ทำไมหุ้นเอเชียจึงดิ่งตาม “หยวน” ?
ตลาดหุ้นในเอเชียปรับตัวลงไปตาม ๆ กันในวันศุกร์ หลังจากที่ธนาคารกลางจีนกำหนดค่ากลางเงินหยวนลดลงเป็นวันที่ 7 ติดต่อกัน และเงินหยวนได้ลงไปอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบหนึ่งปี มีเหตุผลอะไรที่ตลาดหุ้นในภูมิภาคจึงอ่อนไหวต่อการอ่อนค่าของเงินหยวนขนาดนี้
รายงานพิเศษ
ตลาดหุ้นในเอเชียปรับตัวลงไปตาม ๆ กันในวันศุกร์ หลังจากที่ธนาคารกลางจีนกำหนดค่ากลางเงินหยวนลดลงเป็นวันที่ 7 ติดต่อกัน และเงินหยวนได้ลงไปอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบหนึ่งปี มีเหตุผลอะไรที่ตลาดหุ้นในภูมิภาคจึงอ่อนไหวต่อการอ่อนค่าของเงินหยวนขนาดนี้
ชุสุเกะ ยามาดะ นักกลยุทธ์เงินและหุ้นของแบงก์ ออฟ อเมริกา เมอร์ริลล์ ลินช์ บอกว่า มีหลายช่องทางที่การอ่อนค่าของเงินหยวนส่งผลกระทบต่อหุ้นในเอเชีย ข้อแรกคือ มันท้าทายความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจอื่น ๆ ในเอเชีย ข้อสองมันทำให้เกิดความวิตกว่าเงินทุนจะไหลออกจากจีนและจะไปสร้างความวุ่นวายในตลาดทุนซึ่งจะมีผลกระทบโดยทางอ้อมต่อเอเชีย และข้อสามการอ่อนค่าของเงินหยวนยิ่งทำให้เกิดความกังวลเรื่องสงครามการค้า
ธนาคารกลางจีนได้กำหนดค่ากลางเงินหยวนอย่างเป็นทางการไว้ที่ 6.7671 หยวนต่อดอลลาร์ก่อนตลาดเปิดในวันศุกร์ ซึ่งถือว่าเป็นการกำหนดค่าที่อ่อนที่สุดในรอบ เกือบ 13 เดือน และก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน เงินหยวนได้อ่อนลงเกือบ 1% แตะระดับต่ำสุดในรอบหนึ่งปี และเมื่อเทียบกับช่วงสามเดือนที่ผ่านมามันได้อ่อนตัวไปแล้วเกือบ 8% หลังจากที่เกิดความขัดแย้งทางการค้าทั่วโลกและมีความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน
นักวิเคราะห์หลายคนกล่าวว่า การอ่อนค่าล่าสุดของเงินหยวนเกิดขึ้นหลังจากที่ธนาคารกลางจีนระบุว่าเต็มใจที่จะยอมรับค่าเงินที่อ่อนลงได้ เนื่องจากว่ามันอาจช่วยให้อุตสาหกรรมส่งออกที่มีขนาดใหญ่มากของจีนจัดการกับภาษีการเก็บภาษีใหม่ของสหรัฐฯ ได้ โดยมันทำให้สินค้าจีนถูกลงสำหรับผู้ซื้อที่จ่ายเป็นเงินดอลลาร์ และนั่นอาจช่วยหนุนเศรษฐกิจจีนที่กำลังโตช้าที่สุดในรอบเกือบสองปี ซึ่งมีอัตราการเติบโตที่ 6.7% ในช่วงไตรมาสสอง
ค่าเงินหยวนแตกต่างจากเงินดอลลาร์หรือเงินยูโร เพราะว่ามันไม่ได้ลอยตัวอย่างเสรีเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น ๆ แต่ธนาคารกลางจีนช่วยชี้นำเงินหยวนด้วยการกำหนดช่วงการซื้อขายในแต่ละวัน และในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาธนาคารกลางจีนได้ทำให้นักลงทุนเซอร์ไพรส์ที่ชี้นำให้เงินหยวนอ่อนลงกว่าปกติ
นักวิเคราะห์เงินกล่าวว่า การเคลื่อนไหวของธนาคารกลางจีนเป็นนัยว่าธนาคารจะอดกลั้นต่อการอ่อนค่าของเงินหยวนเพื่อหนุนเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี การทำเช่นนี้มันทำให้เกิดต้นทุนเช่นกัน
การอ่อนตัวของเงินหยวนก็มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความตึงเครียดกับคณะบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมา ทรัมป์ได้กล่าวหาจีนซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าทำให้เงินหยวนต่ำเพื่อหนุนอุตสาหกรรมส่งออก
อย่างไรก็ดี มีมุมมองจากนักวิเคราะห์เช่นกันว่า จีนไม่น่าจะใช้การอ่อนค่าของเงินหยวนเป็นอาวุธในการทำสงครามการค้าเนื่องจากการอ่อนค่าอย่างรุนแรงของเงินหยวนเคยทำให้เกิดความวุ่นวายในตลาดจีนและตลาดทั่วโลกมาแล้วเมื่อปี 2558 และต้นปี 2559
นอกจากความตึงเครียดทางการค้ากำลังจะมีความรุนแรงมากขึ้น หลังจากที่สหรัฐฯ และจีนได้เก็บภาษีซึ่งกันและกัน และประธานาธิบดีสหรัฐกำลังขู่ที่จะโจมตีต่อสินค้าส่งออกของจีนอีก ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่กดดันเงินหยวนเช่นกัน
ที่เห็นได้ชัดคือทิศทางนโยบายเงินระหว่างจีนและสหรัฐฯ กำลังจะสวนทางกันมากขึ้น มีการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเนื่องจากว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ แข็งแกร่ง ซึ่งทำให้นักลงทุนมีความสนใจที่จะถือเงินดอลลาร์มากขึ้นและขายเงินสกุลอื่น ๆ แต่ในทางกลับกันตัวเลขเศรษฐกิจจีนกำลังชะลอตัวลงอย่างน่าเป็นห่วง
คำถาม คือ เงินหยวนจะอ่อนลงอีกมากแค่ไหน?
ฉี เกา นักวิเคราะห์เงินของสโกเทีย แบงก์ คาดว่า เงินหยวนจะอ่อนตัวลงอีก 2% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ และนั่นจะเป็นจุดที่ทำให้เกิดความกดดันว่าถึงเวลาต้องยับยั้งการอ่อนตัวแล้ว
หากเงินหยวนอ่อนตัวรวดเร็วเกินไป อาจทำให้เงินไหลออกจากจีนอย่างรุนแรงเนื่องจากนักลงทุนจะขาดความเชื่อมั่นและหาทางแลกเงินหยวนไปถือสินทรัพย์อื่น ๆ ที่อยู่ในรูปเงินดอลลาร์และเงินสกุลอื่น ๆ
นักวิเคราะห์ของเจพี มอร์แกน แอสเซ็ต แมเนจเมนต์ เชื่อว่า ทางการจีนน่าจะป้องกันไม่ให้เงินหยวนเคลื่อนไหวอย่างรุนแรงเกินไป ไม่ว่าจะในทิศทางใด