เอลนีโญ และ ลานีญาพลวัต2015

ปลายปีที่แล้ว หน่วยงานด้านอุตุนิยมวิทยาของญี่ผุ่น เป็นแห่งแรกที่ออกมาระบุว่า ปรากฏการณ์ เอลนีโญ (El Niño) ระดับเบา จะกลับมาเกิดในปีนี้ แต่ถึงวันนี้ หลายหน่วยงานอุตุนิยมประเทศต่างๆ เริ่มพากันบอกว่า ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะดูเหมือนจะเข้าข่ายรุนแรงมากเป็นสถิติใหม่อีกครั้ง


ปลายปีที่แล้ว หน่วยงานด้านอุตุนิยมวิทยาของญี่ผุ่น เป็นแห่งแรกที่ออกมาระบุว่า ปรากฏการณ์ เอลนีโญ (El Niño) ระดับเบา จะกลับมาเกิดในปีนี้ แต่ถึงวันนี้ หลายหน่วยงานอุตุนิยมประเทศต่างๆ เริ่มพากันบอกว่า ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะดูเหมือนจะเข้าข่ายรุนแรงมากเป็นสถิติใหม่อีกครั้ง

ดังที่ทราบกันดี ปรากฏการณ์ เอลนีโญ เป็นรูปแบบสภาพอากาศที่เกิดขึ้นตลอดมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อน โดยเกิดขึ้นเฉลี่ยทุกห้าปี ลักษณะสำคัญที่เกิดขึ้นคือ การเปลี่ยนแปลงในอุณหภูมิผิวน้ำทะเลของมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออก โดยอุ่นขึ้นหรือเย็นลงผิดปกติ ซึ่งเรียกว่า เอลนีโญและลานีญา ตามลำดับ และความดันบรรยากาศบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตกเขตร้อน ซึ่งเรียกทางวิทยาการว่าเป็นความผันแปรของระบบอากาศในซีกโลกใต้

เอลนีโญ ครั้งสุดท้ายก่อนนี้ เกิดในช่วงเวลาเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2552 จนถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2553 ผลกระทบของเอลนีโญ โดยหายนะสำคัญสุดเมื่อพายุหมุนเขตร้อนไอดา เพิ่มกำลังแรงขึ้นเป็นพายุชายฝั่งอันรุนแรงทำลายล้างชีวิตผู้คนในเขตแปซิฟิกไปค่อนข้างมาก

สิ่งที่น่ากลัวคือ หลังจากเกิดเอลนีโญแล้ว มักจะมีปรากฏการณ์ตรงกันข้ามตามมาที่รุนแรงไม่แพ้กันหรือมากกว่าคือ ลานีญา (La Nina) เป็นปรากฏการณ์ที่อุณหภูมิมหาสมุทรเย็นลงผิดปกติ ประกอบกับความดันบรรยากาศต่ำบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตก

ปรากฏการณ์ของสภาพอากาศเลวร้ายที่เกิดจากเอลนีโญ เช่น อุทกภัย ภัยแล้ง หรือการรบกวนสภาพอากาศ ที่ทำให้เกิดความเสียหายในการเกษตรและการประมง บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก ได้มีการศึกษาจริงจังมาประมาณ 30 ปีแล้ว แต่ยังไม่มีใครสามารถประเมินความเลวร้ายของปัญหาได้แม่นยำ รู้กันเพียงแค่ว่า พายุ อุทกภัย และความแห้งแล้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียตอนเหนือที่รุนแรงเป็นผลจากปรากฏการณ์ทั้งสอง

สาเหตุของความไม่แม่นยำ เกิดจากสถิติที่มีการศึกษาในช่วงเวลาที่ถือว่ายังสั้นมาก เพราะเริ่มมีการบันทึกปรากฏการณ์นี้ตั้งแต่ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980 หรือเมื่อ 40 ปีนี้เอง ทำให้รายละเอียดถึงความไม่สม่ำเสมอและขอบเขตของปรากฏการณ์แต่ละครั้งคลาดเคลื่อนได้ง่าย 

สิ่งที่ยังไม่มีใครให้คำตอบแน่ชัด (หากตัดทิ้งอคติออกไป) อยู่ที่ว่า เอลนีโญ หรือลานีญา เป็นต้นเหตุ หรือผลลัพธ์ของปัญหาโลกร้อน หรือเป็นสิ่งที่เกิดควบคู่กันไปจากการที่ธรรมชาติของโลกสูญเสียดุลยภาพกันแน่

เพียงแต่สิ่งที่แน่นอนคือ ปรากฏการณ์ทั้งสองอย่าง ไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่เป็นปัญหาทางสังคม และเศรษฐกิจที่โยงเข้ากับการบริหารจัดการรับมือล่วงหน้าอย่างลึกซึ้ง

