หุ้นฝรั่งซื้อ–สถาบันขาย
นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยมา 8 วันทำการติดต่อกัน
ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร
นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยมา 8 วันทำการติดต่อกัน
ดีดลูกคิดออกมาได้กว่า 1.18 หมื่นล้านบาท
ดูตามข้อมูลแบบนี้แล้ว ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ควรจะปรับ หรือวิ่งขึ้นไป
แต่ที่ไหนได้ กลับวนเวียนอยู่แถว ๆ 1,700 จุด และบางวันร่วงไปอยู่ต่ำกว่า 1,700 จุดซะอีก
ประเด็นของปัญหาก็มาจากการ “ปรับพอร์ต” ของนักลงทุนสถาบัน ซึ่งคาดกันไปว่าน่าจะเป็นกองทุนต่าง ๆ ที่ขายหุ้นกันออกมาสนุกสนานในช่วงหลายวันทำการ
การขายหุ้นของกองทุนนั้น ต่างพยายามหาเหตุผลแบบหา “เหตุ” ไปใส่ “ผล” ซะมากกว่า
เพราะบ้างก็ว่ามีกองทุนประเภท “ทริกเกอร์ฟันด์” ทำราคาได้ถึงเป้าหมาย
ก็เลยทำการขายออกมา
อีกเหตุผลหนึ่ง คือว่า กองทุนรีบชิงปรับพอร์ต ขายหุ้นทำกำไร หลังหุ้นตัวนั้น ๆ ประกาศผลการดำเนินงานออกมา
นัยสำคัญว่า เมื่อราคาร่วงลงมา ก็อาจจะเข้าไปเก็บใหม่อีกครั้ง
หรือบางกองทุนอาจจะปรับพอร์ต ด้วยการย้ายกลุ่มลงทุนใหม่ไปเลย เพราะหุ้นที่ถือแนวโน้มหรืออนาคตอาจจะไม่ค่อยสดใสมากนัก
หุ้นที่กองทุนกับต่างชาติ กลับมาซื้อ ๆ ขาย ๆ กัน ถามว่าอยู่ในกลุ่มไหน ตัวใดบ้าง
คำตอบคือ ก็อยู่ใน SET100 หรือจะให้แคบลงมาหน่อย ก็ SET50 นั่นแหละ
สถานการณ์แบบนี้ รายย่อยไม่ค่อยชอบนัก
เพราะตัดสินใจลงทุนลำบาก
หุ้นบางตัวพื้นฐานดี ราคาอาจยังพอมีอัพไซด์ แต่ถูกกองทุน “ทุบขาย” ออกมาซะก่อน
ผลลัพธ์ก็คือ หน้ามืดกันไป
ส่วนนักลงทุนต่างชาติ ก็ต้องไปหาข้อมูลกันว่า พวกเขาเข้าตัวไหนกันบ้าง
หากจะให้คาดเดากัน ไม่พ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เช่น KBANK และ BBL ที่ยังคงอยู่ในความนิยมของกองทุนต่างประเทศ
ยิ่งวันไหน หากราคาปรับลง ต่างชาติก็สบโอกาสควักเงินเข้าซื้อทันที
ยิ่ง BBL เรื่องการสำรองหนี้มีการ “ตั้งการ์ด” ไว้แน่นเปรี๊ยะ คุณภาพของสินทรัพย์ถือว่าดี ไม่มีมาปล่อยสินเชื่อแบบซี้ซั้วหรือประเภทคุณขอมา อะไรแบบนั้นมากนัก
หรือหุ้นขนาดใหญ่ตัวแม่ หัวหน้าแก๊งพี่ ป. คือ PTT ต่างชาติก็สะสมเข้าพอร์ตกันสนุกมือ
โดยเฉพาะช่วงราคาหุ้นร่วงไปเหลือ 47-48 บาท มีแรงซื้อเข้ามาค่อนข้างมาก
สังเกตได้จากตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค.เป็นต้นมา แรงซื้อต่างชาติมากกว่า 1 พันล้านบาท
