พาราสาวะถี
ไม่มีใครกล้าบอกว่าเลือกตั้งเลื่อนหรือไม่ แต่บทสัมภาษณ์ของ วิษณุ เครืองาม ล่าสุดหลังหารือกับกกต.ชุดใหม่ น่าสนใจไม่น้อยเมื่อเนติบริกรประจำรัฐบาลยืนยันว่า เงื่อนเวลาหย่อนบัตรเร็วสุดคือ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ช้าสุด 5 พฤษภาคมปีเดียวกัน แต่ก็ยังย้ำคำเดิมเว้นแต่มีปัจจัยอื่นทำให้เลื่อน ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีปัจจัยใดมากระทบโรดแมป
อรชุน
ไม่มีใครกล้าบอกว่าเลือกตั้งเลื่อนหรือไม่ แต่บทสัมภาษณ์ของ วิษณุ เครืองาม ล่าสุดหลังหารือกับกกต.ชุดใหม่ น่าสนใจไม่น้อยเมื่อเนติบริกรประจำรัฐบาลยืนยันว่า เงื่อนเวลาหย่อนบัตรเร็วสุดคือ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ช้าสุด 5 พฤษภาคมปีเดียวกัน แต่ก็ยังย้ำคำเดิมเว้นแต่มีปัจจัยอื่นทำให้เลื่อน ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีปัจจัยใดมากระทบโรดแมป
ขณะที่กกต.จากที่เคยประกาศกร้าวทั้งการมีความกล้าหาญและไม่ถูกครอบงำ พอฟังถ้อยแถลงของ อิทธิพร บุญประคอง หัวเรือใหญ่ขององค์กรอิสระที่ดูแลการเลือกตั้งปมเงื่อนเวลาเลือกตั้งแล้ว อาจจะพูดว่า เลิกหวังต่อกกต.ชุดนี้ได้ เพราะท่านบอกเต็มปากเต็มคำว่า ถ้ามีการเลื่อนเลือกตั้งออกไปจากนี้ก็ไม่ใช่หน้าที่และอะไรที่เกี่ยวข้องกับกกต.แล้ว
ปฏิเสธทำนองนี้ นั่นก็หมายความว่า อำนาจทั้งหมดขึ้นอยู่กับคสช.จะเป็นผู้ชี้นิ้วเพียงอย่างเดียว แน่นอนว่าอาจไม่ใช่การครอบงำกกต.หรือเป็นสิ่งที่บ่งชี้ว่ากกต.ชุดนี้ไร้ความกล้าหาญ แต่เมื่ออาสาที่จะเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ก็ไม่ควรรีบออกตัวหรือบอกปัดทันทีทันใด น่าจะหาคำมาอธิบายเพื่อเป็นการรักษาสถานะความน่าเชื่อถือขององค์กรที่ตัวเองกุมบังเหียนบ้างก็ได้
เพราะหากพิจารณาจากท่าทีของผู้มีอำนาจแล้ว ดูเหมือนว่าพยายามจะใช้กกต.เป็นช่องทางเพื่อทำให้คนเห็นว่า ไม่ได้ใช้อำนาจตามอำเภอใจ มีการรับฟังความเห็นและทุกอย่างจะต้องเดินตามกรอบของกฎหมาย เป็นแนวทางที่คณะรัฐประหารชุดนี้พยายามจะใช้อำพรางตัวเองมาโดยตลอด ด้วยเป้าประสงค์ที่ใครก็รู้ไม่อยากถูกมองภาพว่าเป็นเผด็จการ
อย่างไรก็ตาม แม้จะแง้มเงื่อนเวลาที่ประชาชนจะได้ไปใช้สิทธิ์หย่อนบัตรแล้ว ยังมีปมปัญหาอื่นที่รัฐบาลและคสช.จะต้องช่วยแก้ให้กับพรรคการเมือง นั่นก็คือ การปลดล็อกให้ดำเนินกิจกรรม ซึ่งไม่รู้ว่าจะเป็นข่าวดีหรือเปล่าเมื่อวิษณุบอกว่า จะมีการ “คลายล็อก” หลังร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
หมายความจะเป็นการใช้ช่วงเวลา 90 วันที่รอร่างกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ เพื่อให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมได้โดยไม่ต้องขออนุญาตคสช. เช่น การจัดประชุมใหญ่เพื่อจัดทำเรื่องสมาชิกพรรคและทำไพรมารีโหวต โดยจะทำได้ก่อนการเลือกหัวหน้าพรรค แต่การ “ปลดล็อก” นั้นจะทำหลังจากร่างกฎหมายเลือกตั้งส.ส.มีผลบังคับใช้ซึ่งก็คือกรอบเวลา 150 วันที่จะใช้จัดการเลือกตั้งนั่นเอง
นั่นเป็นมุมของผู้มีอำนาจ ซึ่งคงต้องไปถามกับผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างพรรคการเมือง มาแรงแซงทางโค้งคือ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โพล่งดัง ๆ ถ้าไม่ปลดล็อกกันเวลานี้ก็ไม่ต้องทำไพรมารีโหวตกันแล้ว เป็นท่าทีที่ดุเดือดซึ่งเราไม่ค่อยได้เห็นบ่อย ๆ ไม่เพียงเท่านั้นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ยังกระแทกต่อด้วยว่า เหตุที่รีรอกันอยู่เป็นเพราะพรรคของคสช.ไม่พร้อมมากกว่า
