วอลุ่มหายลูบคมตลาดทุน

มูลคาการซื้อขายวานนี้หดต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาทอีกครั้งแล้ว


ธนะชัย ณ นคร

 

มูลคาการซื้อขายวานนี้หดต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาทอีกครั้งแล้ว

ล่าสุดก่อนหน้านี้ หรือราวๆ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา มูลค่าการซื้อขายก็หดมาเหลือราวๆ 2.7 หมื่นล้านบาท

สถานการณ์แบบนี้ ชวนให้บรรยากาศมันดูเหงาซะจริงๆ

ผมคุยกับทั้งนักวิเคราะห์และนักลงทุน ส่วนใหญ่จะตอบตรงกันว่า เพราะมันไม่มีปัจจัยบวกใหม่ๆ เข้ามากระตุ้นเลย และในทางกลับกัน ก็มีข่าวลบเป็นช่วงๆ อีก

wait and see คือหนทางที่ดูจะปลอดภัยมากสุด

เข้าใจว่า ปัจจัยที่ใกล้เข้ามามากสุด น่าจะเป็นการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ที่จะนั่งถกกันในวันพุธที่ 10 มิ.ย.นี้ หรือพรุ่งนี้แล้ว ว่าดอกเบี้ยนโยบายจะลงอีกหรือเปล่า

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่าไม่น่าจะลง

มุมมองของผู้จัดการกองทุนก็มองว่าไม่น่าจะปรับลง เช่นเดียวกับบรรดาศูนย์วิจัยของธนาคารต่างๆ ฟันธงว่า กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% ต่อไป

ทว่าดูจากหุ้นกลุ่มธนาคารวานนี้ ค่อนข้างแกว่งพอสมควร

ปิดตลาดหุ้น 4 แบงก์ใหญ่ ทั้ง KBANK-SCB-BBL และ KTB ลงกันพร้อมหน้าพร้อมตาเลย

ราคาปิดตลาดแบบจะเป็นระดับต่ำสุดทุกตัว แม้นักวิเคราะห์จะแนะนำว่าเป็นช่วงเหมาะต่อการเก็บหุ้นในกลุ่มธนาคาร หลังวิเคราะห์กันว่าดอกเบี้ยจะไม่ลงอีกแล้ว

แต่ความเชื่อมั่นนักลงทุนมันหายไปแล้วครับ

กลัวว่า กนง.จะทำเซอร์ไพรส์อีก

ส่วนสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ จะสิ้นสุดไตรมาส 2 และราวๆ วันที่ 18-20 กลุ่มธนาคารจะแจ้งผลประกอบการไตรมาส 2 กันออกมา ก็ยังไม่รู้ว่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอล จะเพิ่มหรือไม่

หากเพิ่ม…ต้องมานั่งตั้งสำรองเผื่อฯ กันสนุกสนานอีก

หุ้นในกลุ่มธนาคารก็ยังคงถูกทิ้ง เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงไว้ก่อน แม้นักวิเคราะห์บางคนจะมองว่า เป็นช่วงโอกาสที่ดีของนักลงทุนระยะยาวที่จะเก็บหุ้นแบงก์

วานนี้ คุณวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย พูดถึงดัชนีความเชื่อมั่นของนักลงทุน

ตัวเลขที่ออกมา คือ อีก 3 เดือนข้างหน้าจะปรับตัวลดลงอยู่ที่ 88.16 ลดลง 14.17% เมื่อเทียบจากดัชนีในเดือนที่ผ่านมา ที่อยู่ที่ 102.72

ผลที่ออกมาถือว่าสอดคล้องกับที่ผมเขียนคอลัมน์ครั้งก่อนหน้านี้ครับ

นักลงทุนรายใหญ่ต่างปรับพอร์ต หันมาถือเงินสดมากขึ้น

นักลงทุนสถาบันเอง ก็ไม่ได้เข้าซื้อหุ้นเพิ่ม ส่วนบรรดา “กองทุนหุ้น” และ “ทริกเกอร์ ฟันด์” ที่เคยออกมาในช่วงที่ดัชนีปรับลงมามากๆ ซึ่งมาคราวนี้ไม่มีบรรยากาศแบบนั้น

ทุกคนต่างหนีไปลงทุนต่างประเทศ เช่น ทางเอเชียเหนือ และอินเดีย

ส่วนใหญ่จะเป็นประเทศที่มีศักยภาพ หรือการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงอยู่ เช่น อินเดีย ที่จีดีพีโตกว่า 7-8%

ขณะที่ของไทยเองนั้น ตัวเลขจีดีพียิ่งนับเดือน นับวัน ก็ค่อยๆ ถูกปรับลดลงๆ จากหน่วยงานและภาคเอกชนต่างๆ กระทั่งตัวเลขเฉลี่ยลงมาเหลือ 3%

ล่าสุดเห็นคุณสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และอดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ  โพสต์ผ่าน facebook ว่า รัฐบาลจีนจะไม่ร่วมลงทุนรถไฟทางคู่กับรัฐบาลไทยแล้ว

แต่จะขายของ เช่น ขบวนรถ อาณัติสัญญาณต่างๆ ฯลฯ รวมถึงเป็นแหล่งเงินกู้ (บางส่วน) ให้เท่านั้น

นั่นเท่ากับว่า รัฐบาลไทยจะต้องลงทุนเอง 100%

มีคำถามว่า แล้วจะนำเงินมาจากไหนล่ะ?

นักวิเคราะห์คนหนึ่งบอกว่า แม้โรดแม็พโครงสร้างพื้นฐานออกมาแล้ว แต่ยังมั่นใจไม่ได้ นั่นเพราะหากยังไม่เห็นการประมูล และการลงนามในสัญญาว่าจ้างก็อย่าเพิ่งฟันธงว่าจะเกิดขึ้นจริง

นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำให้ดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุนปรับลดลง นอกเหนือจากปัจจัยที่เป็นมหภาค

จากต้นปีผ่านมาเกือบ 6 เดือน  มีหุ้นไอพีโอ (รวมกองทุน) เข้าเทรดเพียง 12 ตัวทั้งใน SET และ mai

และหากบรรยากาศยังเป็นแบบนี้ ก็เชื่อว่าหุ้นไอพีโอที่จะเข้าเทรดในปีนี้ อาจจะต้องขอเลื่อนออกไป จนกว่าภาวะตลาดจะปรับตัวดีขึ้น

ก็ต้องไปลุ้นกันต่อในครึ่งปีหลัง

 

 

Back to top button