พาราสาวะถี

ทำหน้าที่ “นายหน้า” ได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่องสำหรับ ภิรมย์ พลวิเศษ เลขากลุ่มสามมิตร ที่ล่าสุดออกมาท้าชนกับพรรคเพื่อไทยให้แข่งกันทำความดีและคลอดนโยบายให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินพร้อมส่งสารไปยัง ทักษิณ ชินวัตร อย่าตื่นเต้นกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มตัวเองและถ้ามั่นใจว่าประชาชนจะเลือกก็ไม่ต้องหวั่นไหวเรื่องจะมีส.ส.ย้ายออกจากพรรคนายใหญ่ 200-300 คน


อรชุน

ทำหน้าที่ “นายหน้า” ได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่องสำหรับ ภิรมย์ พลวิเศษ เลขากลุ่มสามมิตร ที่ล่าสุดออกมาท้าชนกับพรรคเพื่อไทยให้แข่งกันทำความดีและคลอดนโยบายให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินพร้อมส่งสารไปยัง ทักษิณ ชินวัตร อย่าตื่นเต้นกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มตัวเองและถ้ามั่นใจว่าประชาชนจะเลือกก็ไม่ต้องหวั่นไหวเรื่องจะมีส.ส.ย้ายออกจากพรรคนายใหญ่ 200-300 คน

ได้ยินแล้วได้แค่หัวร่อกับการเป็นจำอวดของคนดังว่า อย่างที่รู้กันดีตัวเลขที่พ่นออกมาจากปาก ไม่มีอะไรมากเป็นภาษาของนายหน้าที่ต้องสร้างความมั่นใจให้กับเจ้าของทุนที่จะมาลงผ่านพรรคพลังประชารัฐ โดยใช้กลุ่มดังกล่าวเป็นตัวเดินเกม ตอนนี้ผลงานการดูดไม่มีอะไรโดดเด่น หากปล่อยให้เงียบเฉยความน่าเชื่อถือก็จะถูกบั่นทอนลงไปเรื่อย ๆ ลองไปถามกันตรง ๆ ดูว่าน้ำเลี้ยงที่เคยคุยกันไว้นั้นวันนี้ไหลลื่นหรือมากันแบบกะปริบกะปรอย

ยิ่งการอ้าปากพูดถึงความดีคงต้องมีใครสักคนของกลุ่มสามมิตรไปสะกิดเตือนเลขาเสียหน่อยอย่าเมาน้ำลาย เพราะหากมีบางคนบางพวกไปหยิบเอาแผลที่ติดตัวมาของแกนนำกลุ่มแต่ละรายขยายผลมันยิ่งจะเป็นการทำลายเครดิตของกลุ่มตัวเองไปเสียฉิบ ส่วนเรื่องนโยบายก็ไม่ต้องไปท้าแข่งกับเจ้าโปรเจกต์ ถ้ามีของดีจริงก็ให้รีบขายมาเสียแต่เนิ่น ๆ ไม่ต้องกลัวว่าใครจะไปลอก กลัวแต่ว่าเปิดมาแล้วจะถูกบอกว่าไปลอกใครเขามาหรือเปล่าเสียด้วยซ้ำ

สุดท้ายคือไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นแค่ทำให้ตัวเองเป็นข่าวและสร้างราคาให้กลุ่มตามหน้าที่ของคนชื่อภิรมย์เท่านั้นเอง ไม่ต่างอะไรกับการที่ ปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษา พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ออกมาพูดถึงทักษิณในทำนองว่าไม่ทราบมีความแค้นอะไรอยู่หรือไม่ ขณะนี้ปัจจัยในการบริหารประเทศมีมาก ความต้องการของประชาชนก็มากขึ้นเช่นกัน ซึ่งถือว่าเปลี่ยนไปจากหลายปีก่อนมาก

ดังนั้น การที่มีคนคาดหวังกับทักษิณอาจเป็นเรื่องปกติ แต่กลไกเลือกตั้งเปลี่ยนไปแล้วซึ่งโครงสร้างใหม่ซับซ้อนพอสมควร สิ่งที่ปณิธานสะท้อนนั้นเป็นความจริง ซึ่งไม่ต้องแปลความอะไรให้มากสื่อสารกันอย่างตรงไปตรงมา ต่อให้เพื่อไทยจะมีฐานเสียงแข็งแกร่งขนาดไหน ก็ไม่มีทางที่จะกลับมาเป็นรัฐบาลได้ เพราะกลไกของคณะเผด็จการที่วางไว้ผ่านข้อกฎหมายต่าง ๆ นั้นมันคือกับดักระบอบทักษิณอย่างดีนั่นเอง

ขณะเดียวกัน การลากยาวไม่ให้พรรคการเมืองต่าง ๆ ได้ดำเนินกิจกรรมใด ๆ ด้วยข้ออ้างเพื่อความมั่นคงนั้น ปณิธานก็อธิบายว่าเป็นความต้องการทำให้การเมืองปลอดภัย จนเกิดเป็นคำถามว่าปลอดภัยในความหมายของส่วนรวมหรือปลอดภัยสำหรับผู้มีอำนาจและคณะกันแน่ เพราะอย่างที่ย้ำมาตลอดในยุคอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอย่างนี้มีอะไรที่จะต้องเป็นห่วงอีกหรือ นอกจากห่วงเก้าอี้ที่ตัวเองจะสืบทอดอำนาจ

