ทำไม TMB ขาย บลจ.

เชื่อว่านักลงทุนหลายคนคงตั้งคำถาม


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

เชื่อว่านักลงทุนหลายคนคงตั้งคำถาม

หลังจากเมื่อวานนี้หลังแบงก์ทีเอ็มบี แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ได้ขายหุ้น “บลจ.ทหารไทย” ให้กับกลุ่มพรูเด็นเชียล 65%

พรูเด็นเชียล ถือเป็นกลุ่มธุรกิจประกัน และกองทุนยักษ์ใหญ่ของยุโรป

ปัจจุบันพรูเด็นเชียล มีธุรกิจในประเทศไทยคือ บริษัท พรูเด็นเชียล ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)

หากจำกันได้ในช่วงปลายปี 2555 พรูเด็นเชียล เพิ่งประสบความสำเร็จเกี่ยวกับการรับโอนกิจการทั้งหมดของ บริษัท ธนชาตประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) มาจากกลุ่มธนชาต

และล่าสุดคือการเข้าซื้อหุ้นใน บลจ.ทหารไทย

ว่ากันว่า การเข้าซื้อครั้งนี้เพราะพรูเด็นเชียล ต้องการลงทุนในธุรกิจจัดการกองทุนในประเทศไทย

พรูเด็นเชียล ถือว่ามีความพร้อมทั้งในด้านของบุคลากร และตัวผลิตภัณฑ์การลงทุน จากประสบการณ์การลงทุนในตลาดเงินและตลาดทุนหลายแห่งทั่วโลก

ถามว่าแล้วทีเอ็มบีได้อะไร

ทีเอ็มบี เป็นธนาคารที่ไม่ได้มีบริษัทลูกเป็นของตัวเองมากนัก เช่น ธุรกิจโบรกฯ หรือ บล.ก็ไม่มี

หากข้อมูลไม่ผิดพลาด

ก็น่าจะเหลือเพียง บลจ.ทหารไทย แห่งนี้เท่านั้น

การขายหุ้นในธุรกิจกองทุนแห่งนี้เชื่อว่าน่าจะทำให้ทีเอ็มบีอยู่ในสถานะ “เบาตัว” มากขึ้น

ไม่ต้องมาคอยกังวลกับค่าใช้จ่ายที่น่าจะเป็นภาระต่าง ๆ ให้กับธนาคารที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

ทีเอ็มบีนั้นถือหุ้นใหญ่โดยกลุ่มไอเอ็นจี และกระทรวงการคลัง

หลายปีก่อนหน้านี้ไอเอ็นจี ได้ขายกิจการประกันชีวิตให้กับ “ริชาร์ด ลี” ลูกชายของ ลี กา ชิง มหาเศรษฐีอันดับต้น ๆ ของโลกและเปลี่ยนชื่อมาเป็น “เอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต” ในปัจจุบัน

ส่วนธุรกิจจัดการกองทุนของไอเอ็นจี คือ บลจ.ไอเอ็นจี ก็ขายให้กับ “บลจ.ยูโอบี”

ขณะที่กระทรวงการคลังเอง ก็ถือหุ้นอยู่ในธนาคารพาณิชย์ 2 แห่ง

นั่นคือ กรุงไทย กับ ทีเอ็มบี

และแบงก์กรุงไทย ก็มีธุรกิจจัดการกองทุน คือ บลจ.กรุงไทย อยู่ในมืออยู่แล้ว

ขณะเดียวกัน ก็ยังมี MFC : บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) อีกแห่ง และถือหุ้นใหญ่ด้วย

แล้วประเด็นที่น่าสนใจ หรือต้องติดตามต่อไปคืออะไร

คำตอบก็คือ กลยุทธ์ หรือ “ยุทธศาสตร์” ของทีเอ็มบีนั่นเอง

หากมองไปรอบ ๆ ของธุรกิจธนาคารในประเทศไทย

หากเป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่น่าจะยังคงนโยบายการเป็น ยูนิเวอร์แซลแบงก์ หรือการมีบริษัทลูก หรือในเครือเพื่อสร้างรายได้ให้กับธนาคาร

แต่ธนาคารพาณิชย์ขนาดกลาง อาจจะค่อย ๆ เริ่มเห็นการขายสินทรัพย์ออกไป

และอาจจะวางเป้าหมายเพื่อให้ตนเองไปสู่การเป็น Convenience store banking

หรือการเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ไม่ได้จำกัด “พันธมิตร” เพียงรายใดรายหนึ่ง หรือขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินแบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น

ทว่าจะมีพันมิตรทั่วไปหมด และมีสินค้าการเงินที่หลากหลาย และครอบคลุมความต้องการของลูกค้า

สินค้าที่นำเสนอผ่านธนาคาร จึงต้องมีรูปแบบ “ไลฟ์สไตล์ โปรดักต์”

ไม่กี่วันก่อนหน้านี้ “ปิติ ตัณฑเกษม” CEO ของ ทีเอ็มบี ก็เพิ่งให้สัมภาษณ์ว่า ธนาคารมีพันธมิตรในการขายสินค้าให้กับ บลจ.ต่าง ๆ รวมกว่า 8 แห่งแล้ว

ส่วนสินค้าประกันนอกจากขายให้กับ เอฟดับบลิวดีฯ

ก็ยังมีขายให้กับประกันแห่งอื่น ๆ ด้วย

สิ่งที่ทีเอ็มบีจะได้รับคือ การมีรายได้ค่าธรรมเนียมที่ไม่ได้ถูกจำกัดจากพันธมิตรหรือสินค้าตัวใดตัวหนึ่งอีกต่อไป

เช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ คือ ธนาคารกรุงเทพ หรือ BBL ที่มีบริษัทลูกค้าคือ “กรุงเทพประกันชีวิต” แต่ก็ยังมีพันธมิตรรายใหม่เพิ่ม คือ “เอไอเอ”

หรือธนาคารไทยพาณิชย์ที่ขาย “ธุรกิจประกันภัย” ออกไปแล้วหลายปีก่อนหน้านี้ (แต่ยังเป็นพันธมิตรกันอยู่)

และก็มีข่าวว่าอาจจะขายหุ้นในส่วนของ บมจ. ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต ออกไปด้วย

นับจากนี้เราคงวจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในวงการธนาคารพาณิชย์อีกเยอะ

และน่าเป็นการเปลี่ยนแบบที่คาดกันไม่ถึงก็ได้

Back to top button