หุ้น APPLE

วันที่ 2 สิงหาคม ราคาหุ้นของ แอปเปิล อิงค์ บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลก บวกแรงเพราะกำไรมากเกินกว่านักวิเคราะห์คาด ทำให้ไม่เพียงแต่ราคาทำนิวไฮ ที่ 207.39 ดอลลาร์ต่อหุ้น แต่ยังมีส่วนสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ ด้วยการขึ้นเป็นบริษัทเอกชนแห่งแรกในสหรัฐอเมริกาที่มีมูลค่าตลาด (Market cap) สูงถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

วันที่ 2 สิงหาคม ราคาหุ้นของ แอปเปิล อิงค์ บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลก บวกแรงเพราะกำไรมากเกินกว่านักวิเคราะห์คาด ทำให้ไม่เพียงแต่ราคาทำนิวไฮ ที่ 207.39 ดอลลาร์ต่อหุ้น แต่ยังมีส่วนสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ ด้วยการขึ้นเป็นบริษัทเอกชนแห่งแรกในสหรัฐอเมริกาที่มีมูลค่าตลาด (Market cap) สูงถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

แม้ว่ามูลค่าตลาดจะเป็นมายาภาพ เพราะมีค่าเท่ากับราคาคูณจำนวนหุ้นที่มีอยู่ แต่การสร้าง “หลักหมุด” เช่นนี้ได้ ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะไปมองข้าม

อย่างน้อยที่สุด การที่มูลค่าของบริษัทนี้ เพิ่มขึ้นจากพื้นฐานหลักคือมีผลประกอบการดีเด่น และกำไรเติบโตต่อเนื่อง อัตรากำไรสุทธิไม่ได้ถดถอยลง ก็ถือว่าเดินมาถูกทาง เพราะแม้ราคาหุ้นจะสูงลิ่ว แต่ก็ยังห่างไกลจากคำว่าแพง เพราะค่าพี/อี ยังต่ำกว่าตลาด

ที่น่าสนใจประการต่อไปคือ แม้ APPLE จะจดทะเบียนในตลาดหุ้นแนสแด็ก แต่ขนาดใหญ่ของบริษัททำให้ถูกยกไปคำนวณในดัชนี ดาวโจนส์ และ S&P500 ด้วย มีผลต่อการคำนวณค่าดัชนีที่ไม่อาจปฏิเสธได้

ประการสุดท้าย แม้ว่าปัจจุบันจะถือว่ายาวนานเกินกว่าอิทธิพลของสตีฟ จ็อบส์ ที่เคยมีเหนือวิสัยทัศน์ของบริษัทจะดำรงอยู่ แต่บริษัทใต้ผู้บริหารปัจจุบันยังสามารถรักษาโมเมนตัมขาขึ้นเอาไว้ได้ เมื่อเทียบกับไมโครซอฟท์แล้ว ถือว่าเหนือกว่าชัดเจน

สถิติอันน่าตื่นใจ ที่ APPLE กลายเป็นบริษัทที่มูลค่าตลาดสูงถึง 1.002 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 3,300 ล้านล้านบาท ซึ่งหากนับสถิติตั้งแต่มีการเปิดขายหุ้นของแอปเปิลครั้งแรกในช่วงปี ค.ศ. 1980 การเติบโตในครั้งนี้ทำให้แอปเปิลเป็นบริษัทที่มีอัตราเพิ่มขึ้นของราคากว่า 40,000% หากถือหุ้นยาวนานโดยไม่ขายเลย

ก่อนหน้า แอปเปิลได้เปิดเผยตัวเลขผลประกอบการในไตรมาสที่ 3 ของปี 2561 ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2561 บริษัทมีรายได้ 53.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 17% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยมียอดขายในต่างประเทศถือเป็น 60% ของรายได้ประจำไตรมาส นอกจากนี้ แอปเปิลยังมีรายได้จากธุรกิจบริการ เช่น Apple Music, iTune, Apple Pay และอื่น ๆ เพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 9,500 ล้านเหรียญสหรัฐ