จะว่าไปสำหรับปณิธานน่าเสียดายในความเป็นนักวิชาการโดยเฉพาะด้านการทหารที่เคยเฉียบคมในมุมวิเคราะห์ แต่พอกระโดดเข้าสู่สนามการเมืองนับตั้งแต่รัฐบาลเทพประทานแล้ว หลักการและเหตุผลที่เคยมีนั้นมันถูกมนตราแห่งอำนาจบดบังไปเสียหมด ทุกอย่างที่พูดออกมาจึงเป็นเพียงแค่การปกป้องคนที่ให้ตำแหน่ง สร้างความชอบธรรมให้กับอำนาจที่ร่วมครอบครอง ไม่ว่าจะได้มาด้วยวิธีการใดก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ยังมีนักวิชาการด้านความมั่นคงและการทหารอีกรายที่คงยึดมั่นในอุดมการณ์แห่งวิชาชีพ จนวันนี้ได้รับรางวัลอาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ สาขาสังคมศาสตร์ ที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย นั่นก็คือ สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะและสถาบันเดียวกับปณิธานนั่นเอง

แต่มุมมองต่อสถานการณ์ทางการเมืองและการทหารต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะต่อการรัฐประหาร ที่สุรชาติยอมรับว่า ทำงานกับทหารมานาน แต่ไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจ เพราะเชื่อว่าการรัฐประหารเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดและเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการทำลายขีดความสามารถของกองทัพ พร้อม ๆ กับข้อเรียกร้องในเรื่องการปฏิรูปกองทัพ

โดยรูปแบบของกองทัพที่ต้องเป็นคือ ถึงเวลาที่ทหารต้องถอยออกจากการเมือง แต่ไม่ได้บอกว่าทหารจะต้องหมดบทบาททั้งหมด เพราะคงไม่ง่ายโดยประวัติศาสตร์การเมืองไทย และโดยสภาวะที่เป็นจริง แต่คำว่าถอยคือการรัฐประหารต้องจบแล้ว ตนไม่กล้าเรียกร้องว่ารัฐประหาร 2557 จะเป็นครั้งสุดท้าย เพราะเคยผ่านยุคที่ทุกคนเชื่อว่ารัฐประหารจะเป็นครั้งสุดท้ายมาแล้ว

ถึงเวลาที่ทหารไทยต้องเป็นทหารอาชีพ เลิกเป็นทหารธุรกิจและทหารทั้งหลายทั้งปวงที่เราเห็นในภาพลบ กองทัพจะต้องยอมรับเรื่องของความเป็นนิติรัฐและยอมรับเรื่องสิทธิมนุษยชน และทหารต้องเลิกคิดว่าตัวเองเป็นรัฐ คือคิดว่าอะไรก็ตามที่เป็นผลประโยชน์ของทหารคือผลประโยชน์ของชาติ และผลประโยชน์ของชาติคือผลประโยชน์ของทหาร

ถ้าคิดอย่างนี้รัฐประหารก็จะเกิดได้อีกตลอดชีวิต เพราะอะไรที่กระทบต่อผลประโยชน์ทหาร จะถูกนิยามทันทีว่ากระทบต่อผลประโยชน์แห่งชาติ และต้องยอมรับว่ากองทัพเป็นกลไกรัฐ ไม่ใช่รัฐ อย่างไรก็ตาม เรื่องการรัฐประหารอาจจะไม่เกิดอีก ก็อย่างที่สุรชาติบอกเอง เพราะเผด็จการคสช.วางยุทธศาสตร์ไว้ยาว 20 ปี นั่นหมายความว่า คสช.จะอยู่กับการเมืองไทยไปอีก 20 ปีโดยไม่ต้องลงเลือกตั้ง พรรคทหารที่พูดกันว่าจะสืบทอดอำนาจ ของจริงคือสืบทอดอำนาจแล้วผ่านยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ความต่างที่เห็นได้เด่นชัดของนักวิชาการที่ยืนบนหลักการกับนักวิชาการที่รับใช้อำนาจทางการเมือง เห็นได้ชัดเจนจากความเห็นของสุรชาติที่เรียกร้องให้ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ถ้าประเทศไทยต้องทำยุทธศาสตร์ต้องทำในความหมายของแผนและนโยบาย สามารถปรับได้ และไม่ให้เป็นข้อกฎหมาย ซึ่งแบบที่รัฐบาลทหารไทยทำไม่ใช่ยุทธศาสตร์ แต่นี่คือกฎหมาย นี่คือคำสั่งคสช.ฉบับพิเศษที่มีผลบังคับใช้ 20 ปี และอาจจะยกเลิกไม่ได้ เป็นการแสดงจุดยืนต่อต้านเผด็จการอย่างมั่นคงและน่ายกย่องยิ่ง

Back to top button