พาราสาวะถี
ขึ้นชื่อว่านักการเมืองย่อมมีใจเปิดกว้างที่พร้อมจะรับฟังความเห็นของทุกคนทุกฝ่าย แต่ที่กลายเป็นที่จับตาของสังคมคือ การวิพากษ์วิจารณ์การก้าวไปรับตำแหน่งหัวหน้าพรรครวมพลังประชาชาติไทยหรือรปช.ของ “หม่อมเต่า” หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล ของผู้ที่เป็นลูกนามว่า “หม่อมเต่านา” หม่อมหลวงมิ่งมงคล โสณกุล แน่นอนว่าพ่อลูกคู่นี้มีจุดยืนทางการเมืองที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง
อรชุน
ขึ้นชื่อว่านักการเมืองย่อมมีใจเปิดกว้างที่พร้อมจะรับฟังความเห็นของทุกคนทุกฝ่าย แต่ที่กลายเป็นที่จับตาของสังคมคือ การวิพากษ์วิจารณ์การก้าวไปรับตำแหน่งหัวหน้าพรรครวมพลังประชาชาติไทยหรือรปช.ของ “หม่อมเต่า” หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล ของผู้ที่เป็นลูกนามว่า “หม่อมเต่านา” หม่อมหลวงมิ่งมงคล โสณกุล แน่นอนว่าพ่อลูกคู่นี้มีจุดยืนทางการเมืองที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง
คนหนึ่งคือพวกม็อบนกหวีดเกลียดระบอบทักษิณ อีกคนถือหางเชียร์ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อย่างเปิดเผย ดังนั้นจึงไม่แปลกที่หม่อมเต่านาจะโพสต์ข้อความหลังการรับตำแหน่งหัวหน้าพรรครปช.ของพ่อตัวเองว่า “โดยส่วนตัวแล้วเราเชื่อว่าคนที่เลือกที่จะร่วมงานกับคนที่พิสูจน์ตัวเองมาอย่างนับไม่ถ้วนว่าเป็นคนไม่มีสัจจะ คนคนนั้นก็เป็นคนที่เราจะไม่มีทางให้ความไว้ใจและเชื่อในสัจจะของเขาเช่นกันค่ะ ไม่ว่าเขาจะเป็นใครก็ตาม”
ก่อนที่จะตอกย้ำอีกครั้ง “ด้วยความเคารพเราว่าเราก็แสดงจุดยืนค่อนข้างชัดมากแล้ว แต่ก็ไม่เป็นไรบอกอีกทีก็ได้ค่ะ ว่าเราม.ล.มิ่งมงคล โสณกุล ไม่สนับสนุนพรรครปช.ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในทุกรูปแบบไม่ว่าหัวหน้าพรรคจะเป็นใครและเราจะไม่ไปเลือกตั้งด้วยค่ะ” เป็นการแสดงจุดยืนที่ชัดเจนทั้งต่อตัวบุคคลและรวมไปถึงแนวทางต่อกระบวนการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น
แต่ก็ไม่วายที่ท่าทีของหม่อมเต่านาจะไปสะดุดตาและสร้างความไม่พอใจให้กับติ่งของเทพเทือกและแนวร่วมขบวนการม็อบกปปส.คนสำคัญอย่าง “ดี้” นิติพงษ์ ห่อนาค ถึงกับออกมาโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวต่อว่าว่าอย่าสั่งสอนพ่อโชว์ผ่านสาธารณะมันไม่ใช่วิถีคนไทย ซึ่งก็ไม่รู้ว่านี่เป็นความใจแคบของพวกที่อ้างว่าตัวเองเป็นพวกคนดีหรือเปล่า
ความจริงขนาดพ่อลูกเขายังไม่มีปฏิกิริยาหรือตอบโต้กันออกมา ซึ่งก็น่าชื่นชมความเป็นประชาธิปไตยในหัวใจของหม่อมเต่าหรืออาจจะด้วยความเข้าใจในความเป็นลูกหรืออย่างไรก็สุดแท้แต่ แต่คนนอกกลับดันไปเผือกและอ้างวิถีไทยหรืออะไรก็สุดแท้แต่ที่จะสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเอง ทั้ง ๆ ที่ก็ออกมายอมรับแล้วว่า ตัวเองเป็นคนไม่มีหลักการหรืออุดมการณ์ใด ๆ หลังจากที่ รังสิมันต์ โรม แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้งชวนพี่ดี้ไปร่วมจิบกาแฟแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน
พอเห็นท่วงทำนองของคนแบบนี้ เลยทำให้นึกถึงคำพูดของ ศาสตราจารย์ด็อกเตอร์อีริก คูฮอนต้า จากมหาวิทยาลัยแม็กกิลล์ บนเวทีเสวนาที่จัดโดยภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับ ศูนย์วิจัยดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในหัวข้อ “Middle Classes in Southeast Asia : Hegemony and Illiberalism” เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา
