เหตุผลที่ไม่สมเหตุผล

ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) กำไรไตรมาสสองและงบครึ่งปี 2561 ออกมาสร้างความผิดหวังอีกครั้ง ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่แปลกที่การนำเสนอข่าวทางลบของธนาคารแห่งนี้ดูเงียบสงบเป็นพิเศษในหน้าสื่อธุรกิจ


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) กำไรไตรมาสสองและงบครึ่งปี 2561 ออกมาสร้างความผิดหวังอีกครั้ง ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่แปลกที่การนำเสนอข่าวทางลบของธนาคารแห่งนี้ดูเงียบสงบเป็นพิเศษในหน้าสื่อธุรกิจ

โดยทั่วไปแล้ว ผู้บริหารธนาคารพาณิชย์มักจะได้รับความ “เกรงใจ” จากนักข่าวและสื่อด้านธุรกิจมากกว่ากลุ่มธุรกิจอื่น ๆ เสมอ ยากที่จะมีคำวิพากษ์อย่างตรงไปตรงมาปรากฏให้เห็น ไม่รู้ว่าเป็นเพราะจารีต หรือความรู้สึกอ่อนด้อยของนักข่าว หรือสื่อเอง หรืออื่น ๆ (ไม่ทราบจะอธิบายอย่างไร)

เวลามีข่าวดี มักจะได้รับการโหมประโคมเกินจริง แต่เวลาที่มีข่าวร้าย มักจะมีการยกประเด็นหลบเลี่ยงหรือกลบเกลื่อน

แม้กระทั่งเวลาที่นักลงทุนผิดหวังพากันทิ้งหุ้น TMB จนราคาร่วงสู่จุดต่ำสุดในรอบเกิน 1 ปี ก็ยังมีใครบางคนในวงการสื่อพยายามหาข้อดีมาแนะนักลงทุนให้ซื้อจนได้ …ครั้นจะบอกว่าผลประโยชน์ทับซ้อนก็ไม่น่าใช่ เพราะธนาคารอย่าง TMB นั้นมีชื่อว่า “เหนียว” กว่าปกติธรรมดาอยู่แล้ว

ยามนี้ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เกือบทุกสำนัก ออกคำชี้แนะปรับลดราคาเป้าหมายของราคาหุ้น TMB กันระนาว ที่ให้ราคาต่ำสุดก็ที่ระดับ 2.10 บาท เท่านั้น แถมบางรายเข้มข้นกว่านั้นขึ้นขายทิ้งแล้ว “เปลี่ยนตัวลงทุน” ไปลงทุนหุ้นธนาคารพาณิชย์อื่น ๆ ที่น่าสนใจกว่า เรียกว่าไม่ต้องเกรงใจกัน (สวนทางกับที่นักข่าวหรือสื่อปฏิบัติกันทีเดียว)

ท่าทีของนักวิเคราะห์สอดรับกับอารมณ์ของ “คุณตลาด” ไม่น้อย เพราะเหตุผลที่เอามาอ้างในการดาวน์เกรดเป็นสิ่งที่ผู้บริหารไม่ยอมพูดถึง เช่น

สินเชื่อโตช้า

รายได้ค่าธรรมเนียมไม่ดีตามคาด ยังคงต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว จากการกระจุกตัวของการขายกองทุน

กำไรครึ่งปีแรกออกมาน่าผิดหวัง และครึ่งปีหลังยังมีความเสี่ยงอยู่

ผลกระทบจาก IFRS 9 ยังเป็นแรงกดดันในอนาคต

นอกจากนั้นยังมีมุมมองเสริมอีกว่า คุณภาพสินเชื่อและอัตราการเติบโตน้อยกว่าคาด เป็นผลทำให้การตั้งสำรองฯ อาจสูงกว่าคาด ยิ่งหากทิศทางการขยายตัวของสินเชื่อและรายได้ค่าธรรมเนียมไม่เป็นไปตามคาด จะไม่เป็นผลบวกในระยะต่อไป

