนให้ยอมยุติความสนับสนุนที่ให้แก่กลุ่มหัวรุนแรงในประเทศต่าง ๆ

การรณรงค์ครั้งนี้มุ่งทำให้ภาพลักษณ์ของพวกผู้นำอิหร่านดูเลวร้าย ขณะเดียวกันก็มีการใช้ข้อมูลข่าวสารที่เกินจริงหรือขัดแย้งกับประกาศคำแถลงของพวกเจ้าหน้าที่ รวมทั้งคำวิจารณ์ของพวกรัฐบาลก่อน ๆ ด้วย

สงครามโฆษณาชวนเชื่อแบบสมคบคิด “สหรัฐฯ-อิสราเอล-ซาอุดีอาระเบีย” ตามสูตรคลาสสิก ของโยเซฟ ก็อบเบิล และ ทฤษฎี “โกหกคำโต” เพื่อสร้าง “ศัตรูประดิษฐ์” อย่างพลิกแพลงช่ำชองต่อมาไม่เคยขาด

กรณีของอิหร่านที่ถูกเสกปั้น เป็น “ผู้ร้ายของชาวโลก” สืบเนื่องจากการปฏิวัติอิสลาม ค.ศ. 1987 ที่โค่นระบบชาห์ ซึ่งสหรัฐฯ-อังกฤษหนุนหลังเพราะผลประโยชน์น้ำมัน มายาวนาน แม้จะเบี่ยงเบนจากข้อเท็จจริงอย่างมากมาย แต่ก็ยังเป็นพิษตกค้างจนถึงทุกวันนี้ สะท้อนว่าทฤษฎี “สร้างศัตรูประดิษฐ์” ยังเป็นสรณะที่สายเหยี่ยวในเพนตากอนและกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ ยึดถือต่อไป ไม่เปลี่ยนแปลง

ปริศนาท่าทีของทรัมป์ต่อกรณีอิหร่าน นำมาซึ่งคำถามว่า หากอิหร่านเป็นแค่ศัตรูประดิษฐ์ แล้วราคาน้ำมันดิบที่พุ่งแรงทะลุจุดสูงสุดทุกครั้งที่มีความตึงเครียดกับอิหร่าน รวมทั้งล่าสุด โยงใยกันมากน้อยแค่ไหน

นักยุทธศาสตร์ทางทหารและเศรษฐกิจทั่วโลกรับรู้กันดีว่าการจัดการระงับหรือสร้างความขัดแย้งกับอิหร่านนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายแบบกรณีของซัดดัม ฮุสเซนที่อิรัก เพราะอิหร่านนั้นมีจุดแข็ง 3 จุด สำคัญคือ 1) เป็นชาติส่งออกน้ำมันดิบอันดับสองของโอเปก 2) ประชากรส่วนใหญ่ของอิหร่านเป็นชาวเปอร์เซียและนับถืออิสลามนิกายชีอะห์ จึงมีเอกภาพมาก 3) มีภูมิศาสตร์การเมืองที่โดดเด่น โดยเฉพาะตรงช่องแคบฮอร์มุซ

ช่องแคบฮอร์มุซ เป็นช่องแคบที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ที่ตั้งอยู่ระหว่างอ่าวโอมานทางตะวันออกเฉียงใต้กับอ่าวเปอร์เซียทางตะวันตกเฉียงใต้ ฝั่งทางตอนเหนือเป็นประเทศอิหร่าน ทางตอนใต้เป็นสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และแหลมมุซันดัม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประเทศโอมาน

ช่องแคบส่วนที่แคบที่สุดกว้าง 54 กิโลเมตร แต่ความสำคัญที่เป็นทางออกทางมหาสมุทรทางเดียวของบริเวณส่วนใหญ่ของประเทศที่ส่งปิโตรเลียมออกในอ่าวเปอร์เซีย

ข้อมูลทางยุทธศาสตร์ ระบุว่าโดยถัวเฉลี่ยในแต่ละวันจะมีเรือบรรทุกน้ำมัน 15 ลำที่บรรทุกน้ำมันราว 16.5-17 ล้านบาร์เรลที่เดินทางออกจากช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งทำให้เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดในโลก การขนส่งน้ำมันจากช่องแคบเป็นจำนวน 40% ของการขนส่งทางเรือทั้งหมด และ 20% ของการขนส่งน้ำมันทั่วโลก

นั่นหมายความว่า แม้แนวร่วมปฏิบัติการสงครามโฆษณาชวนเชื่อจะประสบความสำเร็จในการสร้าง “ผู้ร้ายของโลก” ให้อิหร่าน แต่การก้าวล่วงสู่สงครามจริงอาจจะเสริมด้วยสงครามตัวแทน ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะหากปริมาณน้ำมันดิบหายไปจากตลาดโลกวันละ 16.5-17 ล้านบาร์เรล โลกคงปั่นป่วนมหาศาล แล้วอิหร่านอาจจะได้แนวร่วมมุมกลับมหาศาล

อาการสั่นเป็นเจ้าเข้าของทรัมป์วานนี้ จึงแฝงไว้ด้วยความเปราะบางที่ปิดไม่มิด

Back to top button