โดยคูฮอนต้าพูดถึงแนวคิดของนักรัฐศาสตร์สมัยใหม่ ที่มีการสร้างทฤษฎีการก้าวเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ หรือ Modenization Theory ที่อธิบายว่า การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจจะนำไปสู่การก่อตัวของชนชั้นกลางที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งคนกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะมีแนวคิดแบบเสรีนิยม มีความอดกลั้นทางการเมือง และต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง ชนชั้นกลางจึงเป็นกำลังสำคัญในการท้าทายอำนาจเผด็จการและเรียกร้องประชาธิปไตยภายในประเทศ
แต่วิธีคิดดังกล่าวมองข้ามปัจจัยด้านอุดมการณ์ ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการประกอบสร้างพฤติกรรมทางการเมืองของชนชั้นกลาง ข้อเสนอของเขาคือชนชั้นกลางสามารถถูก “กล่อมเกลา” ให้เชื่อและยอมรับอุดมการณ์แบบอนุรักษนิยมและกลายเป็นผู้สนับสนุนระบอบอำนาจนิยมภายในประเทศ และเมื่ออุดมการณ์ดังกล่าวครอบงำสังคมได้ในระดับที่ไม่มีอุดมการณ์อื่นท้าทายได้ อุดมการณ์ดังกล่าวก็จะกลายเป็นอำนาจนำในท้ายที่สุด
จริงอยู่ที่อุดมการณ์ไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อระบอบการเมืองภายในประเทศ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นเดียวกันว่าอุดมการณ์มีผลอย่างยิ่งต่อการกำหนดพฤติกรรมทางการเมืองของคนในสังคม โดยในกรณีของประเทศไทย อุดมการณ์ที่มีผลต่อการประกอบสร้างพฤติกรรมทางการเมืองของชนชั้นกลางไทยคือแนวคิดเรื่อง “ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ” ที่ถูกสถาปนาขึ้นโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และแนวคิดเรื่อง “คนดี”
อุดมการณ์การเมืองแบบไทย ๆ และคนดี ปรากฏตัวออกมาอย่างชัดเจนผ่านวิกฤติการเมืองไทยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอเรื่องส.ว.แต่งตั้งของระบอบสนธิ-จำลอง การเรียกร้องอย่างชัดเจนให้ทหารเข้าแทรกแซงการเมืองของขบวนการกปปส. จวบจนมาถึงรัฐบาลคสช. ที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่ากำลังเดินตามแนวคิดประชาธิปไตยแบบไทย ๆ ของจอมพลสฤษดิ์ ผ่านการร่างรัฐธรรมนูญที่เน้นการสร้างเสถียรภาพทางการเมืองภายใต้การนำของกองทัพมากกว่าการมีส่วนร่วมของประชาชน
ดังนั้น บทสรุปของคูฮอนต้าจึงมองว่า ชนชั้นกลางไม่เป็นผู้สนับสนุนประชาธิปไตยเสมอไป ชนชั้นกลางสามารถสลับไปมาระหว่างฝ่ายต่อต้านและสนับสนุนประชาธิปไตยได้ตลอดเวลา เพราะชนชั้นเหล่านี้มีโอกาสถึงการศึกษามากกว่าชนชั้นล่าง จึงถูกสถาบันทางสังคมกล่อมเกลาให้เชื่อในอุดมการณ์ของรัฐได้ง่ายกว่าชนชั้นล่าง
สิ่งที่น่าสนใจคือ ความย้อนแย้งของเรื่องนี้ยิ่งชนชั้นกลางมีการศึกษามากเท่าไหร่ พวกเขาก็ยิ่งถูกขัดเกลาให้มีแนวคิดตามอุดมการณ์ของรัฐได้มากขึ้นเท่านั้น แต่ไม่ใช่กับชนชั้นแรงงาน ชนชั้นแรงงานมีแนวโน้มที่จะท้าทายระบอบการเมืองอย่างต่อเนื่องมากกว่าชนชั้นกลางอย่างชัดเจน พฤติกรรมของนักแต่งเพลงคนดังกล่าวน่าจะเข้าข่ายทฤษฎีดังว่านี้
เมื่อประเมินการวิเคราะห์ของนักวิชาการต่างชาติรายนี้ บวกกับสิ่งที่นักวิชาการไทยหลายรายวิจารณ์กันก่อนหน้า คงมองเห็นกันแล้วว่า การเมืองไทยภายใต้การบัญชาการเกมของคณะเผด็จการคสช. ก็จะอยู่ภายใต้อุดมการณ์ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ และคนดีนี่แหละ ส่วนจะดีแบบไหน ประชาธิปไตยอย่างไรก็ไม่ต้องไปสนใจเพราะพวกฉันต้องการให้มันเป็นแบบนี้ ใครจะมีอะไรไหม