พาราสาวะถี

บอกแล้วว่าการจัดระเบียบสื่อของตำรวจสันติบาลนั้นมันไม่ใช่เรื่องที่คิดเองเออเองหรือกระทำโดยพลการ ท่าทีของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อการตอบคำถามนักข่าวเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาเป็นภาพสะท้อนบางสิ่งบางอย่างได้เป็นอย่างดี ปมโค้งคำนับก่อนและหลังถ่ายภาพท่านผู้นำบอกว่า “จะไม่คำนับเป็นเรื่องของสื่อ” ก่อนจะบอกว่าเป็นเรื่องของการให้เกียรติซึ่งกันและกัน


อรชุน

บอกแล้วว่าการจัดระเบียบสื่อของตำรวจสันติบาลนั้นมันไม่ใช่เรื่องที่คิดเองเออเองหรือกระทำโดยพลการ ท่าทีของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อการตอบคำถามนักข่าวเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาเป็นภาพสะท้อนบางสิ่งบางอย่างได้เป็นอย่างดี ปมโค้งคำนับก่อนและหลังถ่ายภาพท่านผู้นำบอกว่า “จะไม่คำนับเป็นเรื่องของสื่อ” ก่อนจะบอกว่าเป็นเรื่องของการให้เกียรติซึ่งกันและกัน

ความจริงมันก็เป็นเช่นนั้นอยู่แล้ว การให้เกียรติหรือการให้ความเคารพกันเป็นสิ่งที่ไม่สามารถออกเป็นระเบียบมาบังคับใช้กับใครคนใดคนหนึ่งหรือพวกใดพวกหนึ่งได้ สิ่งสำคัญการที่ไม่มีใครเลยแม้แต่คนเดียวไม่โค้งคำนับให้กับท่านผู้นำ ก็ไม่ได้หมายความว่า คนคนนั้นหรือเขาเหล่านั้น จะไม่ให้เกียรติหรือไม่เคารพแต่อย่างใด

ก็อย่างที่กระบอกเสียงของรัฐบาลอุตส่าห์อธิบายและอ้างเสียด้วยซ้ำว่าท่านผู้นำเป็นคนพูดเองเข้าใจสภาพการทำงานของสื่อมวลชน โดยเฉพาะช่างภาพที่อาจจะไม่สะดวกหรือถนัดที่จะโค้งคำนับระหว่างปฏิบัติหน้าที่ จึงได้ให้ทางตำรวจสันติบาลได้กลับไปทบทวนระเบียบ กติกาดังกล่าว แต่ท่านผู้นำแสดงท่าทีเช่นนี้ สงสัยโฆษกรัฐบาลคงต้องไปหาวิธีการมาสื่อสารกับสังคมและนักข่าวเสียใหม่

พอจะเข้าใจ คนที่ทั้งชีวิตเคยมีแต่ผู้คนมาพินอบพิเทาก้มหัวให้ ยอมให้สั่งซ้ายหันขวาหันได้ พอไม่ได้ดั่งใจย่อมเกิดอาการหงุดหงิดเป็นธรรมดา ไม่เพียงแต่จะมีประเด็นเรื่องจัดระเบียบสื่อเท่านั้น วันเดียวกันนักข่าวยังมาย้ำถามเรื่องบทความของจาการ์ตาโพสต์ ที่ต่อต้านการนั่งประธานอาเซียนของไทยเพราะมีผู้นำจากการรัฐประหาร

งานนี้บิ๊กตู่ไม่สบอารมณ์ พร้อมย้อนถามนักข่าวไทยการที่ประเทศไทยเป็นประธานการประชุมอาเซียนนั้นเป็นไปตามวงรอบ สื่อไม่อยากให้มีประชุมหรืออย่างไร จึงขออย่าขยายความ เรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไร เป็นแค่เพียงบางสื่อซึ่งต้องดูที่เจตนาเป็นหลัก สุดท้ายหนีไม่พ้นสื่อตกเป็นจำเลยอีกตามเคย น่าเสียดายที่คนมีอำนาจไม่ยอมเปลี่ยนทัศนคติมองข้อทักท้วงของสื่อในทางที่ดี ถ้ามีการปรับทัศนคติตัวเองและพวกเสียบ้างก็น่าจะดี

เช่นเดียวกับกรณีของสถานการณ์น้ำในเขื่อนแก่งกระจาน ซึ่งในส่วนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ชี้แจงเองว่าจะสร้างผลกระทบให้กับประชาชนชาวจังหวัดเพชรบุรี สื่อก็ทำหน้าที่รายงานข่าวตามปกติพร้อมมีการแจ้งเตือนประชาชนตามที่ผู้เกี่ยวข้องบอกกล่าวมา แต่ในมุมของท่านผู้นำกลับเห็นว่านี่เป็นการสร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนเกินเหตุ

ลักษณะเช่นนี้ไม่มีทางคิดหรือเห็นเป็นอย่างอื่นได้ นอกจากเป็นลักษณะของเผด็จการเต็มรูปแบบ ใครเห็นต่างไม่ได้ ต้องเชื่อผู้นำทำตามผู้นำเท่านั้นแล้วทุกอย่างจะดีเอง ด้วยแนวคิดเช่นนี้หรือเปล่าจึงทำให้เกิดความเคลื่อนไหวของสมาชิกสนช.กลุ่มหนึ่งพากันลงชื่อเพื่อที่จะขอแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกกต.ประเด็นเกี่ยวกับผู้ตรวจการเลือกตั้ง

