“เฮียตึ๋ง” ฟันกำไรหุ้น LH เดือนกว่า 3.5 พันล้านล.!
ชื่นมื่นกันถ้วนหน้า สำหรับผู้ถือหุ้น บริษัท แลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH แม้มีการประกาศล้มโต๊ะ “เทนเดอร์ ออฟเฟอร์” อย่างเป็นทางการไปแล้ว...
แฉทุกวันทันเกมหุ้น
ชื่นมื่นกันถ้วนหน้า สำหรับผู้ถือหุ้น บริษัท แลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH แม้มีการประกาศล้มโต๊ะ “เทนเดอร์ ออฟเฟอร์” อย่างเป็นทางการไปแล้ว…
ตามแบบฉบับ “เรียบร้อยโรงเรียนตึ๋ง !”
หากเท้าความกลับไป เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2561 “เฮียตึ๋ง” หรือ นายอนันต์ อัศวโภคิน มืออสังหาริมทรัพย์ระดับปรมาจารย์ของประเทศไทย ก็เรียกเสียงฮือฮาให้กับผู้คนในแวดวงอสังหาฯ และตลาดทุนอีกคำรบหนึ่ง
โดยบริษัทฯ แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ภายหลังบอร์ดมีมติเสนอที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น กรณีนายอนันต์ส่งหนังสือแจ้งความประสงค์ เพื่อทำคำเสนอซื้อหุ้น LH สัดส่วน 10% ที่ราคา 11.80 บาทต่อหุ้น
ราคาซื้อขายหุ้น LH บนกระดานตอบรับกับเรื่องนี้ทันทีทันใด ในวันเดียวกันนั้นเอง จากราคาเปิดมาในช่วงเช้า ก่อนหน้าการประกาศเรื่องนี้ในช่วงพักการซื้อขายระหว่างวัน อยู่ที่ระดับ 11 บาท จนภายหลังขยับขึ้นมาปิดที่ 11.50 บาท
ขณะที่ภายหลังจากนั้น ก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดนักว่าราคาหุ้น LH ที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น เป็นผลจากกระแสตอบรับเรื่องเทนเดอร์ฯ ที่ดูแล้วต้องถือว่า “โอเวอร์รีแอ็กต์” ไปนิดหรือเปล่า เพราะประกาศรับซื้อแค่ 10% หรือจะเป็นเพราะคาดการณ์เรื่องปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง?
ก็ถือว่าสุดจะคาดเดา และคงไม่ต้องไปเสียเวลางมโข่งอีกต่อไป เพราะไม่ได้มีความสลักสำคัญอะไรนัก
เอาเป็นว่า จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ราคาหุ้น LH ปรับตัวขึ้นมาแล้ว 1.20 บาท หรือคิดกลม ๆ สัก 11% ไม่ขาดไม่เกิน โดยราคาปิดล่าสุดอยู่ที่ 12.20 บาท ซึ่งแน่นอนว่าสูงกว่าราคาเทนเดอร์ฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
เป็นที่น่าสนใจ สำหรับเหตุผลในการประกาศยกเลิกรับซื้อหุ้นในครั้งนี้ ซึ่งมีการระบุว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ขอยกเลิกวงเงินสินเชื่อระยะยาวแก่นายอนันต์ เนื่องจากผู้ขอกู้ทำใจยอมรับอัตราดอกเบี้ยใหม่ที่ทางธนาคารขอเรียกเก็บไม่ได้
ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก สำหรับแบงก์เจ้าบุญทุ่มอย่าง SCB ที่ไม่ยอมโอนอ่อนผ่อนปรนกับลูกค้าสินเชื่อรายใหญ่ (อ้างอิงจากผลงานช่วงที่ผ่านมา)
ฉะนั้น นอกเหนือไปจากที่ว่าน่าสนใจแล้วนั้น ยังถือว่าน่าเก็บเอาไปคิดเพิ่มเติมด้วยว่า อะไรคือสาเหตุทำให้ทีมสินเชื่อที่เป็นผู้รับผิดชอบดูแลดีลครั้งนี้ ตัดสินใจที่จะคิดดอกเบี้ยจากนายอนันต์เพิ่มขึ้น จากที่ได้ตกลงกันเอาไว้
โดยหลักการทั่วไป อัตราดอกเบี้ยที่ผู้ให้กู้เรียกเก็บกับผู้ขอกู้ถือเป็นผลตอบแทน ซึ่งสะท้อนความเสี่ยงที่ผู้ให้กู้ต้องแบกรับ และอยู่บนพื้นฐานของความสามารถในการชำระคืนหนี้ของผู้ขอกู้
เช่นนั้นจะพอตีความได้หรือไม่ว่า การที่ SCB ขอขึ้นดอกเบี้ยกับ “เฮียตึ๋ง” นั่นหมายถึงการปล่อยกู้ครั้งนี้มีความเสี่ยงสำหรับแบงก์มากขึ้น…และความเสี่ยงที่ว่านั้น!!! คืออะไร???
แน่นอน เรื่องแบบนี้คงจะหาคำตอบกันได้ไม่ง่ายนัก และไม่แน่ว่า แท้จริงแล้วอาจไม่มีอะไรในกอไผ่ มากเกินไปกว่าที่ทาง “ไทยพาณิชย์” มีความจำเป็นเร่งด่วนบางประการ
ความจำเป็นที่อาจทำให้ต้องคิดดอกเบี้ยในระดับที่สอดคล้อง หรือเหมาะสมมากขึ้นกว่าหัสเดิม
นี่ก็สุดจะคาดเดาเหมือนกัน แต่ด้วยชื่อชั้นก็พอเชื่อได้บ้างว่า ระดับ “เฮียตึ๋ง” คงไม่มาเล่นเกมชักเข้าชักออก เพื่อดันราคาหุ้นเอาดื้อ ๆ ซะอย่างนั้น
อย่างไรก็ดี เมื่อคิดจากส่วนต่างราคาหุ้นที่เกิดขึ้นตามช่วงระยะเวลาข้างต้น ก็ต้องบอกว่าคงไม่มีใครน่าอิจฉาเท่ากับ “เฮียตึ๋ง” คนนี้อีกแล้ว
เพราะจากจำนวนหุ้น LH ที่มีอยู่ นั่นหมายถึงซือแป๋วงการอสังหาฯ ที่ชื่อ “อนันต์ อัศวโภคิน” รวยขึ้นมาอีกไม่เยอะ คิดเร็ว ๆ กลม ๆ ประมาณ “สามพันสี่ร้อยกว่าล้านบาท” เพียงเท่านั้น
…อิ อิ อิ…