เสี่ยอนันต์–SCB : เกิดอะไรขึ้น
“อนันต์ อัศวโภคิน” กับทีมผู้บริหารธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB มีความสนิทแนบแน่นกันมาก
ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร
“อนันต์ อัศวโภคิน” กับทีมผู้บริหารธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB มีความสนิทแนบแน่นกันมาก
นอกจากความสัมพันธ์แบบ “ส่วนตัว” แล้ว
รู้ไหม… ทีมงานหลาย ๆ คนที่เป็นผู้บริหาร หรือทำงานให้กับเสี่ยอนันต์นั้น ต่างเป็นอดีต “นายแบงก์” ที่ร่วมงานกับไทยพาณิชย์มายาวนาน
ความสัมพันธ์ที่คบค้ากันมานานมากขนาดนี้ จึงไม่น่าใช่เรื่องที่น่าจะยากเย็นอะไรเลยหากจะขอกู้ยืมเงิน
แต่แล้วทำไมเหตุการณ์เพื่อขอซื้อหุ้นคืนจึงล่มได้
ย้อนกลับไปดูข่าว เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 61
ในวันนั้น LH แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าเสี่ยอนันต์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ ต้องการขอซื้อหุ้นบางส่วน (Voluntary Partial Tender Offer) LH จำนวน 1,194,971,317 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 10% ของหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ LH
ส่วนราคาหุ้นอยู่ที่ 11.80 บาท
เมื่อทำการดีดลูกคิดออกมา
เท่ากับว่า เสี่ยอนันต์ จะต้องใช้เงินราว ๆ 14,100 ล้านบาท เพื่อซื้อหุ้น
LH แจ้งด้วยว่า เสี่ยอนันต์ได้ยื่นหนังสือยืนยันการสนับสนุนทางการเงินจากธนาคารไทยพาณิชย์มาด้วย
ไม่มีรายละเอียดว่า เงินกู้จากแบงก์ไทยพาณิชย์นั้น เสี่ยอนันต์ ขอกู้เป็นจำนวนเท่าไหร่
แต่เข้าใจว่า จำนวนเงินที่จะมาขอซื้อหุ้นนั้น น่าจะมาจากการขอสินเชื่อจากไทยพาณิชย์ทั้งหมด
ก่อนการเสนอซื้อหุ้น LH ครั้งนี้
เสี่ยอนันต์ ถือหุ้นใน LH จำนวน 2,860,000,047 หุ้น หรือคิดเป็น 23.93%
และหลังการทำคำเสนอซื้อหุ้นบางส่วน หากมีผู้ถือหุ้นตอบรับเต็มตามจำนวนที่เสนอซื้อ เสี่ยอนันต์ จะมีจำนวนหุ้นสามัญทั้งสิ้น 4,054,971,364 หุ้น หรือคิดเป็น 33.93%
ผ่านไปเกือบ 2 เดือน หลังจากมีข่าวนี้ออกมา
ราคาหุ้น LH ปรับเพิ่มขึ้นมา 11-12%
ทว่า จู่ ๆ ดีลดังกล่าวกลับล้มเลิกไป ด้วยเหตุผลว่า ไทยพาณิชย์ขอปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้
และทั้งผู้กู้ และผู้ให้กู้ตกลงกันไม่ได้
เรื่องทุกอย่างจึงยุติในที่สุด
ทำให้มีคำถามว่า เกิดอะไรขึ้น ขณะที่หลาย ๆ คนพุ่งเป้าไปที่เสี่ยอนันต์ว่า เล่นเกมอะไรหรือไม่
ปกติแล้ว เวลาขอสินเชื่อกับธนาคาร หรือสถาบันการเงิน
ผู้ขอสินเชื่อกับธนาคารจะตกลงเกี่ยวกับเงื่อนไขการกู้เงินเอาไว้แล้วทั้งหมด
รวมถึงได้มีการตรวจสอบเรื่องขอสินทรัพย์ หรือหลักประกันไว้แล้ว
การขอสินเชื่อของเสี่ยอนันต์ ในครั้งนี้ ไม่ได้มีการระบุว่า เขาใช้สินทรัพย์ใดมาวางค้ำประกัน
แต่การขอปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นของธนาคาร จากที่เคยตกลงกันเอาไว้แล้ว ส่วนใหญ่จะมาจากปัญหาไปพบ “ความเสี่ยง” (เพิ่ม) ของสินทรัพย์ที่ใช้เป็นหลักประกัน
หรืออาจไปพบสินทรัพย์ที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไข
ทางออกของนายแบงก์ ก็คือ เมื่อดูว่า “ไม่คุ้ม” (เสี่ยง)
ก็ต้องเรียกดอกเบี้ยขึ้น
ภาษาคนวงการธนาคารเขาเรียกกันว่า “ปรับไล่แขก”
หรือ หากยอมรับกับเงื่อนไขใหม่ของธนาคารก็มาขอกู้ได้
หรือ หากยอมรับไม่ได้ก็ให้ไปกู้เงินที่ธนาคาร หรือสถาบันการเงินอื่น ๆ
นี่คือหลักการทั่ว ๆ ไป
แต่ดีลของเสี่ยอนันต์ กับ ไทยพาณิชย์ นั้น ไม่แน่ใจว่า เป็นไปตามหลักการนี้หรือไม่
ขณะที่แหล่งข่าวของไทยพาณิชย์ ยืนยันกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ไม่ได้มาจากสินทรัพย์ที่ใช้เป็นหลักประกัน แต่มาจากนโยบายของธนาคารที่ปรับดอกเบี้ยขึ้นในสินเชื่อหลายประเภท
มีประเด็นที่น่าสนใจครับ
นั่นคือ หากเสี่ยอนันต์ ขอกู้เงินทั้งหมด 14,100 ล้านบาท
เงินมูลค่ามากขนาดนี้ หรือดีลสำคัญแบบนี้ ทางผู้บริหารไทยพาณิชย์จะต้องนำเสนอต่อที่ประชุมกรรมการ หรือ “บอร์ด” ของธนาคารตามกฎแน่นอน
รวมถึงการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการกู้เงินที่เสนอกลับไปยังเสี่ยอนันต์นั้น
ก็ต้องผ่านบอร์ดของธนาคารเช่นกัน
แล้วเกิดอะไรขึ้นกับความสัมพันธ์ระหว่างเสี่ยอนันต์กับไทยพาณิชย์