RATCH เส้นทางไม่ราบรื่นแล้ว

ไม่ราบรื่นอีกต่อไปแล้ว..!! สำหรับแผนรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้า “โครงการพลังงานน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย” ใน สปป.ลาว กำลังผลิต 410 เมกะวัตต์ ที่กำหนดเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) เดือนกุมภาพันธ์ 2562 ที่บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH ถือหุ้น 25% (คิดเป็น 102.5 เมกะวัตต์)


แฉทุกวันทันเกมหุ้น

ไม่ราบรื่นอีกต่อไปแล้ว..!! สำหรับแผนรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้า “โครงการพลังงานน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย” ใน สปป.ลาว กำลังผลิต 410 เมกะวัตต์ ที่กำหนดเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) เดือนกุมภาพันธ์ 2562 ที่บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH ถือหุ้น 25% (คิดเป็น 102.5 เมกะวัตต์)

หลังจากเขื่อนดินย่อยส่วน D (Saddle Dam D) ของโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อยแตก.!?

แม้มูลค่าความเสียหาย..ยังไม่ปรากฏออกมาชัดเจนว่าเท่าไร่..แต่ผลกระทบเกิดขึ้นในวงกว้าง..มีผู้เสียชีวิตและสูญหายเป็นจำนวนมาก จึงทำให้แผนการดำเนินงานโครงการเซเปียนฯ ได้รับผลกระทบเชิงลบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สิ่งที่ต้องติดตามต่อไปคือ..

1) ความเสียหายของตัวเขื่อนดินย่อยแตก..แม้ส่วนนี้มีการทำประกันไว้อยู่แล้ว แต่ต้องมาดูว่า “เขื่อนแตก” ครั้งนี้ ประกันคุ้มครองทั้งหมดหรือไม่..ส่วนที่เหลือจะเท่าไร RATCH และพันธมิตรต้องมีการลงทุนเพิ่มเติมหรือไม่

2) การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบรวมถึงสิ่งปลูกสร้างและพื้นที่ต่าง ๆ จะเป็นเท่าไหร่

3) โครงการพลังงานน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย จะต้องเลื่อน COD หรือไม่ และเลื่อนไปนานเท่าไร

นี่ยังไม่รวมถึง “แผนการชำระหนี้เงินกู้” มูลค่า 22,000 ล้านบาท จาก 4 สถาบันการเงินของไทย นั่นคือ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY, ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และบริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TCAP (ในนามธนาคารธนชาต)

ประเด็นอยู่ที่ว่าเงื่อนไขการกู้เงินจาก 4 ธนาคารที่ว่ากำหนดการชำระคืนเงินกู้ไว้อย่างไร.!? เริ่มจ่ายไปเลยระหว่างการก่อสร้างหรือสร้างเสร็จแล้วถึงเริ่มจ่าย หรือจ่ายเมื่อเริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) หากเป็น 2 เงื่อนไขแรก เป็นผลต่อเจ้าหนี้แต่เป็นทุน (ยังไม่มีรายได้) ของลูกหนี้ ถ้าเป็นเงื่อนไขจ่ายเมื่อ COD เป็นผลดีต่อลูกหนี้แต่เจ้าหนี้เสียโอกาส ส่วนจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่เลื่อนออกไป

กลับมาที่มุมของ RATCH ด้วยสัดส่วนการถือหุ้น 25% (102.5 เมกะวัตต์) จึงกระทบต่อ RATCH โดยรวมเพียง 1.5 เท่านั้น จากกำลังการผลิตไฟฟ้าของ RATCH ปัจจุบันอยู่ที่ 7,000 เมกะวัตต์ จึงไม่น่าส่งผลต่องบการเงินโดยรวมของ RATCH อย่างมีนัยสำคัญ..มากนัก

เมื่อเส้นทางรายได้จากโครงการพลังงานน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย..ไม่ราบรื่นเช่นนี้

ในเชิงจิตวิทยาหุ้น RATCH อาจต้องใช้เวลาเยียวยาพอสมควรทีเดียว

…อิ อิ อิ…

…………………………………………………………

โครงการพลังงานน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย เป็นเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ ตั้งอยู่ในเขตที่ราบสูงโบโวเลน รอยต่อเมืองปากซอง แขวงจำปาสัก กับเมืองสะหนามไช แขวงอัตตะปือ เริ่มดำเนินการก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2556 กำหนดแล้วเสร็จช่วงต้นปี 2562 ด้วยภูมิประเทศที่เป็นป่าเขาและเป็นจุดผ่านสำคัญของแม่น้ำโขง รัฐบาลลาว ชูนโยบายการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าขายเพื่อนบ้าน ภายใต้คำขวัญ “แหล่งพลังงานของเอเชีย” มีการร่วมลงทุนระหว่าง 4 บริษัท ภายใต้ชื่อบริษัท ไฟฟ้า เซเปียน-เซน้ำน้อย จำกัด 1) บริษัท SK Engineering and Construction จำกัด ถือหุ้น 26% 2) บริษัท Korea Western Power จำกัด ถือหุ้น 25% 3) บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 25% และ 4) บริษัท Lao Holding State Enterprise ถือหุ้น 24%

Back to top button