และหลังจากนั้นก็จะซื้อมากกว่าขายมาเรื่อย ๆ
คุยกับนักวิเคราะห์ดู เขาก็บอกว่า ต่างชาติน่าจะมีการประเมินราคาน้ำมันดิบมีโอกาสปรับสูงขึ้นไปได้อีก
ยิ่งเมื่อวานนี้เหมือนจะได้เห็นการรายงานข่าวจากต่างประเทศ ที่คาดกันว่า ราคาน้ำมันดิบก่อนสิ้นปีนี้มีโอกาที่จะขึ้นไปถึง 90 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ก็ยิ่งเป็นปัจจัยหนุนราคาหุ้น PTT
MINT ก็เป็นหุ้นอีกตัวที่ต่างชาติเริ่มกลับมาทยอยสะสมเช่นกัน
สาเหตุไม่มีอะไรมาก เพราะหุ้นพื้นฐานดีอยู่แล้ว เพียงแต่ราคาหุ้นในช่วง ก.ค. ลงไปเกือบจะแตะ 30 บาท ต่ำสุดในรอบ 2 ปี
หุ้นมาร์เก็ตแคปใหญ่อีกตัวที่ต่างชาติย่องซื้อคือ AOT
AOT ช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาออกอาการลูกผีลูกคน คือราคาจะร่วงหลุด 60 บาท
แต่ก็ได้ต่างชาติที่หันมาเก็บเข้าพอร์ต ทำให้ราคาฟื้นขึ้นมาได้
สวนทางกับกองทุนที่มีการขายหุ้น AOT กันออกมา ซึ่งน่าจะเป็นการขายทำกำไรตามปกติ
CPALL เป็นหุ้นอีกบริษัทที่แกว่งไกวไปมาในกรอบ 71.00–76.00 บาท จากการขายของกองทุน และการเข้าซื้อของนักลงทุนต่างชาติ (แต่วานนี้กองทุนน่าจะกลับเข้ามาซื้อ)
อย่างเมื่อวันก่อนหน้านี้ราคาเกือบจะหลุด 71.00 บาท และเป็นแนวรับสำคัญ
ทว่ายังดีนะที่ต่างชาติเข้ามารับซื้อไว้
ส่วนมุมมองหุ้นของนักลงทุนทั้งสองกลุ่มนี้ ซึ่งแน่นอนล่ะ แตกต่างกัน
ไม่อย่างนั้นจะมาชักเย่อกันอยู่แบบนี้จนรายย่อยปวดหัว ไม่รู้ว่าวันนี้ราคาหุ้น CPALL จะเคลื่อนไหวไปอย่างไรกันแน่ เพราะหากดูสัญญาณทางเทคนิคนั้นเป็น sideway down
แต่สัญญาณทางเทคนิคก็ไม่แน่เสมอไป เพราะหากมีข่าวเข้ามากระแทกกระทั้น มันมีโอกาส “วิ่งขึ้น” และ “ร่วงลง” ได้
หุ้นขึ้นจะลง ก็ขึ้นอยู่กับการเคาะขวาของนักลงทุนแต่ละคน แต่ละกลุ่ม
พลิกไปพลิกมาได้ตลอดเวลา
จริง ๆ แล้วนักลงทุนสถาบันอีกกลุ่มที่ไม่ควรมองข้ามเกี่ยวกับการเทรดหุ้น คือ ธุรกิจประกัน
คาดกันว่าเม็ดเงินลงทุนธุรกิจประกัน (ประกันชีวิต–วินาศภัย) น่าจะอยู่ราว ๆ 4.5-5.0 ล้านล้านบาท
แน่นอนว่าส่วนใหญ่จะเป็นเงินมาจากฝั่งธุรกิจประกันชีวิต และจะเป็นการลงทุนประเภท Fixed Income หรือตราสารหนี้ประเภทต่าง ๆ
สัดส่วนการลงทุนในหุ้นน่าจะราว ๆ 20% ของเงินลงทุนทั้งหมด
ประกันชีวิตส่วนใหญ่ลงทุนระยะยาว แต่หากปรับพอร์ตขึ้นมาก็มีสั่นสะเทือนได้เช่นกัน
เช่นเดียวกับบริษัทประกันวินาศภัย หากไปเจอเคลมสินไหมรายใหญ่ ๆ ก็อาจจะขายหุ้นออกมาบ้าง เพื่อรักษาสภาพคล่องและอัตรากำไรไว้