ไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ ฟันด์ เพื่อใคร
อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรออมทรัพย์กระทรวงการคลังปัจจุบัน รุ่นอายุ 5 ปี อยู่ที่ 2.1% ส่วนพันธบัตรรุ่นอายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 3.0% เท่านั้น
ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์
อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรออมทรัพย์กระทรวงการคลังปัจจุบัน รุ่นอายุ 5 ปี อยู่ที่ 2.1% ส่วนพันธบัตรรุ่นอายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 3.0% เท่านั้น
แต่ผลตอบแทนการลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย(ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์หรือ TPP) ซึ่งจะเปิดขายในวันที่ 1 ก.ย.ศกนี้ คาดว่าจะให้ผลตอบแทนสูงถึง 7-8% ต่อปี
อะร้าอร่ามยิ่งเสียกว่ากองทุนรวมวายุภักษ์ซึ่งให้ผลตอบแทนในราวปีละ 6% เสียอีก
ยิ่งถ้าเทียบกับตราสารหนี้หุ้นกู้ของบริษัทเอกชนอย่างแสนศิริ ซึ่งได้รับเครดิตจากทริสเรทติ้งในระดับ BBB+ ออกหุ้นกู้อายุ 3 ปี ยังให้ผลตอบแทนแค่ 3.2% เท่านั้น
แต่ไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ ฟันด์ ใจป้ำเหลือหลายจะให้ผลตอบแทนผู้ถือหน่วยลงทุนถึง 7-8%
ทั้งนี้ ก็จากคำให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเองของคุณอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า ที่ปรึกษาการลงทุนที่กระทรวงการคลังว่าจ้าง ประเมินผลตอบแทนไว้ในระดับดังกล่าว เพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับผลตอบแทนที่ดีที่สุด
ปัญหาสำคัญอยู่ที่ว่า “ผู้ลงทุน”ที่จะรับผลตอบแทนที่ดีที่สุดนั้นเป็นใคร? เป็นประชาชน รายย่อย นิติบุคคลทั่วไป กองทุนรวมของเอกชน หรือสถาบันการเงิน
ขนาดกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยหรือ EGATIF ที่ออกไปก่อนหน้านี้ ก็ยังมีผลตอบแทนผู้ถือหน่วยเพียง 5% ต่อปีเท่านั้นเอง
การกระจายผลประโยชน์ที่สูงเกินจริงไปให้ใครนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก
ถ้าผลประโยชน์ไปตกอยู่แก่สถาบันการเงิน เหมือนเช่นคราวกองทุนรวมวายุภักษ์ 1 แสนล้านบาท ที่ประชาชนรายย่อยจองซื้อน้อย หน่วยลงทุนที่เหลือจึงถูกโละขายไปให้ธนาคารพาณิชย์ รับประโยชน์จากการฟันกำไรกันบานฉ่ำมาถึงบัดนี้
หากปล่อยให้ TPP เป็นแบบเดียวกับกองทุนรวมวายุภักษ์ ที่ประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไร ก็ยิ่งจะน่าเสียดายยิ่งกว่า เพราะผลตอบแทนที่จุใจเหนือกว่ากองทุนใด
ครั้งนี้ ไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ ฟันด์ มีเป้าหมายระดมทุนทั้งสิ้น 4.5 หมื่นล้านบาท เพื่อนำไปให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยหรือกทพ.นำไปใช้ในการก่อสร้างทางพิเศษ 2 เส้นทาง
นั่นคือเส้นทางพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกทม.ด้านตะวันตก วงเงินลงทุน 3.04 หมื่นล้านบาท และโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอน N2 และ E-W คอร์ริดอร์ด้านตะวันออก วงเงินลงทุน 1.43 หมื่นล้านบาท
ส่วนทรัพย์สินที่จะนำไปเข้ากองทุนฯเพื่อนำรายได้และดอกผลมาปันแก่ผู้ถือหน่วยลงทุน ก็ได้แก่เส้นทางด่วนบูรพาวิถี(ยกระดับบางนา-ชลบุรี) และทางด่วนฉลองรัฐ(รามอินทรา-อาจณรงค์)
รัฐบาลชี้แจงวัตถุประสงค์หลักของการจัดตั้ง TPP ก็เพื่อการลดภาระเงินกู้ของรัฐบาล และสร้างทางเลือกใหม่ในการออมของประชาชน
แต่สิ่งที่รัฐบาลเลี่ยงไม่ตอบคำถามจี้ใจตลอดมาก็คือ ภาระต้นทุนทางการเงินที่สูงกว่าการออกพันธบัตรหรือบอนด์รัฐวิสาหกิจเป็นอันมาก
หรือแม้แต่ต้นทุนหุ้นกู้ภาคเอกชนก็ยังต่ำกว่า
ลองคิดเปรียบเทียบดูระหว่าง ต้นทุนการเงินจากวงเงินลงทุน 4.5 หมื่นล้านบาท ระหว่างการออกกองทุนกับออกบอนด์ จะมีตัวเลขที่ห่างกันอย่างเห็นได้ชัด
หากออกเป็นบอนด์ อัตราดอกเบี้ยในระดับ 3% กทพ.จะจ่ายดอกเบี้ยเพียง 1,350 ล้านบาทเท่านั้น แต่หากออกเป็นกองทุนไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ ฟันด์ จะต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงถึงระหว่าง 2,450-3,600 ล้านบาท
ตัวเลขมันห่างกันราวฟ้ากับเหว
นี่แหละคือตัวเลขที่สหภาพแรงงานกทพ.จี้ถามรัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องมาตลอด แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบ เหตุผลจริงมันเป็นอะไรกันแน่
ระหว่างการหลีกเลี่ยงการลงบันทึกเป็น “หนี้สาธารณะ” เพื่อไม่ให้เกินเพดานการก่อหนี้ กับการหาทางเลือกใหม่ให้ประชาชนในการออม มันเป็นอะไรกันแน่
ถ้าเป็นอย่างแรก มันก็จะเป็นขยะสั่งสมภายในกัดกร่อนฐานะการเงินการคลังของประเทศไปในระยะยาว แต่ถ้าเป็นอย่างหลัง คือเป็นทางเลือกใหม่การออมของประชาชนจริง ๆ
เงินนั้นก็ควรเอาไปให้ประชาชน อย่าเอาไปประเคนให้ธนาคารพาณิชย์เหมือนเช่นในอดีตที่ผ่านมา