ผลการศึกษาทางด้านผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์การเมือง ระบุว่า เอลนีโญ และลานีญา ล้วนมีส่วนทำให้ความเหลื่อมล้ำของมนุษย์ในสังคมที่เคยถูกซุกซ่อนอยู่ ถูกเปิดโปงอย่างชัดเจนจนยากจะปิดได้มิด ดังนั้น หากไม่รับมือ หรือจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ดี มักจะทำให้เกิดความขัดแย้งหรือการลุกฮือทางการเมืองตามมาด้วยเสมออย่างเลี่ยงไม่พ้น

ล่าสุดสหรัฐออกมายอมรับว่า ปีนี้จะมีผลต่อชายฝั่งแปซิฟิกของสหรัฐมากขึ้นกว่าปกติ เป็นข่าวดี แม้จะแทรกมาด้วยเรื่องร้ายคือ อากาศในสหรัฐฝั่งตะวันตกจะร้อนมากกว่าปกติ ที่อาจจะทำให้เกิดปรากฏการคลื่นความร้อนทำลายชีวิตผู้คนแบบในอินเดียได้ไม่ยาก

ทางด้านออสเตรเลียกลับพูดตรงกันข้ามสหรัฐ บอกว่าภัยแล้งกำลังมาเยือนออสเตรเลียในปีนี้ และน่ากลัวกว่าที่คาดเอาไว้หลายเท่า ต้องระวังเป็นพิเศษ

แม้หลายหน่วยงานรอบชายฝั่งแปซิฟิกจะเริ่มออกคำเตือนว่า เอลนีโญปีนี้จะเลวร้ายกว่าที่คาดคิด และไม่ใช่อย่างเบาๆ แน่นอน แต่สิ่งที่ไม่มีใครกล้าคาดเดาคือ ความเสียหายต่อผลผลิตเกษตรจะมากน้อยแค่ไหน และเกิดขึ้นในทางผลผลิตลดลงแรง หรือเพิ่มมากขึ้นล้นเกินความต้องการ

เว็บออนไลน์ชื่อ http://www.slate.com/ ได้เคยคาดเดาว่า เมืองต่างๆ ในเอเชียแปซิฟิกจะได้รับผลข้างเคียงหรือโดยตรงจากกรณีเอลนีโญในช่วงปีนี้ (ดังตารางประกอบ) โดย กทม.และภาคกลางของไทย จะมีความแห้งแล้งมากกว่าปกติ เพราะฝนจะลดลงจากการที่ความชื้นในอากาศลดลงอย่างมาก เหมือนกับหลายเมืองอื่นในภูมิภาค

ปรากฏการณ์เอลนีโญ และลานีญานี้ จะสัมผัสและรับรู้ได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาหมอดู หรือทฤษฎีโหราศาสตร์ใดๆ เพราะมันจะอยู่กับเราไปอีกนานตลอดปีนี้ หรือปีหน้าทีเดียว

…………………………………….

ตารางแสดงผลลัพธ์ที่คาดว่าจะเกิดจากเอลนีโญในเอเชียแปซิฟิก

 

เมือง

ผลลัพธ์

โตเกียว

มีโอกาสถูกโจมตีด้วยพายุไต้ฝุ่นรุนแรงกว่าปีอื่นๆ

ปักกิ่ง

ความแห้งแล้งจะรุนแรงมากกว่าปีปกติ ตลอดภาคเหนือของจีน แต่จะไม่เลวร้ายถึงขึ้นทำให้เกิดอดอยากอาหารรุนแรง

ฮ่องกง

จะเกิดฝนตกมากกว่าปกติ 2 เท่าตัว แต่ไต้ฝุ่นที่รุนแรงมากขึ้นในฮ่องกง จะช่วยให้ความรุนแรงลดลงในจีนตอนใต้

กทม.

ความแห้งแล้งของกทม.และประเทศไทย โดยเฉพาะภาคกลางของประเทศ จะเป็นสิ่งที่โดดเด่นในปีนี้

มะนิลา

ปีนี้ฝนจะตกน้อยกว่าปกติ โดยรัฐบาลฟิลิปปินส์ สั่งการให้เตรียมสำรองและใช้น้ำประหยัดน้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ

จาการ์ตา

ความแห้งแล้งจะรุนแรงอย่างมากในปีนี้ ทำให้เศรษฐกิจเสียหายหนัก ผลผลิตกาแฟ โกโก้ และน้ำมันปาล์มลดลง แต่จะมีพายุฝนน้อยลง

บอร์เนียว

จะเกิดไฟป่าที่รุนแรงมากบ่อยครั้ง ส่งผลให้เกิดหมอกควันแพร่กระจายไปยังชาติเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและสิงคโปร์สาหัส

ซิดนีย์

ความแห้งแล้งจะทำให้ผลผลิตข้าวสาลี และปศุสัตว์ลดลงไป ขณะที่ปัญหาไฟไหม้ป่าบ่อยครั้ง

 

Back to top button