เหตุผลของคนกลุ่มนี้คือ ผู้ตรวจการเลือกตั้งเป็นตำแหน่งที่สำคัญ การคัดเลือกควรเป็นไปด้วยความสุจริต เที่ยงธรรม ควรกำหนดให้มีคณะกรรมการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งที่มีองค์ประกอบหลากหลาย มีความเป็นอิสระ คำถามคือแล้วใครกันเป็นผู้พิจารณาผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ และวิธีการที่เลือกของกกต.ชุดปัจจุบันมันผิดปกติหรือไม่เป็นไปตามกติกาตรงไหน

พอเคลื่อนไหวกันอย่างนี้มีแค่ประเด็นเดียวคือ ไม่พอใจที่กกต.ชุดปัจจุบันดันไปเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งโดยไม่รอให้กกต.ชุดใหม่เข้ามาดำเนินการ ทั้ง ๆ ที่กฎหมายซึ่งสนช.ทั้งหลายยกมือสนับสนุนนั่นแหละระบุไว้ชัดเจนให้สามารถทำได้ อย่างที่ บุญส่ง น้อยโสภณ กกต.ยืนยัน ต้องเร่งคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งให้ทัน มิเช่นนั้นอาจจะมีปัญหาและกกต.ชุดนี้อาจถูกดำเนินคดีในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 ได้

ส่วนเหตุผลที่ต้องเร่งดำเนินการ เพราะผู้ตรวจการเลือกตั้งจะต้องทำงานทันที หลังพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.มีผลบังคับใช้ โดยคาดว่าอีกไม่นานร่างกฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ ขณะเดียวกันกกต.ชุดปัจจุบันก็ไม่ได้สุ่มสี่สุ่มห้าดำเนินการ เพราะจากคำชี้แจงคือมีการเตรียมกระบวนการดังกล่าวไว้ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมาแล้ว

เป็นการเตรียมการเพราะคาดว่าสนช.จะมีการเลือกกกต.ชุดใหม่และกกต.ชุดดังกล่าวจะเข้ามาพิจารณา แต่ปรากฏว่าที่ประชุมสนช.ก็คว่ำรายชื่อว่าที่กกต.ชุดนั้นไป ท่ามกลางเสียงวิจารณ์อื้ออึง นี่จึงเป็นอีกหนึ่งความรับผิดชอบที่สนช.เองจะอ้างว่าตัวเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ได้ สิ่งสำคัญอยากให้ฟัง พลเอกสมเจตน์ บุญถนอม สมาชิกสนช.ด้วยกันที่ออกมาทักท้วงพรรคพวกที่คิดจะแก้ไขกฎหมายดังกล่าว

โดยสมเจตน์เห็นว่าสนช.ที่เคลื่อนไหวต้องฟังเหตุผลของกกต.เท่าที่อธิบายมาก็มีเหตุมีผลอยู่ ดังนั้นสนช.และกกต.ต้องหารือกัน หากมีการแก้กฎหมายทั้งที่เพิ่งประกาศใช้ได้ไม่นานก็จะทำให้กฎหมายหมดความหมาย และยังไม่รู้ว่าเมื่อแก้ไขแล้วจะดีขึ้นหรือไม่ นี่เป็นการมองจากความเป็นจริงที่ปรากฏ และจะไม่ทำให้มีใครมองภาพของสนช.ที่เคลื่อนไหวว่ามีวาระซ่อนเร้นหรือมีอคติอะไรติดตัวกันหรือไม่

ถูกอย่างที่ “เสี่ยตือ” สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ออกมากระตุกกันแรง ๆ การจะออกกฎหมายควรคิดให้รอบคอบ เมื่อมีผลบังคับใช้แล้วเกิดปัญหาหรือมีอุปสรรคจึงมาแก้ไข ไม่ใช่กฎหมายออกมาแล้วยังไม่ทันได้ใช้ พอได้ผู้ตรวจการเลือกตั้งแล้วกลับไปมองที่ตัวบุคคลมากกว่าถือว่ามีความไม่สุจริตใจ ในการมองคนที่จะมาทำงาน คงไม่สามารถที่จะตรงตามความประสงค์ของสนช.หรือคนที่ต้องการให้แก้ไขกฎหมายนี้ได้

ในเมื่อเป็นผู้ที่ออกกฎหมายมาเองแล้วยังไม่ทันใช้แต่กลับมาแก้ไข เหมือนกับกำลังก้มลงไปดูดเอาน้ำลายที่ตัวเองถ่มลงไปบนพื้นจะไม่รู้สึกขยะแขยงตัวเองอย่างนั้นหรือ ถ้าฟังสมศักดิ์แล้วคิดว่าเป็นพวกมีอคติ ก็ลองฟังที่ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.บ้างก็ได้ “แล้วทำไมถึงจะไปยุ่งกับคนอื่นเขาเพราะนี่มันมือไม้ของกกต.” เวลาสนช.ตั้งคณะกรรมการหรือคณะกรรมาธิการก็ไม่ได้แปลว่าคนข้างนอกจะพอใจ อะไรที่เป็นอำนาจของคนอื่นก็ต้องฟังคนอื่น ชัดเสียยิ่งกว่าชัดไม่ต้องอธิบายอะไรต่อ

Back to top button