มุมมองดังกล่าว ย้อนแย้งกับการที่ผู้บริหารอย่าง นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TMB  รายงานหลังงบการเงินออกมาลิบลับ เพราะแสดงความมั่นใจว่าธนาคาร TMB เดินมาถูกทางแล้วจากก้าวย่างของการมุ่งขยายฐานลูกค้าอย่างต่อเนื่องผ่านกลยุทธ์ “Get More with TMB” โดยอ้างว่า สามารถมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองฯ 9,980 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1%  ในขณะที่การตั้งสำรองฯ ที่มีผลให้กำไรสุทธิอยู่ที่ 4,306 ล้านบาท ลดลง 3% จากปีก่อนหน้านั้นเป็นการตั้งเพื่อคงอัตราส่วนสำรองฯ ต่อ NPL ที่ 140% เน้นความรอบคอบในการดูแลคุณภาพสินทรัพย์และยังคงสามารถควบคุมสัดส่วนหนี้เสียในระดับต่ำที่ 2.37%

คำถามจึงมีอยู่ว่า มีอะไรที่ไม่ชอบมาพากลซุกซ่อนอยู่ใน TMB จึงทำให้ผู้บริหารต้องเร่งตั้งสำรองฯ ทั้งที่คุยโตว่าสามารถควบคุม NPL ให้อยู่ในกรอบต่ำได้ดีเหมือนเดิม

ตราบใดที่ยังไม่มีคำตอบชัดเจน ราคาหุ้น TMB ก็คงแกว่งตัวไปมากับความเชื่อของนักลงทุนซึ่งเลื่อนลอยแล้วไม่มีทางพิสูจน์ได้ จนกว่างบการเงินไตรมาสสามและสิ้นปีจะออกมาเสียก่อน ซึ่งยาวนานเกินไป

หากพิจารณาลงลึกในงบการเงิน TMB ที่รายงานออกมาล่าสุด ก็ไม่เลวร้ายมากนัก โดยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองฯ สำหรับงวด 6 เดือน ปี 2561 ที่ 9,980 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% จากปีก่อนหน้า จากจำนวนลูกค้ารายย่อยที่ใช้ TMB เป็นประจำ (Active Customer) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ 2.5 ล้านราย ขณะที่ Active Digital Customer เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1 ล้านราย

สามารถขยายฐานเงินฝากเพิ่มขึ้น 3% มาอยู่ที่ 6.32 แสนล้านบาท ตามการเติบโตอย่างต่อเนื่องของเงินฝากลูกค้ารายย่อย กับสามารถขยายสินเชื่อคุณภาพ (Performing loan) ได้ 2% จากปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 6.36 แสนล้านบาท เป็นการเติบโตจากกลุ่มลูกค้ารายย่อยเป็นหลัก โดยเฉพาะจากสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้น 9% หรือ 1.2 หมื่นล้านบาท ในส่วนของสินเชื่อลูกค้าธุรกิจ พบว่าสินเชื่อลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ยังคงเติบโตได้ดีที่ 3% หรือ 7.7 พันล้านบาท

ความสำเร็จในการรุกลูกค้ารายย่อย มีผลต่อส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ย อยู่ที่ 3.01% ลดลงชัดเจนจาก 3.19% ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลง 2% มาอยู่ที่ 12,130 ล้านบาท โดดเด่นและหักกลบรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น 7% มาอยู่ที่ 6,447 ล้านบาท ทำให้โดยรวม ธนาคารมีรายได้จากการดำเนินงานทั้งสิ้น 18,576 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอยู่ที่ 8,559 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% เช่นกัน และแม้กำไรปกติจะเพิ่มขึ้น แต่เมื่อมีการตั้งสำรองฯ มาก ผลลัพธ์จึงน่าผิดหวัง

ข้ออ้างซ้ำซากเรื่อง “เน้นความรอบคอบในการดูแลคุณภาพสินทรัพย์” จึงเป็นเหตุผลที่ไม่มีใครอยากได้ยิน เพราะมีคำถามตามมาทันทีว่า ธนาคารอื่นที่เน้นเรื่องคุณภาพสินทรัพย์ด้วยมาตรฐานเดียวกัน ทำไมจึงไม่ต้องตั้งสำรองฯ เป็นบ้าเป็นหลังจนเกินความสมเหตุสมผลเช่นที่ TMB กระทำ

กำไรร่วงเพราะมาตรฐาน TMB ดีกว่าธนาคารพาณิชย์อื่น ๆ เป็นข้ออ้างที่ฟังยากเหลือเกิน ..นะขอรั

Back to top button