แม้ว่าจากรายงานยอดขายสมาร์ตโฟนทั่วโลกของ International Data Corporation (IDC) ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2561 แอปเปิลเพิ่งจะสูญเสียตำแหน่งที่ 2 ของตลาดสมาร์ตโฟนให้กับ หัวเหว่ย (Huawei) ซึ่งทำยอดขายได้ 54.2 ล้านเครื่อง เพิ่มขึ้นถึง 40.9% และขึ้นมามีส่วนแบ่งการตลาดเป็น 15.4% ในขณะที่ยอดขายสมาร์ตโฟนของแอปเปิล อยู่ที่ 41.3 ล้านเครื่อง เพิ่มขึ้น 0.7% และส่วนแบ่งการตลาดที่ 12.1% แต่แม้ว่าการเติบโตของหัวเหว่ยในตลาดสมาร์ตโฟนจะสามารถแซงหน้าแอปเปิลไปได้ แต่แอปเปิลก็ไม่ได้สูญเสียส่วนแบ่งการตลาดในส่วนนี้ไปแต่อย่างใด ในขณะที่ซัมซุง (Samsung) ซึ่งยืนแชมป์อันดับ 1 ในตลาดสมาร์ตโฟนกลับทำยอดขายลงมาอยู่ที่ 71.5 ล้านเครื่อง และส่วนแบ่งการตลาดลดลงมาเหลือ 20.9% โดยรวมลดลงมาถึง 10.4%

เพียงแต่ยอดขายอุปกรณ์ที่เรียกว่าฮาร์ดแวร์บวกด้วยโซลูชั่น ยังไม่ใช่ประเด็นบ่งชี้ความสำเร็จหรือล้มเหลวของธุรกิจในแง่ยอดขายและกำไร เพราะล่าสุดในการจัดอันดับแบรนด์การตลาดระดับโลกโดย นิตยสารฟอร์บส์ ทำการจัดอันดับแบรนด์สินค้าที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกประจำปี 2018 (ด้วยกติกาใช้ที่ปัจจัยประเมิน คือศักยภาพในการสร้างรายได้ ซึ่งอาจแตกต่างจากบางสถาบันที่อาจใช้การสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภค) แอปเปิลยังครองแชมป์เป็นปีที่ 8 ติดต่อกัน ด้วยมูลค่าเกือบ 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 6 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% จากปีก่อน

มูลค่าแบรนด์ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ยังคงทิ้งห่างจาก ส่วนอันดับที่ 2 อย่าง กูเกิล ซึ่งมีมูลค่าแบรนด์อยู่ที่ 4 ล้านล้านบาท ถึงเกือบ 40% แม้ช่องว่างของมูลค่าจะถือว่าใกล้เคียงกันมากขึ้น เมื่อเทียบกับเมื่อ 3 ปีก่อน โดยที่แอปเปิลยังมีความได้เปรียบด้วยความสามารถทำกำไรในปริมาณมหาศาลจากการตั้งราคาในระดับสูง และสามารถสร้างให้มีความต้องการแบบไม่มีที่สิ้นสุดต่อสินค้าของแอปเปิล

APPLE ในวันนี้ มาไกลเกินกว่าตำนานเก่าแก่จากการร่วมกันก่อตั้งของ สตีฟ จ็อบส์ และ สตีฟ วอซเนียก ทำการปฏิวัติธุรกิจคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะในยุค 70 โดยการนำเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องแรกที่ประดิษฐ์จากโรงรถออกมาขาย ในชื่อ Apple I ที่ราคาจำหน่าย 666.6 ดอลลาร์ ในจำนวนและระยะเวลาจำกัด ก่อนจะมาดังระเบิดกับ แอปเปิล II ซึ่งสร้างมาตรฐานให้กับไมโครคอมพิวเตอร์ที่เกิดมาตามหลังทั้งหมด โดยเฉพาะระบบปฏิบัติการที่แตกต่างชัดเจน

หลังจากผ่านความระหกระเหินของธุรกิจที่มีทั้งสูงสุดและต่ำสุดของแต่ละช่วงเวลา เวลานี้ APPLE กำลังเผชิญกับความท้าทายใหม่ว่า จะสามารถรักษาความเป็นบริษัทที่มีมูลค่าตลาดมากสุดในโลกไปได้อีกนานแค่ไหน แต่นั่นไม่ใช่ประเด็น เพราะหัวใจและธรรมชาติของธุรกิจนวัตกรรมที่มีส่วนผสมของนวัตกรรม+การสร้างแบรนด์+สร้างโมเมนตัมเพื่อชูกำไรให้โดดเด่น ยังเป็นความท้าทายใน “ปัจจัยแห่งชัยชนะ” อันยากลำบาก

คนที่นั่งหัวร่อจากราคาหุ้นของ APPLE อันโดดเด่นยามนี้ ไม่ใช่สตีฟ จ็อบส์ หรือ ทิม คุก แต่เป็น วอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่เข้ามาทุ่มช้อนซื้อหุ้นนี้เมื่อต้นปีนี้ไว้มากมาย

Back to top button