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกแต่ก็เป็นอีกครั้งที่อภิสิทธิ์ย้ำถึงการสืบทอดอำนาจของเผด็จการคสช. และเป็นการเปลี่ยนตัวเองจากกรรมการมาเป็นผู้เล่น และสิ่งที่อภิสิทธิ์มองก็เหมือนอย่างที่อรชุนเคยบอกมาตลอด ความจริงแล้วผู้มีอำนาจไม่มีความจำเป็นจะต้องอ้างเหตุความมั่นคงหรือความสงบเรียบร้อยใด ๆ มาประกอบการตัดสินใจปลดล็อก
ถ้าไม่เป็นการปลดล็อกแบบมีเงื่อนไข คือปล่อยให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมได้ตามปกติ ผู้มีอำนาจก็ยังมีคำสั่งและกฎหมายอื่น ๆ ใช้จัดการกรณีที่มีบางพรรคการเมืองทำให้เกิดความวุ่นวายได้อยู่แล้ว การคิดเองเออเอง ก็อย่างที่อภิสิทธิ์ว่า คสช.และรัฐบาลต้องเลิกคิดปัจจัยทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับตัวเองทั้งหมด แล้วเอาผลประโยชน์ของประเทศมาก่อน
ขณะเดียวกันสิ่งที่วิษณุยืนยันเรื่องเงื่อนเวลาเลือกตั้ง จากมุมของอภิสิทธิ์ก็ชวนให้คิดต่อได้ไม่น้อย กับปัจจัยอื่นที่เป็นห่วง เพราะหลังจากที่กกต.ประกาศไทม์ไลน์เลือกตั้งยังไม่ทันถึง 24 ชั่วโมง “โฆษกไก่อู” สรรเสริญ แก้วกำเนิด ก็ออกมาพูดทันทีว่านั่นแค่ตุ๊กตายังสามารถขยับได้อีก นี่ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้คนส่วนใหญ่คงยังไม่แน่ใจว่าเลือกตั้งจะเกิดขึ้นจริงในปีหน้าหรือไม่
ไม่เพียงเท่านั้น หากตัดฉากไปที่การลงพื้นที่จังหวัดระนองของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา วันวาน เนื้อหาสาระหรือสิ่งที่ท่านพูดนั้นคงไม่ต้องนำมาบอกต่อ เพราะมีแต่เรื่องเดิม ๆ ที่น่าคิดคือกองเชียร์ที่บอกว่า ขอให้ท่านอยู่นาน ๆ ยังไม่อยากเลือกตั้ง ทำเอาท่านผู้นำถึงกับยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ แต่อย่าได้นำมาเป็นข้ออ้างว่าประชาชนต้องการอยู่ไปแบบนี้โดยไม่มีการเลือกตั้งเด็ดขาด
แหม! ก็อย่างที่รู้ ผู้ที่ไปคอยรับพระยาเหยียบเมืองนั้น ส่วนใหญ่มีที่มาอย่างไร ไม่ได้เป็นการกล่าวหาประชาชนหากมีความรู้สึกนึกคิดแบบนั้นจริง เพราะทุกคนมีสิทธิ์ที่จะคิดและเลือกที่จะชอบรูปแบบของการปกครองแบบหนึ่งแบบใดก็ได้ ที่คนเป็นห่วงคือเกรงว่าจะมีผู้หวังดีเขียนสคริปต์ไปให้ ก็ขนาดชี้นิ้วให้ปรบมือกับท่านผู้นำเป็นจังหวะยังเคยเกิดขึ้นมาแล้ว เมื่อมันเคยมีเหตุจัดตั้งทุกครั้งและทุกที่ที่ท่านไปจึงถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด
ย้อนกลับไปที่เรื่องกกต.อีกนิด สิ่งที่วิษณุพูดหลังการหารือมันชวนให้คิดถึงการกระทำของสนช.ก่อนหน้านี้ที่ขยับจะแก้กฎหมายว่าด้วยกกต.ปมผู้ตรวจการเลือกตั้ง เพราะเวลานั้นกกต.ชุดเก่ายืนยันชัดจำเป็นต้องดำเนินการเนื่องจากกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.จะมีผลบังคับใช้ ผู้ตรวจการเลือกตั้งจำเป็นจะต้องมี แต่สมาชิกสนช.ที่เข้าชื่อก็ไม่มีใครฟัง ยังคงดันทุรังต่อไป
พอวันนี้รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมายยอมรับเอง กกต.ใหม่จะเป็นผู้อนุมัติว่าใครจะเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งตามที่มีการเลือกมา โดยไม่สามารถยกเลิกทั้งหมดได้ เพราะในช่วงกลางเดือนกันยายนนี้จะเข้าสู่การเตรียมคัดเลือกส.ว. ซึ่งกกต.ใหม่ต้องใช้กลไกผู้ตรวจการเลือกตั้งในการคัดเลือกส.ว. คงไม่ต้องไปถามหาความรับผิดชอบใด ๆ จากสภาตรายาง เพราะหน้าที่หลักคือทำตามใบสั่ง ส่วนครั้งนี้ใครจะสั่งและสั่งเพื่อหวังอะไร บางทีผู้มีอำนาจถ้าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องก็น่าจะสังคายนากันเสียบ้าง จะได้ไม่มีคนเข้าใจผิดคิดว่าทุกอย่างเป็นเรื่องที่ต้องได้ดั่งใจเผด็จการ